ไม่พบผลการค้นหา
กรมฝนหลวงฯ รายงานผลทำฝนหลวงตามพื้นที่เกษตรเป้าหมายจ.นครสวรรค์ ชลบุรี และระยอง พร้อมติดตามสภาพอากาศ ประเมินพื้นที่เหมาะสม ปฏิบัติการทันที

นายปนิธิ เสมอวงษ์ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้านปฏิบัติการ เปิดเผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ลักษณะอากาศของประเทศไทยตอนบนจะมีอุณหภูมิที่สูงขึ้น เนื่องจากมวลอากาศเย็นแผ่ปกคลุมลงมาจากประเทศจีนได้อ่อนกำลังลง ส่วนพื้นที่ภาคใต้ทางฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก มีฝนตกในบางพื้นที่ร้อยละ 10 - 20 ของพื้นที่

ส่วนวานนี้ (14 ม.ค.) หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็ว จ.นครสวรรค์ และ จ.ระยอง ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ จ.นครสวรรค์ ชลบุรี และระยอง และสามารถเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักบริเวณพื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำหนองค้อ และอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล

ด้านแผนปฏิบัติการฝนหลวงประจำวันที่ 15 ม.ค. 2563 ตามที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยออกประกาศเขตพื้นที่ภัยแล้ง มีจำนวน 18 จังหวัด (รวม 92 อำเภอ 515 ตำบล 4,488 หมู่บ้าน) ได้แก่ เชียงราย น่าน นครพนม มหาสารคาม บึงกาฬ หนองคาย บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา เพชรบูรณ์ อุทัยธานี นครราชสีมา อุตรดิตถ์ ชัยนาท นครสวรรค์ สุโขทัย และสุพรรณบุรี

ขณะที่ สถานการณ์ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ของปริมาณน้ำเก็บกัก เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 14 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 102 แห่ง 

ส่วนการคาดการณ์พื้นที่ประกาศเสี่ยงฝนตกหนักถึงหนักมาก จากกรมอุตุนิยมวิทยาวันนี้ไม่มีพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนักมาก ด้านคุณภาพอากาศในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบว่า มีค่าคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์คุณภาพอากาศปานกลางถึงเกณฑ์คุณภาพอากาศดีและบางส่วนมีค่าคุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ อยู่ในเขตพื้นที่ หลักสี่ บางเขน และวังทองหลาง ด้านแผนที่ปริมาณน้ำฝนสะสม 1 สัปดาห์ (8 ม.ค. – 14 ม.ค. 2563) พบว่า บริเวณพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้บางส่วน ปริมาณน้ำฝนสะสมต่ำกว่า 10 มิลลิเมตร

ทั้งนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตรจะเร่งดำเนินการช่วยเหลือพื้นที่ดังกล่าวหากสภาพอากาศเหมาะสม

ด้านการติดตามสภาพอากาศเพื่อวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ภาคเหนือ พบว่า ผลการตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์อมก๋อย สถานีเรดาร์ร้องกวาง และสถานีเรดาร์ของกรมอุตุนิยมวิทยา จ.เชียงใหม่ มีความชื้นสัมพัทธ์ที่ระดับการเกิดเมฆ ร้อยละ 48 (อมก๋อย) ร้อยละ 70 (ร้องกวาง) ความชื้นสัมพัทธ์ที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆร้อยละ 10 (อมก๋อย) ร้อยละ 10 (ร้องกวาง) ค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ 11.0 (อมก๋อย) 6.4 (ร้องกวาง) และความเร็วลมที่ระดับการเกิดเมฆ 15 กม./ชม. (อมก๋อย) 16 กม/ชม. (ร้องกวาง) 

พื้นที่ภาคกลาง พบว่า ผลการตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์ตาคลี จ.นครสวรรค์ ความชื้นสัมพัทธ์ที่ระดับการเกิดเมฆ ร้อยละ 68 ความชื้นสัมพัทธ์ที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ ร้อยละ 11 ค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ 4.8 และความเร็วลมที่ระดับการเกิดเมฆ 7 กม./ชม. 

พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผลการตรวจอากาศของสถานีเรดาร์ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ สถานีเรดาร์พิมาย จ.นครราชสีมา และสถานีเรดาร์บ้านผือ จ.อุดรธานี พบว่า มีความชื้นสัมพัทธ์ที่ระดับการเกิดเมฆ ร้อยละ 34 (ราษีไศล) ร้อยละ 56 (พิมาย) ร้อยละ 47 (บ้านผือ) ความชื้นสัมพัทธ์ที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ ร้อยละ 11 (ราษีไศล) ร้อยละ 12 (พิมาย) ร้อยละ 10 (บ้านผือ) ค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ 12.2 (ราษีไศล) 11.4 (พิมาย) 11.1 (บ้านผือ) และความเร็วลมที่ระดับการเกิดเมฆ 23 กม./ชม. (ราษีไศล) 11 กม./ชม. (พิมาย) 13 กม./ชม. (บ้านผือ)

พื้นที่ภาคตะวันออก ผลการตรวจวัดอากาศของสถานีเรดาร์สัตหีบ จ.ชลบุรี พบว่ามีความชื้นสัมพัทธ์ที่ระดับการเกิดเมฆ ร้อยละ 30 ความชื้นสัมพัทธ์ที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ ร้อยละ 11 ค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ 2.6 และความเร็วลมที่ระดับการเกิดเมฆ 13 กม./ชม. หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงหน่วยเคลื่อนเร็วฯ จ.ระยอง ขอติดตามสภาพอากาศในช่วงเช้า หากสภาพอากาศเหมาะสม จะวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรทันที

และพื้นที่ภาคใต้ ผลการตรวจวัดอากาศขอสถานีเรดาร์พนม จ.สุราษฎร์ธานี และสถานีเรดาร์ปะทิว จ.ชุมพร พบว่า มีความชื้นสัมพัทธ์ที่ระดับการเกิดเมฆ ร้อยละ 40 (พนม) ร้อยละ 49 (ปะทิว) ความชื้นสัมพัทธ์ที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ ร้อยละ 46 (พนม) ร้อยละ 15 (ปะทิว) ค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ 4.9 (พนม) 3.4 (ปะทิว) และความเร็วลมที่ระดับการเกิดเมฆ 20 กม./ชม. (พนม) 19 กม./ชม. (ปะทิว)  

อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะเร่งปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือในพื้นที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำในทุกพื้นที่ทันทีเมื่อสภาพอากาศเหมาะสม