ไม่พบผลการค้นหา
ทุกปัญหามีทางออก “แม่มือใหม่” เลี้ยงลูกด้วย “นมแม่” แก้ได้-ไม่ยาก ศูนย์นมแม่ฯ ชวนสังคมไทยร่วมสนับสนุน “นมแม่อย่างเดียว 6 เดือน”

จากรายงานการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ.2565 พบว่าประเทศไทยมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนอยู่ที่ร้อยละ 28.6 ในขณะที่องค์การอนามัยโลก(WHO) บรรจุการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนแรก เป็นตัวชี้วัดด้านโภชนาการระดับโลก ที่ทุกประเทศต้องร่วมกันขับเคลื่อน เพื่อร่วมกันก้าวไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ตั้งเป้าหมายว่า เด็กทารกร้อยละ 50 จะต้องได้กินนมแม่อย่างเดียวถึง 6 เดือน ภายในปี 2568

เพราะ “คุณภาพของคน” เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกด้าน การที่เด็กทารกได้รับน้ำนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน ได้รับอาหารตามวัยคุณภาพ ควบคู่กับการเลี้ยงดูอย่างมีคุณภาพ จึงเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างทุนสุขภาพที่ดีพร้อมทักษะชีวิตให้กับคนรุ่นใหม่ซึ่งจะเติบโตขึ้นเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติในศตวรรษที่ 21 

มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย จึงได้ดำเนินโครงการสร้างสุขภาวะเด็กไทยด้วยนมแม่ ฝ่าวิกฤติโควิด-19 และสานพลังเครือข่ายสู่การขยายผล เพื่อชวนทุกภาคส่วนในสังคมไทยให้มาร่วมกันในการขับเคลื่อนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้มีการปฏิบัติอย่างยั่งยืนในสังคมไทย โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)

แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจุบันคุณแม่มือใหม่จะมีความตั้งใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพิ่มมากขึ้น แต่การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ภายหลังคลอดและต้องกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านนั้น มักจะเกิดสถานการณ์ ปัญหา และอุปสรรคต่างๆ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้แม่มือใหม่หลายคนต้องยอมถอดใจ ทำให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนของไทยยังคงต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน

พว.ศิริลักษณ์ ถาวรวัฒนะ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จาก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เปิดเผยว่าปัญหาหลักๆ ที่พบหลังคลอดที่ส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงลูกดด้วยนมแม่นั้นประกอบไปด้วยปัญหาที่เกิดขึ้นจากตัวแม่คือ 1.น้ำนมน้อย 2.ท่าอุ้มให้นม 3.หัวนมแตก 4.เต้านมคัด และ 5.การใช้เครื่องปั๊มนม และอีกหนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นกับลูกคือ 6.ลูกตัวเหลือง ซึ่งปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ไม่ยากและสามารถทำได้ด้วยตนเอง ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาคุณแม่อย่าเพิ่งถอดใจ พร้อมกับแนะนำวิธีการแก้ปัญหาต่างๆ ไว้เอาไว้ดังนี้

แม่น้ำนมน้อย สามารถแก้ปัญหาได้ตัวตัวเอง โดยต้องฝึกนำลูกเข้าเต้าและในช่วงน้ำนมน้อยหลังให้ลูกดูดนมแม่แล้วอาจปั๊มนมหลังให้นมลูก กรณีที่ลูกรับการรักษาตัวเหลืองในโรงพยาบาล คุณแม่ต้องปั๊มนมแทนการดูดนมของลูก วันละ 8 ครั้ง ต่อมาคือ ท่าอุ้ม ลูกจะต้องหันหน้าเข้าเต้า คอไม่บิด คือติ่งหู ไหล่ สะโพกเป็นเส้นตรง ท้องลูกและแม่ต้องสัมผัสกัน ลำตัวด้านหลังของลูกต้องได้รับการประคอง ในส่วนของการดูดนมลูกจะต้องอ้างปากกว้าง ริมฝีปากบนบานออก ริมฝีปากล่างปลิ้น คางชิดเต้านมและจมูกเชิดขึ้น ส่วน หัวนมแตก เกิดจากการที่เด็กอมไม่ลึก ท่าอุ้มไม่กระชับ หรือลูกมีสายใต้ลิ้นสั้นตึง การแก้ปัญหาต้องดูว่าหัวนมแตกหรือไม่ ถ้าใช่ให้นำน้ำนมแม่มาทาที่หัวนมและปรับท่าอมของเด็กให้ถูกต้อง บางรายอาจจะใช้ออยในการทาซึ่งสามารถทำได้แต่ทาหลังจากการให้นมลูกไปแล้ว โดยปกติแผลจะใช้เวลา 7-10 วันแผลก็จะหายเป็นปกติ ถ้าในกรณีที่คุณแม่เจ็บหัวนมากจนไม่สามารถให้ลูกดูดนมจากเต้าได้ให้บีบน้ำนมด้วยมือประมาณ 3-4 วัน และงดการใช้เครื่องปั้มนม

เต้านมคัด เกิดจากการสร้างและการระบายน้ำนมที่ขาดความสมดุล ปกติแม่จะต้องให้นมลูก 8-10 มื้อต่อวัน หรือใช้เครื่องปั้มวันละ 8 ครั้ง แต่บางครั้งคุณแม่อาจหันไปใช้ขวดนมผสม ทำให้แม่ที่ไม่ได้เตรียมตัว เกิดอาการเต้านมคัดเพราะไม่สามารถระบายน้ำนมออกมาได้ในแต่ละมื้อ และในปัจจุบันแม่จะ ใช้เครื่องปั้มนมไม่ถูกวิธี และใช้ในระยะเวลาที่นานกว่า 15-20 นาที อีกปัจจัยหนึ่งคือเครื่องปั้มนมไม่ได้คุณภาพ รวมถึงการเลือกขนาดกรวยปั๊มนมที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นแม่จะต้องศึกษาถึงวิธีใช้เครื่องปั้มนมแต่ละยี่ห้อว่าเป็นอย่างไร นอกจากนี้ยังจะต้องใช้ให้ถูกต้องคือไม่ควรปั้มนมนานเกิน 15-20 นาที และไม่ใช้โหมดการปั้มที่แรงเกินไป

สำหรับปัญหา ลูกตัวเหลือง แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ในกลุ่มที่เด็กเป็นปกติแล้วตัวเหลืองหมายความว่าเด็กได้รับน้ำนมไม่เพียงพอซึ่งจะไปเชื่อมโยงกับปัญหาลูกดูดไม่ถูก อมไม่ลึกหรือแม่มีน้ำนมที่น้อยจริงๆ ซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีการปกติ แต่ในกรณีที่เด็กผิดปกติ เช่นโรค G6PD หรือเด็กที่มีอาการเม็ดเลือดแดงเปราะแตกง่าย เด็กกลุ่มนี้จะมีอาการตัวเหลืองด้วยโรคเหล่านี้อยู่แล้วตรงนี้ก็จะเป็นหน้าที่ของแพทย์ที่จะต้องให้การดูแล

“ปัญหาเหล่านี้จะไม่เป็นอุปสรรคในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยเริ่มจากแม่ที่กำลังตั้งครรภ์สามารถเลือกที่จะฝากครรภ์และคลอดกับโรงพยาบาลสัมพันธ์แม่ลูก ภายหลังคลอด 1 ชั่วโมงแรก ลูกต้องได้ดูดนมแม่ และลูกจะต้องอยู่ใกล้ชิดแม่ตั้งแต่ 24 ชั่วโมงแรกหลังคลอด ขณะอยู่ในโรงพยาบาลต้องนำลูกมาให้คุณแม่ฝึกเข้าเต้าทุกมื้อ ฝึกการอุ้มลูกที่ถูกวิธีทั้งท่านั่งและท่านอน ฝึกบีบนมด้วยมือให้ได้ก่อนที่จะกลับบ้าน แม่ที่กำลังตั้งครรภ์จะต้องหาข้อมูลเรื่องนมแม่ ต้องรักษาความมุ่งมั่นเพราะการให้นมแม่ไม่ง่ายแต่ก็ไม่ยากเกินไป ที่สำคัญคือต้องมีการพูดคุยกับคนในครอบครัวเพื่อให้กำลังใจและสนับสนุน หากเกิดปัญหาสามารถขอคำปรึกษาได้จากคลินิกนมแม่ทุกแห่งทั่วประเทศ หรือสายด่วนนมแม่ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี โทร.081-627-8008 เวลา 09.00-18.00 น.” พว.ศิริลักษณ์ กล่าว

 พ.ญ.ศิริพร กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่าการสนับสนุนให้แม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนได้สำเร็จนั้น นอกจากแม่จะต้องมีความมุ่งมั่นตั้งใจแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมอและพยาบาลจะต้องตระหนักและเห็นความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และพร้อมที่จะให้การสนับสนุนในทุกๆ ด้าน

“ปัจจุบันเรามีโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกที่จะช่วยทำให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ประสบความสำเร็จ มีคลินิกนมแม่ทั่วประเทศที่พร้อมให้คำปรึกษา มีมุมนมแม่ในสถานประกอบการที่พร้อมสนับสนุนให้แม่ที่ลาคลอดครบ 3 เดือนแล้วต้องกลับไปทำงานยังสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ แต่ยังขาดในเรื่องของ Daycare คุณภาพใกล้บ้านที่จะเข้ามาช่วยดูแลเด็กอายุ 3 เดือนถึง 2 ปี ซึ่งยังไม่มีหน่วยงานไหนเป็นเจ้าภาพ ซึ่ง Daycare จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะสามารถช่วยดูแลพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กไทยได้ครอบคลุมครบทุกช่วงอายุ โดยมีจุดเริ่มต้นจากนมแม่และการเลี้ยงดูคู่เรียนรู้อย่างมีคุณภาพเพื่อสร้างเด็กไทยที่เกิดใหม่แต่เกิดน้อยให้มีคุณภาพ” ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวสรุป

สำหรับแม่ที่กำลังตั้งครรภ์-หลังคลอด ดูข้อมูลการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ที่ www.thaibf.com Facebook : Thaibf และ นมแม่ และ Application : Everyday Doctor ของกรมอนามัยที่เปิดคลินิกนมแม่ออนไลน์ เพื่อให้คำปรึกษาแม่ที่มีปัญหาในการให้นมแม่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง.