ไม่พบผลการค้นหา
เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ มีกำหนดการเดินทางเยือนกรุงปักกิ่งของจีนในช่วงสัปดาห์นี้ นับเป็นการเดินทางเยือนจีนครั้งที่ 2 ของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า หลังจากทั้ง 2 ประเทศขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก พยายามปรับปรุงความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดมาอย่างยาวนาน

กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุในแถลงการณ์เมื่อวันอาทิตย์ (2 ก.ค.) ว่า เยลเลนจะเดินทางเยือนกรุงปักกิ่ง ระหว่างวันที่ 6-9 ก.ค. โดยมีการคาดว่าเยลเลนจะหารือเกี่ยวกับความสำคัญของทั้ง 2 ประเทศ “ในการจัดการความสัมพันธ์ของเราด้วยความรับผิดชอบ สื่อสารโดยตรงเกี่ยวกับประเด็นที่เป็นข้อกังวล และทำงานร่วมกันเพื่อจัดการกับความท้าทายระดับโลก” แถลงการณ์กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุ

การเดินทางเยือนจีนของเยลเลนมีขึ้นเพียงไม่กี่สัปดาห์ หลังจาก แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เข้าพบกับ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน หวังอี้ นักการทูตอาวุโส และ ฉินกัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน ในกรุงปักกิ่งเมื่อเดือน มิ.ย. โดยบลิงเคนนับเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ที่เดินทางเยือนกรุงปักกิ่งครั้งแรกในรอบเกือบ 5 ปี และบรรลุข้อตกลงกับสี เพื่อรักษาความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติให้มั่นคง และรับประกันว่าการแข่งขันจะไม่เปลี่ยนไปสู่ความขัดแย้ง

อย่างไรก็ดี หลังจากการเดินทางเยือนจีนของบลิงเคยได้ไม่ถึง 1 วัน ทางการจีนได้ออกมากล่าวโต้แย้งอย่างรุนแรงต่อ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งเรียก สี ว่าเป็น “เผด็จการ” ทั้งนี้ นักวิเคราะห์กล่าวว่าคำพูดดังกล่าวของประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อความพยายามในการปรับปรุงความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติ

เจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุกับผู้สื่อข่าวโดยไม่ได้ให้รายละเอียดเจาะจงว่า จากกำหนดการในกรุงปักกิ่ง เยลเลนจะเข้าพบกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีน และผู้นำบริษัทชั้นนำของสหรัฐฯ ในขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับบริหารอีกรายระบุกับสำนักข่าว Reuters ว่า จากกำหนดการคาดว่า เยลเลนจะเข้าพบกับ เหอลี่เฟิง รองนายกรัฐมนตรีจีน

เจ้าหน้าที่ของทางการสหรัฐฯ กล่าวเสริมว่า ความกังวลที่ชัดเจนประการหนึ่ง ซึ่งสหรัฐฯ อาจนำไปพูดคุยกับทางการจีนในครั้งนี้ อาจเกี่ยวข้องกับประเด็นกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ และกฎหมายจารกรรมฉบับใหม่ของจีน ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับบริษัทต่างชาติและสหรัฐฯ 

“เรามีความกังวลเกี่ยวกับมาตรการใหม่และวิธีการปฏิบัติใช้ ซึ่งมาตรการดังกล่าวสามารถขยายขอบเขตของสิ่งที่ทางการจีนพิจารณาว่าเป็นกิจกรรมเกี่ยวกับการจารกรรม” เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กล่าว โดยอ้างถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนในวงกว้าง และความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของจีนกับสหรัฐฯ

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนย่ำแย่จากปัจจัยหลายประการ ตั้งแต่ต้นกำเนิดของการระบาดใหญ่ของโควิด-19 การปราบปรามชาวอุยกูร์ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมซินเจียง ไปจนถึงปัญหาการค้าและห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนเกาะไต้หวันที่ปกครองตนเอง ซึ่งทางการจีนอ้างว่าเป็นมณฑลหนึ่งของจีน นอกจากนี้ ข้อกล่าวหาการค้นพบบอลลูนสอดแนมของจีนเหนือน่านฟ้าสหรัฐฯ ซึ่งในที่สุดถูกยิงตก ยิ่งทำให้ความตึงเครียดของทั้งสองชาติทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นไปมากกว่าเดิม

เจ้าหน้าที่สหรัญฯ กล่าวเสริมว่าในขณะที่สหรัฐฯ พยายามที่จะรักษาผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของชาติและปกป้องสิทธิมนุษยชน การกระทำดังกล่าว “ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการได้เปรียบทางเศรษฐกิจเหนือจีน” นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ยังกล่าวอีกว่า เยลเลนจะมุ่งสร้างช่องทางการสื่อสารระยะยาวกับจีน

สำหรับเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ นั้น การหารือกับเจ้าหน้าที่จีน “มีความสำคัญต่อการช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจโลกให้แข็งแกร่งขึ้น และเพื่อจัดการกับปัญหาหนี้ที่เพิ่มขึ้นของภูมิภาคโลกใต้” เวนดี คัตเลอร์ รองประธานสถาบันนโยบายสังคมแห่งเอเชีย กล่าวกับสำนักข่าว AFP ถึงการเยือนจีนของเยลเลน โดยในส่วนของจีนนั้น เจ้าหน้าที่จีนกำลัง “มองหาขั้นตอนที่เป็นรูปธรรมโดยสหรัฐฯ เพื่อแสดงให้เห็นว่าการ “แยกขั้ว” และรั้งจีนไว้นั้นไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดของสหรัฐฯ” คัตเลอร์กล่าวเสริม

ทั้งนี้ การต้อนรับการเดินทางเยือนของบลิงเคนในกรุงปักกิ่งก่อนหน้านี้ นับเป็นสัญญาณของการลดอุณหภูมิความตึงเครียดทางความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติลง


ที่มา:

https://www.aljazeera.com/economy/2023/7/3/yellen-to-visit-china-this-week-in-mission-to-help-stabilise-ties?fbclid=IwAR1JimGiDVfS7o7Hxink30rciMxBHCON-j8X1V3IZ6VkPncxk31BUPJXeXA