ไม่พบผลการค้นหา
‘We Watch’ รายงานปัญหาจากการสังเกตการณ์เลือกตั้ง 66 แนะ กกต. อิงกม.เลือกตั้งปี 54 ประกาศผลทางการเร็วที่สุดใน 7 วัน ยกกรณีตปท. จัดหน่วยเลือกตั้งเคลื่อนที่ไปตามบ้าน-เลือกตั้งในเรือนจำ อำนวยความสะดวกคนทุกกลุ่มเข้าถึงสิทธิเลือกตั้ง

เวลา 11:00 น. ที่สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย We Watch หรือ เครือข่ายสังเกตการณ์เลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย แถลงข่าวเรื่องผลการสังเกตการณ์การเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรประจำปี 2566 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา 

สำหรับวิธีการสังเกตการณ์ We Watch ใช้อาสาสมัครกว่า 9,000 คน กระจายกันสังเกตการณ์ในหน่วยเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 11,622 หน่วย จากทั้งหมด 95,000 หน่วยทั่วประเทศ โดยเริ่มสังเกตการณ์ตั้งแต่เปิด-ปิดหีบเลือกตั้ง คือ 08:00-17:00 น. จนถึงช่วงการนับคะแนน 

ท้ั้งนี้ We Watch พบข้อกังวลต่อการจัดการเลือกตั้งหลายอย่าง และการเลือกตั้งปีนี้ยังมีข้อกังขาหลายประการ ได้แก่

1. ปัญหาประสิทธิภาพในการจัดการหน่วยเลือกตั้ง เช่น การจัดสถานที่ลงคะแนนไม่เอื้ออำนวยต่อผู้พิการและผู้สูงอายุที่นั่งรถเข็น การให้ข้อมูลผู้สมัครฯผิด รวมถึงปัญหาว่าด้วยความเป็นกลาง อาทิ ป้ายหาเสียงอยู่ใกล้/หน้าหน่วยเลือกตั้ง ระบบรายงานผลที่ไม่มีประสิทธิภาพ ล่าช้า และคลาดเคลื่อน

2. การละเลยหลักการลงคะแนนเป็นความลับ ซึ่งในหลายพื้นที่ พบว่า หลังคูหาไม่มีกระดานทึบ หรือกำแพงมาบังด้านหลังคูหา อาจทำให้มีการสอดส่องการทำคะแนนได้ รวมถึงเจ้าหน้าที่ทำบัตรเลือกตั้งขาด

3. ข้อผิดพลาดของบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง พบการรายงานในการหลายกรณี เช่น มีรายชื่อบุคคลที่ไม่รู้จักอยู่ในทะเบียนบ้านของตน รายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งยังอยู่ทะเบียนบ้านเดิม แม้ย้ายที่อยู่เป็นเวลานานแล้ว รวมถึง สิทธิเลือกตั้งปรากฏเป็นคนละเขตกับภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้านจริง

4. ความผิดปกติของเอกสารสำคัญที่ต้องเปิดเผยต่อประชาชน เช่น รายการเกี่ยวกับจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ได้รับมาก่อนลงคะแนน (ส.ส.5/5) และหลังการลงคะแนน (ส.ส.5/7)

5. ข้อกังวลต่อความเข้าใจในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ กปน. เช่น ช่วงลงคะแนนเลือกตั้ง พบรายงานว่าเจ้าหน้าที่บางส่วนมีการให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนกระทบต่อสิทธิประชาชน หรือช่วงนับคะแนน พบรายงานการ วินิจฉัยบัตรดี-บัตรเสียผิดพลาด การขานคะแนนผิดพลาด การขีดคะแนนผิด 

6. ปัญหาการมีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์เลือกตั้ง ซึ่งพบการรายงานจำนวนมากว่า คณะกรรมการในหลายหน่วยเลือกตั้งไม่เข้าใจหลักการของความโปร่งใสและสิทธิในการสังเกตการณ์กระบวนการเลือกตั้งของประชาชน เช่น การปฏิเสธผู้สังเกตการณ์ที่ไม่มีเอกสารแต่งตั้งจากพรรคการเมืองหรือ กกต. การไม่อนุญาตให้อาสาสมัครถ่ายภาพเอกสารสำคัญ รวมถึงไม่ให้ถ่ายภาพหรือบันทึกวิดีโอขณะนับคะแนน

ดังนั้น We Watch จึงมีข้อเสนอแนะต่อการจัดการหลังเลือกตั้งในระยะเร่งด่วน 2 ประการ คือ 

 1. กกต. ควรชี้แจงจำนวนบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าที่มีการจัดการที่ผิดพลาดและชี้แจงวิธีการแก้ไขอย่างละเอียด พร้อมแสดงหลักฐานเพื่อสร้างความกระจ่างแก่ประชาชน

 2. เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อการบริหารประเทศ กกต. ควรเร่งรัดตรวจสอบผลการเลือกตั้งทุกเขต และประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการโดยเร็วที่สุด โดยอาจยึดระยะเวลาตามกฎหมายตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 ซึ่งกำหนดให้ประกาศผลการเลือกตั้งภายใน 7 วันหลังเลือกตั้ง

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกรอบเวลาประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการภายใน 60 วัน ของ กกต. กฤต แสงสุรินทร์ ทีมข้อมูล We Watch มองว่า ใช้เวลานานเกินไป แม้การประกาศผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อได้ตรวจสอบข้อร้องเรียนทุกเขตเลือกตั้งแล้ว ซึ่งอาจกินเวลายาวนานกว่า 60 วัน แต่ กกต. ควรประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากที่สุดภายในกรอบเวลาที่กฎหมายระบุไว้ แล้วค่อยดำเนินการกับข้อร้องเรียนต่อไป

ด้าน พงษ์ศักดิ์ จันทร์อ่อน ทีมข้อมูล We Watch กล่าวถึงข้อสังเกตสำคัญในการเลือกตั้งว่าไม่ใช่เพียงเรื่องเทคนิคเท่านั้น แต่เป็นเรื่องโครงสร้างและกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายเลือกตั้งที่เป็นอุปสรรค ซึ่งแม้กระทั่งกกต.ก็ยอมรับเอง และบอกว่าจะแก้ไขและปรับปรุงให้ดีขึ้น 

“ในการเลือกตั้งปี 2562 หากประชาชนลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า มีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถไปใช้สิทธิได้ ประชาชนยังมีสิทธิกลับไปเลือกตั้งที่ภูมิลำเนาได้ จึงอยากถามว่า เอาสิทธินี้ออกทำไมเพราะเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิการเลือกตั้งและสนับสนุนให้คนออกมาใช้สิทธิ” 

นอกจากนี้ พงษ์ศักดิ์ บอกว่า ในการจัดการเลือกตั้งอย่างมีส่วนร่วม เช่น หากเป็นผู้พิการหรือป่วยผู้ติดเตียง บางประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เนปาล จะมีการจัดหน่วยเลือกตั้งเคลื่อนที่ไปตามบ้าน พร้อมผู้สังเกตการณ์ภาคประชาชน และผู้สังเกตการณ์พรรคการเมืองอย่างน้อยสามพรรค เดินทางไปตามบ้านที่ลงทะเบียนไว้ จัดให้มีการเข้าถึงสิทธิการเลือกตั้งในบ้านของเขาเลย อีกทั้งในบางประเทศ ยังมีการจัดการหน่วยเลือกตั้งในเรือนจำสำหรับผู้ต้องขังที่ยังไม่ถูกพิพากษา 

“กกต. มีหน้าที่ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าถึงสิทธิการเลือกตั้ง แต่เหตุที่ประเทศไทยทำไม่ได้ เพราะกฎหมายเขียนว่า การเลือกตั้งต้องทำในหน่วยเลือกตั้งเท่านั้น ซึ่งได้เสนอให้แก้ไขไปหลายปีแล้วยังไม่ได้รับการตอบสนอง”