ไม่พบผลการค้นหา
น้ำโขงวิกฤตหนักสุดผันผวน-ฤดูฝนน้ำน้อยกว่าหน้าแล้ง สัญญาณอันตรายเกิดสภาวะหิวตะกอน-กัดเซาะรุนแรงทำลายระบบนิเวศน์ 'มนตรี' เชื่อเขื่อนจีนเป็นต้นเหตุ 'ครูตี๋' จี้เร่งแก้ไขด่วน

เมื่อวันที่ 16 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชุมชนริมแม่น้ำโขงและผู้ที่สนใจสถานการณ์แม่น้ำโขง ต่างวิพากษ์วิจารณ์การเปลี่ยนแปลงระดับแม่น้ำโขง ภายหลังจากมีผู้ใช้นามว่า Shinshiro Kenji Arthur(นพ.สมหมาย เอี๋ยวประดิษฐ์) ได้โพสต์ภาพทางเฟซบุ๊กถึงสภาพของแม่น้ำโขง บริเวณอำเภอเชียงของ จ.เชียงราย โดยเปรียบเทียบปริมาณน้ำของวันที่ 15 ก.ค. 2563 และ วันที่ 15 ก.ค. 2564 ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทั้งทางด้านสีของน้ำ ปริมาณน้ำและสภาพการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศในช่วงเวลานั้น 

มนตรี จันทวงศ์ ผู้ประสานงานกลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง กล่าวว่า ภาพดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์น้ำโขงที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำทั้ง 2 ปี และสีของแม่น้ำโขงที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด สีน้ำโขงที่จางลงในปีนี้ สะท้อนถึงปริมาณตะกอนต่ำลง ทำให้นึกถึงงานศึกษาชิ้นหนึ่งของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง(MRC) ตั้งแต่ปี 2557 โดยคุณ Lois Koehnken ได้ศึกษาเปรียบเทียบปริมาณตะกอนในแม่น้ำโขงในช่วงปี 2503-2546 ซึ่งในปี 2546 จีนสร้างเขื่อนเสร็จแล้ว 2 แห่งคือ เขื่อนม่านวาน และเขื่อนต้าเฉาซาน เปรียบเทียบกับช่วงปี 2552-2556 โดยปี 2556 จีนสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ตอนบนเสร็จแล้ว 6 แห่ง มีความจุมากกว่า 40,000 ล้านลูกบาศก์เมตร และพบว่า ปริมาณตะกอนที่มากับน้ำโขงจากจีนลดลงจาก 85 ล้านตันต่อปี เหลือเพียง 10.8 ล้านตันต่อปี หรือลดลงประมาณ 87% และสัดส่วนของตะกอนในแม่น้ำโขงจากจีนลดลงจาก 55% เหลือเพียง 16% เท่านั้น

218149983_352562663143402_5885940721957122896_n.png
  • ภาพจาก นพ.สมหมาย เอี๋ยวประดิษฐ์

มนตรีกล่าวว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้ตะกอนลดลงคือ การสร้างเขื่อนในประเทศจีน การที่ตะกอนน้ำโขงตอนบนหายไปมากถึง 87% และนานอย่างน้อย 10 ปีแล้วนั้น ส่งผลให้น้ำโขงมีสภาพเป็นแม่น้ำหิวตะกอนแม้ในฤดูฝน ส่งผลในการกัดเซาะมากกว่าทับถมตะกอน สังเกตเห็นได้ในบริเวณเกาะแก่งของแม่น้ำโขงในเขต อ.ปากชม จ.เลย และ อ.สังคม จ.หนองคาย ตะกอนดินที่เคยทับถมตามโขดหิน เกาะแก่ง ที่มีต้นไคร้น้ำ ต้นหว้าและพันธุ์ไม้อื่นๆ ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ค่อยๆ ถูกกัดเซาะไปทีละน้อยๆ บวกกับสภาพน้ำโขงน้ำโขงขึ้นๆ ลงๆ มานานร่วม 10 ปี จนมาถึงจุดที่ต้นไคร้น้ำไม่สามารถทนต่อสภาพแวดล้อมทำให้ต้นไคร้น้ำอ่อนแอลง และตายไปเป็นจำนวนมากตั้งแต่กลางปี 2562 

ผู้ประสานงานกลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง กล่าวว่าตามด้วยสถานการณ์น้ำโขงใสในปลายปี 2562 หลังการเปิดใช้งานเขื่อนไซยะบุรี ยิ่งทำให้น้ำโขงหิวตะกอนมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้งของปี 2563 และ 2564 เมื่อเขื่อนจีนปล่อยน้ำ จะมีพลังในการกัดเซาะตะกอนดินอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน ต้นไคร้น้ำที่ยังคงยืนต้นอยู่ได้ ก็มีสภาพไม่สมบูรณ์ และส่งผลต่อเนื่องต่อการสร้างดอกและเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์แข็งแรงงานโดยศึกษาที่ชี้ให้เห็นผลกระทบทางนิเวศวิทยาที่รุนแรงจากเขื่อนจีน โดยข้อมูลเหล่านี้มีอยู่แล้วในมือของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงและประเทศผู้บริจาค จากฝรั่งเศสและเยอรมัน ประชาชนลุ่มน้ำโขงคงต้องมีคำถามต่อความรับผิดชอบ(Accountability) ของทั้งคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงและประเทศผู้บริจาคเหล่านี้ 

ด้านนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ผู้ก่อตั้งกลุ่มรักษ์เชียงของกล่าวว่า ได้รับทราบและติดตามผลกระทบจากเขื่อนจีนมาตลอด ซึ่งเอ็มอาร์ซีก็รับรู้เพราะมีสถานีวัดน้ำมากมาย แต่สิ่งที่ต้องตระหนักคือ ความผันผวนเป็นปัญหาของแม่น้ำโขงต้องได้รับการแก้ไขแล้ว เพราะเป็นยาวนานมาก การหายไปของตะกอน การปิด-เปิดเขื่อนปล่อยน้ำที่ไม่ตรงตามฤดูกาล ตรรกะของเขื่อนมันผิดธรรมชาติ หากไม่ทบทวน ไม่สามารถแก้ไขก็ยังจะเป็นปัญหาต่อไป แม้จะแชร์ข้อมูลเป็นร้อยปีก็แก้ไขไม่ได้ จีนต้องเสียสละเขื่อนตัวสุดท้ายคือ เขื่อนจิงหง โดยต้องปรับให้เป็นธรรมชาติ 

“ฤดูน้ำหลากก็ต้องปล่อยให้น้ำหลาก ฤดูแล้งก็ต้องแล้ง ถ้ายังไม่แก้ไขปล่อยให้น้ำขึ้น-ลงผิดฤดูกาลจะเสียหายมากไปกว่านี้ แม้ทางการจีนจะเสนอความร่วมมือโดยเฉพาะต้องบูรณาการอย่างไร กับใคร ทุกวันนี้เราเห็นว่า รัฐเน้นเรื่องการบูรณาการกับรัฐตลอด ถามว่าประชาชนอยู่ตรงไหน การมีส่วนร่วมต้องให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ต้องมองน้ำให้เป็นชีวิตซึ่งเป็นหลักการใหญ่ แต่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับทอดทิ้งหมด ทุกวันนี้พอถึงหน้าน้ำหลากกลับเก็บน้ำ พอถึงหน้าแล้งกลับปล่อยน้ำ ดังนั้นต้องแก้ไขที่ต้นเหตุ เป็นไปได้อย่างไรที่ปริมาณน้ำเดือนมิถุนายนซึ่งเป็นฤดูฝนที่เชียงของมีระดับเท่ากับเดือนเมษายนปีนี้ แต่ที่แย่ยิ่งกว่านั้นคือเมื่อวาน (15 ก.ค 64) ระดับน้ำวัดได้ 1.95 เมตร ต่ำกว่าเดือนเมษายนที่ผ่านมาซึ่งวัดได้ 2.00 เมตร นี่คือสิ่งที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุให้เร็วที่สุด”นายนิวัฒน์ กล่าว 

217527455_989169655172646_4421623429549424086_n.jpg

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2564 คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ได้ออกรายงาน 2 ฉบับคือ รายงานด้านอุทกวิทยาของลุ่มน้ำโขงตอนล่างระหว่างเดือนก.ค. - ธ.ค. 2563 (Hydrological Conditions in the Lower Mekong River Basin in July-December 2020) และรายงานด้านอุทกวิทยาฤดูแล้งของลุ่มน้ำโขงตอนล่าง พ.ย. 2563-พ.ค. 2564 (Dry Season Hydrological Conditions in the Lower Mekong River Basin: November 2020-May 2021) พร้อมกับออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกปรับปรุงการบริหารจัดการทั่วทั้งลุ่มแม่น้ำโขง เหตุจากปริมาณน้ำในฤดูแล้งของแม่น้ำโขงที่ไหลต่ำส่งผลต่อระดับน้ำทะเลสาบของกัมพูชา 

ดร.อัน พิช ฮัดดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ระบุในแถลงการณ์ว่า “เพื่อประโยชน์ในการจัดการลุ่มน้ำที่ดีขึ้นและว่าด้วยความร่วมมือตามหลักความเชื่อถือที่ดีต่อกัน ประเทศภาคีสมาชิกและประเทศจีนควรมีการแจ้งและแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสำคัญในการดำเนินโครงการไฟฟ้าพลังน้ำที่แต่ะละฝ่ายได้วางแผนไว้ ให้แก่สำนักงานเลขาธิการเอ็มอาร์ซีได้รับทราบ ซึ่งนี่ถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวอาจจะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้นและลดลงอย่างผิดปกติ