นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า กรมการขนส่งทางบกเตรียมศึกษาแนวทางยกระดับคุณภาพรถตู้โดยสารสาธารณะในทุกมิติอย่างรอบคอบรอบด้าน ตามที่กระทรวงคมนาคมมีนโยบายขยายเวลาให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนรถตู้โดยสารเป็นรถโดยสารขนาดเล็กที่ได้มาตรฐาน (ไมโครบัส) ตามความสมัครใจ
โดยจากการประชุมคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 ให้รถตู้หมวด 1 และหมวด 4 ที่วิ่งในกรุงเทพมหานคร ซึ่งกำหนดว่าต้องเปลี่ยนเป็นรถไมโครบัสตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ขยายเวลาได้อีก 180 วัน ซึ่งในระหว่างนี้หากครบอายุการใช้งานสามารถเปลี่ยนเป็นไมโครบัสหรือจะเปลี่ยนรถตู้ใหม่ก็ได้
สำหรับกลุ่มรถตู้ที่วิ่งระหว่างจังหวัด ระยะทางประมาณ 300 กิโลเมตรขึ้นไป ยังคงยึดตามมติเดิม โดยเมื่อรถครบอายุการใช้งาน 10 ปี จะต้องเปลี่ยนเป็นไมโครบัสทันที
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กรมการขนส่งทางบกอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการดำเนินการที่คำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นเป้าหมายหลัก อีกทั้งอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นในทุกประเด็นการให้บริการรถโดยสารสาธารณะ ผ่านช่องทาง เว็บไซต์กรมการขนส่งทางบก www.dlt.go.th เฟซบุ๊กแฟนเพจกรมการขนส่งทางบก (https://www.facebook.com/PR.DLT.NEWS.) ซึ่งข้อมูลการแสดงความคิดเห็นทั้งหมดจะถูกนำมาศึกษาผลกระทบในด้านต่างๆ ด้วยความรอบคอบ รอบด้าน เพื่อนำเสนอคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางพิจารณาเชิงนโยบายต่อไป ภายใต้การสร้างมาตรฐานการให้บริการรถโดยสารสาธารณะให้มีคุณภาพความปลอดภัยสูงสุด ตอบสนองความต้องการของประชาชนทุกคนทุกพื้นที่ได้อย่างแท้จริง
อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ย้ำว่า กรมการขนส่งทางบกจะศึกษาแนวทางยกระดับคุณภาพรถตู้โดยสารสาธารณะ ภายใต้การควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยในทุกมิติอย่างรอบคอบรอบด้าน โดยวิเคราะห์ต้นทุนในการเปลี่ยนรถเปรียบเทียบความคุ้มค่าระหว่างรถตู้โดยสารกับรถไมโครบัส และผลกระทบต่ออัตราค่าโดยสาร พิจารณาโครงสร้างต้นทุนให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรมทั้งต่อประชาชนและผู้ประกอบการ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการเดินรถและให้บริการได้อย่างมีคุณภาพและมีความปลอดภัย โดยจะยกระดับมาตรการบังคับใช้กฎหมาย กรณีพบการฝ่าฝืนกระทำผิดกฎหมายจะลงโทษสูงสุดในทุกกรณี
ทั้งนี้เพื่อควบคุมคุณภาพการให้บริการภายใต้ข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัย โดยมาตรฐานความปลอดภัยของรถตู้ที่จะมาจดทดแทนต้องใกล้เคียงกับมาตรฐานรถไมโครบัสมากที่สุด และหากจะมีการต่ออายุรถตู้โดยสารเป็น 12 ปีได้ จะต้องเข้าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขความปลอดภัยที่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานตัวรถอย่างเข้มข้น โดยหากไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานจะไม่สามารถนำมาให้บริการประชาชนได้ ทั้งนี้ทุกมาตรการต้องไม่กระทบกับการให้บริการรถโดยสารสาธารณะของประชาชนอย่างเพียงพอ
กรณีประชาชนพบรถตู้โดยสารสาธารณะให้บริการไม่ปลอดภัย ขับรถเร็ว บรรทุกเกิน เก็บค่าโดยสารเกิน สามารถแจ้งกับผู้ตรวจการขนส่งทางบกได้โดยตรง หรือร้องเรียนผ่านสายด่วน 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือผ่านทางเว็บไซต์ที่ http://ins.dlt.go.th/cmpweb/, ผ่านทาง E-mail ที่ [email protected], ผ่านทาง facebook ชื่อ “1584 ร้องเรียนรถโดยสารสาธารณะ” นอกจากนี้ยังสามารถร้องเรียนผ่านทาง LINE ID ในชื่อ “1584dlt” จดมายมายังกรมการขนส่งทางบก, แอปพลิเคชัน DLT GPS, ศูนย์ราชการสะดวก GECC , เดินทางมาร้องเรียนด้วยตนเอง ณ กรมการขนส่งทางบก และหน่วยงานภายนอกผ่านระบบจัดการเรื่องราวร้องทุกสำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงคมนาคม โดยระบุรายละเอียดรถและผู้ขับรถคันที่กระทำความผิด เช่น หมายเลขทะเบียนรถ ชื่อ-นามสกุลผู้ขับรถ วันเวลาสถานที่เกิดเหตุให้ชัดเจน ซึ่งจะทำให้กระบวนการติดตามตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษเป็นไปด้วยความรวดเร็ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :