วันที่ 12 มี.ค. 2563 จากรณีที่กระทรวงสาธารณสุข แถลงว่าพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มอีก 11 ราย เป็นกลุ่มเพื่อนที่ไปสังสรรค์ด้วยกัน ก่อนมีอาการป่วยและตรวจพบว่าติดไวรัสดังกล่าวนั้น ทำให้เกิดแฮชแท็กในทวิตเตอร์ว่า #จุฬาควรหยุด โดยเกิดอาการตื่นตระหนกในสังคมและหมู่นิสิตจุฬาฯ หลังจากมีข่าวลือว่ามีผู้ป่วยโควิด-19 ไปเข้าเรียน
ทำให้หลายคนตั้งข้อสังเกตให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยควรหยุดการเรียนการสอน เพราะถ้า 11 คนที่กระทรวงสาธารณสุขแถลงเป็นนิสิตจุฬาฯ จริง แล้วทำไมจุฬาฯ ยังไม่หยุด ไม่มีมาตรการเรียนออนไลน์ให้ทุกคณะอย่างจริงจัง ไม่ควรเอาชีวิตคนไปเสี่ยง ถ้ามีนิสิตคนอื่นติดเชื้อแล้วแพร่ไปยังคนใกล้ชิดอีกหลายทอดเรื่องแบบนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้น หรือต้องรอให้เป็นแหล่งซูเปอร์สเปรดก่อน ถึงจะประกาศหยุด
ความคิดเห็นบางส่วนจากในทวิตเตอร์ #จุฬาควรหยุด
หลังจากนั้น ทางหลักสูตรอักษรศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรม (BALAC) ออกชี้แจงว่า เนื่องจากมีกระแสข่าวลือและความเข้าใจผิดในทวิตเตอร์ว่านิสิตหลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรม (BALAC) ติดเชื้อโควิด-19 หลักสูตรฯ ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว พบว่ามีนิสิตในหลักสูตรฯ ได้โพสต์ในอินสตาแกรมว่า ได้รับทราบจากเพื่อนว่ามีคนที่เพื่อนอีกคนหนึ่งรู้จักที่ไปเที่ยวสถานบันเทิงติดเชื้อโควิด-19 จากนั้นมีผู้ติดตามอ่านบางคนอ่านข้อมูลไม่ครบถ้วน เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน และไปโพสต์ในทวิตเตอร์ว่านิสิตในหลักสูตรฯ ติดเชื้อโควิด-19
หลักสูตรฯ จึงขอชี้แจงว่าข่าวลือดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด และขอแจ้งให้ทราบว่าในปัจจุบัน คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีมาตรการที่เคร่งครัดเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค และผลักดันให้คณาจารย์และนิสิตปรับการเรียนการสอนเป็นแบบออนไลน์มากขึ้น หากมีการยกระดับความเสี่ยง
ด้าน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้แจงว่า จากกระแสข่าวในโลกออนไลน์ ว่ามีนิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งก่อให้เกิดความตื่นตระหนกทั้งในประชาคมจุฬาฯ และสาธารณชนนั้น ทางจุฬาฯ ขอแจ้งให้ทราบว่า จากการตรวจสอบกับทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ไม่พบว่ามีนิสิต บุคลากรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ทั้ง 11 ราย ดังปรากฎในกระแสข่าวดังกล่าว
Photo by Igor Ovsyannykov on Unsplash