ย้อนกลับไปเมื่อ 30 ต.ค.2563 'มาร์โค เมนดิซิโน' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงผู้อพยพ, ผู้ลี้ภัย และสิทธิพลเมืองแห่งแคนาดา ประกาศแผนเปิดรับผู้อพยพชาวต่างชาติระหว่างปี 2564-2566 ด้วยตัวเลขรวมราว 1.2 ล้านคน
เพื่อชดเชยกับเป้าหมายเดิมที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตโควิด-19 ตลอดทั้งปี 2563 รัฐบาลแคนาดาเตรียมเปิดพื้นที่ให้ผู้อพยพราว 401,000 คน เข้ามาเป็นผู้พำนักถาวร (permanent residents) ในปีนี้ ปรับเพิ่มขึ้นจากเป้าหมายเดิมที่ 351,000 คน
ขณะตัวเลขการเปิดรับผู้พำนักถาวรในปี 2565 อยู่ที่ 411,000 คน ปรับเพิ่มขึ้นจากเป้าหมายเดิมที่ 361,000 คน ส่วนตัวเลขสำหรับปี 2566 อยู่ที่ 421,000 คนเท่าเดิม
ล่าสุด เมื่อ 14 เม.ย.ที่ผ่านมา รัฐมนตรีมาร์โค ยังประกาศแผนเปิดรับแรงงานชั่วคราวและนักศึกษาจบใหม่อีกกว่า 90,000 คน เพื่อปูทางสู่การเป็นผู้พำนักถาวรของแคนาดา
นโยบายพิเศษนี้พุ่งเป้าไปยังแรงงานชั่วคราวในโรงพยาบาล ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ปฏิบัติงานแนวหน้าของสถานการณ์โควิด-19 เป็นสำคัญ เช่นเดียวกับนักศึกษาต่างชาติที่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาจากมหาวิทยาลัยในแคนาดา ภายในระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา
นโยบายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 6 พ.ค.ที่จะถึงนี้ โดยแบ่งโควต้าออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ :
ตามข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งแคนาดา ณ ปี 2563 ประเทศมีประชากรรวมทั้งสิ้น 38 ล้านคน ในจำนวนนี้ มีบุคคลที่อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปสูงถึง 6.8 ล้านคน หรือคิดเป็นประมาณ 17.8% หากปราศจากแรงงานต่างชาติที่เข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจแล้วนั้น รัฐมนตรีมาร์โค ย้ำว่าจะก่อให้เกิดปัญหาระหว่างสัดส่วนแรงงานกับผู้รับเงินบำนาญ
'เซ็ด ฮัสซาน' จากกลุ่มดูแลผู้อพยพในแคนาดาระบุว่า ปัจจุบันประเทศมี 'ผู้พำนักไม่ประจำ' (non-permanent residents) ราว 1.6 ล้านคน ซึ่งเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ
ขณะที่ในปี 2561 นักศึกษาต่างชาติกว่า 700,000 คน ยังสร้างให้เกิดเม็ดเงินกับประเทศสูงถึง 22,300 ล้านดอลลาร์แคนาดา หรือประมาณ 561,000 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนราว 1% ของจีดีพี
การเปิดพื้นที่ให้แรงงานเหล่านี้เข้ามาเป็นผู้พำนักถาวรจึงเกิดแง่ดีทั้งในมิติความมั่นคงของแรงงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ และการแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับแรงงานที่ถือวีซ่าระยะสั้น-กลาง ที่มักถูกนายจ้างเอาเปรียบ
อย่างไรก็ดี การเปิดรับผู้อพยพครั้งนี้ยืนอยู่บนฐานว่าผู้อพยพคนนั้นต้องมีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้แคนาดาได้ โดยจะมีระบบให้คะแนนทั้งจากการศึกษา ทักษะภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส อาชีพปัจจุบัน หนังสือสัญญาจ้างจากบริษัทในแคนาดา
อ้างอิง; The Economist, Government of Canada