ไม่พบผลการค้นหา
ประเทศไทย: รับประกันให้ผู้ลี้ภัยจากเมียนมาเข้าถึงบริการสาธารณสุข ผู้ลี้ภัยจากเมียนมาถูกจับและรีดไถเงินขณะเข้ารับบริการสาธารณสุข

"รัฐบาลไทยควรป้องกันไม่ให้มีการจับกุมโดยพลการและการรีดไถเงินผู้ลี้ภัยจากเมียนมาที่พยายามเข้ารับบริการสาธารณสุข และควรกำหนดสถานะคุ้มครองทางกฎหมายแก่ผู้ลี้ภัยในประเทศไทย"

ฟอร์ตี้ฟายไรต์ เผยรายงานการสอบสวนใหม่ว่า ผู้ลี้ภัยจากเมียนมาที่เข้ารับบริการสาธารณสุข ถูกเจ้าหน้าที่ไทยจับกุมและรีดไถในอำเภอแม่สอด ซึ่งเป็นเมืองชายแดนของไทย

“ผู้ลี้ภัยจากเมียนมาในประเทศไทยควรได้รับสถานะคุ้มครองทางกฎหมายโดยเร่งด่วน เพื่อประกันสิทธิการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นต่อพวกเขาแพททริก พงศธรผู้เชี่ยวชาญการรณรงค์อาวุโส ฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าว

“ผู้ลี้ภัยในอำเภอแม่สอดกำลังตกเป็นเหยื่อการรีดไถของตำรวจในพื้นที่ที่ดำเนินไปโดยไร้การตรวจสอบ การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจเช่นนี้ และการขาดสถานะทางกฎหมายของผู้ลี้ภัยในประเทศไทย กำลังทำให้ชีวิตของพวกเขาตกอยู่ใต้ความเสี่ยง”

นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 ฟอร์ตี้ฟายไรต์สัมภาษณ์ผู้ลี้ภัยจากเมียนมา 38 คน ในพื้นที่บริเวณพรมแดนประเทศไทย-เมียนมา โดยมีผู้ให้สัมภาษณ์แปดคนเป็นผู้หญิง ฟอร์ตี้ฟายไรต์ยังได้พูดคุยกับบุคคลอีกสี่คนที่มีความรู้เกี่ยวกับบริบทของบริการสาธารณสุข

ตามแนวพรมแดนประเทศไทยกับเมียนมา ทั้งนี้ มีการเปลี่ยนชื่อจริงของประจักษ์พยานและผู้รอดชีวิตจากการถูกละเมิดฯ ที่ปรากฏในรายงานฉบับนี้ เพื่อป้องกันมิให้พวกเขาเผชิญกับผลลัพธ์ใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในภายหลัง 

“ชเว ซิน” วัย 51 ปี จากรัฐฉาน เมียนมา ต้องการหาหมอเพื่อรักษาอาการข้อนิ้วอักเสบที่คลินิกอำเภอแม่สอด เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2566 แต่ก็ถูกตำรวจในพื้นที่เรียกให้หยุดตรวจ 

“ตอนนั้นเวลาประมาณบ่ายโมง ตำรวจเรียกเราให้หยุด” “ชเว ซิน” บอกกับฟอร์ตี้ฟายไรต์

“มอเตอร์ไซค์รับจ้างก็รู้สึกกลัวตอนที่ตำรวจเรียกตรวจ พวกเราอยู่ใกล้คลินิกมากแล้ว...จนขนาดที่เรามองเห็นป้ายชื่อคลินิกแล้ว ตอนที่ตำรวจเรียกหยุดตรวจ” 

จากนั้นตำรวจไทยก็ได้จับกุม “ชเว ซิน” และคนขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง และพาตัวพวกเขาไปที่โรงพักแถวนั้น และซักถามเป็นเวลาสามชั่วโมง  

“จากนั้นมาดิฉันก็ไม่เคยไปที่คลินิกอีกเลย ดิฉันรู้ว่าหมอสามารถบรรเทาอาการเจ็บป่วยของดิฉันได้ แต่ก็ไม่อยากเสี่ยงอีก” “ชเว ซิน” กล่าว

“จ่อ เอย์” วัย 46 ปี จากภาคพะโค เมียนมา บอกกับฟอร์ตี้ฟายไรต์ว่า เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2566 เขาถูกตำรวจเรียกตรวจถึงสามครั้ง ระหว่างที่ไปหาหมอเพื่อรักษาอาการเบาหวาน 

เหตุการณ์ครั้งแรกเกิดระหว่างทางไปคลินิก ตำรวจเรียกหยุดตรวจพวกเราตรงแยกใกล้กับป้อมจราจร....พอเราอธิบายว่าเรากำลังจะไปคลินิก พวกเขาก็ปล่อยเราไป....ครั้งที่สอง พวกเขาเรียกให้หยุดตรวจบนถนนตรงข้ามกับคลินิก ส่วนครั้งสุดท้าย เจ้าหน้าที่เรียกหยุดตรวจตรงที่ตลาดอำเภอแม่สอด ระหว่างที่เราเดินทางกลับจากคลินิก

เมื่อพูดถึงผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจต่อความสามารถของเขาในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข “จ่อ เอย์” บอกกับฟอร์ตี้ฟายไรต์ว่า “ผมรู้สึกว่า ผมคงต้องตายสักวันหนึ่งจากการถูกตำรวจเรียกตรวจ....ผมคงไม่มีทางได้รับการรักษาพยาบาลทันเวลาแน่นอน” 

ฟอร์ตี้ฟายไรต์ยังได้พูดคุยกับผู้ลี้ภัยอีกคนหนึ่ง “โม โม” วัย 52 ปี จากภาคพะโค ซึ่งเคยถูกจับติด ๆ กันในช่วงต้นปี 2565 ระหว่างที่เข้ารับบริการสาธารณสุขในอำเภอแม่สอด บอกว่า

ครั้งแรกที่ดิฉันถูกจับคือเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ตอนนั้นดิฉันมีอาการปวดตัวทางด้านขวา....พวกเราเดินทางออกจากบ้านหลังทานข้าวเช้าเสร็จ ตำรวจหยุดตรวจเราประมาณเก้าโมงครึ่ง ตรงทางแยกใกล้ถึงคลินิกซึ่งติดกับถนนใหญ่ พวกเขาซุ่มรออยู่ตรงมุมถนนและเรียกเราให้หยุด....ตอนนั้นดิฉันรู้สึกปวดมาก  

เจ้าหน้าที่ไทยได้จับกุม “โม โม” อีกครั้งในเดือนมีนาคม 2565 พร้อมกับสามีและลูกอีกสองคน ระหว่างที่เดินทางกลับจากฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่คลินิก 

ฟอร์ตี้ฟายไรต์ยังพูดคุยกับบรรดาแพทย์ชาวเมียนมา ซึ่งหลบหนีมายังประเทศไทย หลังตกเป็นเป้าของการคุกคามของรัฐบาลทหารเมียนมา “หม่อง หม่อง” วัย 30 ปี แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปจากภาคย่างกุ้ง เป็นผู้ให้การรักษาพยาบาลผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหาร

และได้ตั้งคลินิกขึ้นในพื้นที่ที่มีการสู้รบในรัฐกะเหรี่ยงและคะเรนนี เขาและภรรยาหลบหนีออกจากเมียนมาเมื่อเดือนมีนาคม 2565 หลังมีการโพสต์ข้อมูลส่วนตัวของเขาในช่องเทเลแกรมของกองทัพเมียนมา ทำให้เกิดความเสี่ยงภัยกับเขาอย่างยิ่ง 

เมื่อเขาเดินทางมาถึงอำเภอแม่สอด “หม่อง หม่อง” ยังคงให้ความช่วยเหลือคลินิกที่เขาได้ร่วมก่อตั้งขึ้นมาในเมียนมา เมื่อเดือนมีนาคม 2566 ตำรวจไทยได้บุกตรวจค้นบ้านพักของ “หม่อง หม่อง” และได้ยึดยารักษาโรคและอุปกรณ์อื่น ๆ ที่เขาเก็บรวบรวมมาเพื่อบริจาคให้กับคลินิกในพื้นที่สงครามในเมียนมา

“[ตำรวจ] ค้นบ้านพักของผม จากนั้นก็เห็นยารักษาโรค” “หม่อง หม่อง” บอกกับฟอร์ตี้ฟายไรต์ “พวกเขาเห็นหลอดฉีดยาและขวดยา....เลยกลายเป็นเรื่องใหญ่” จากนั้นตำรวจได้จับกุม “หม่อง หม่อง” และเอาตัวไปซักถามที่โรงพัก “พวกเขาถามผมว่า ‘คุณเป็นหมอหรือ?’ ผมบอกว่า ‘เปล่าเลย ผมไม่ได้เป็นหมอ’ [ในประเทศไทย] ผมแค่สนับสนุนผู้ลี้ภัย’ ถ้าพวกเขารู้ว่าผมเป็นแพทย์ พวกเขาก็คงขอเงินจากผมเพิ่มขึ้นอีก”

สุดท้ายเจ้าหน้าที่ไทยได้ปล่อยตัว “หม่อง หม่อง” และเอายาและเครื่องมืออื่น ๆ คืนให้กับเขา หลังจากที่เขายอมจ่ายเงินมากกว่า 30,000 บาทให้กับตำรวจในพื้นที่ ฟอร์ตี้ฟายไรต์เชื่อว่าการที่เจ้าหน้าที่เรียกรับเงินดังกล่าวเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย และยังเข้าข่ายเป็นการรีดไถ 

“หม่อง หม่อง” เป็นหนึ่งในผู้ลี้ภัยหลายคนที่ระบุว่าถูกรีดไถโดยตำรวจไทยในอำเภอแม่สอด

ตำรวจไทยจับกุม “จ่อ มิน” วัย 38 ปี จากเมืองย่างกุ้ง ระหว่างที่เขากำลังเดินทางกลับจากคลินิกแห่งหนึ่งในอำเภอแม่สอด หลังจากที่เขาได้ไปหาหมอเพื่อรักษาอาการติดเชื้อในดวงตา “ตำรวจจับผมบนถนน ก่อนจะถึงคลินิกประมาณสองกิโลเมตร [มากกว่าหนึ่งไมล์]” “จ่อ มิน” กล่าว เขายังบอกกับฟอร์ตี้ฟายไรต์ต่อไปว่า

ล่าม [ที่โรงพัก] บอกกับผมว่า ‘ถ้าคุณอยากกลับบ้าน ก็ต้องยอมจ่ายเงิน’ .... ‘คุณไม่มีเอกสารประจำตัว [คุณก็] ต้องจ่ายเงิน 30,000 หรือ 40,000 [บาท]’ ผมจึงตอบว่า ‘ผมไม่มีเงิน [มีแค่] 5,000 [หรือ] 6,000 [บาท]’ พวกเขาเลยบอกว่า ‘8,000 แล้วกัน’ ผมก็เลยต้องจ่าย 8,000 บาท เพื่อจะได้กลับ [บ้าน]

“ชเว ซิน” ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ไทยจับกุมเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2566 เล่าถึงประสบการณ์ที่ถูกตำรวจไทยรีดไถว่า “ตอนนั้นดิฉันกำลังไปคลินิกเอกชนแห่งหนึ่ง ที่ฉันจะได้รับการรักษาโดยไม่ต้องจ่ายเงิน ดิฉันก็เลยไม่ได้เอาเงินติดตัวไปด้วย ดิฉันบอกตั้งหลายครั้งกับ [ตำรวจไทย] ว่า งั้นก็จับดิฉันไปเลย เพราะดิฉันไม่สามารถจ่ายเงินได้ตามจำนวนที่พวกคุณเรียกหรอก” 

สุดท้ายตำรวจก็ปล่อยตัว “ชเว ซิน” ไป โดยแลกกับเงินจำนวน 5,000 บาท “หลังจากนั้น พวกเขาก็ปล่อยตัวดิฉันไป” “ชเว ซิน” กล่าว “ดิฉันไม่ต้องเซ็นชื่ออะไรทั้งสิ้น และก็ไม่มีใบเสร็จด้วย” 

ผู้ลี้ภัยในประเทศไทยบอกว่า ความกลัวที่จะถูกจับกุม การไม่มีเอกสารยืนยันสถานะทางกฎหมาย การเข้าไม่ถึงประโยชน์จากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของรัฐ และอุปสรรคด้านภาษา เป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีความจำเป็นได้ โดยเฉพาะในโรงพยาบาลหรือสถานให้บริการของรัฐ เหล่านี้ทำให้ผู้ลี้ภัยในแม่สอดมักจะต้องพึ่งพาคลินิกที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งดำเนินงานโดยองค์กรภาคประชาสังคม 

“โม โม” บอกกับฟอร์ตี้ฟายไรต์ว่า เธอต้องเปลี่ยนวิธีที่ไปรับบริการสาธารณสุขสำหรับตัวเองและครอบครัว หลังจากถูกจับซ้ำติด ๆ กันในประเทศไทยเมื่อปี 2565 

เราพยายามซื้อยามาตุนไว้ที่บ้านไว้ให้ได้มากที่สุด ตอนที่ลูก ๆ ฉันป่วย ฉันก็อาศัยซื้อยาจากร้านขายยาใกล้บ้าน ซึ่งมีพนักงานขายเป็นคนเมียนมา ถ้าไม่มีอาการร้ายแรงจริง ๆ พวกเราจะหลีกเลี่ยงไม่ไปคลินิก เพราะกลัวจะถูกจับ หรือกลัวว่าจะมีปัญหา 

ปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยกว่า 90,000 คนจากเมียนมาในค่ายที่พักพิงชั่วคราวเก้าแห่งในประเทศไทย ตามข้อมูลของหน่วยงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ทั้งยังมีผู้ลี้ภัยอื่น ๆ ที่ไม่ทราบจำนวน กำลังหลบซ่อนตัวอยู่ในอำเภอแม่สอด และพื้นที่อื่นทั่วประเทศไทย

โดยเฉพาะหลังการทำรัฐประหารในเมียนมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 รัฐบาลไทย รายงานเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2566 ว่า มีผู้ลี้ภัยจากเมียนมากว่า 40,000 คนที่เข้ามาพักพิงอยู่ในประเทศไทย นับตั้งแต่การทำรัฐประหารในเมียนมา แต่รัฐบาลไทยแสดงข้อมูลที่เชื่อได้ยากว่าเกือบทั้งหมดเดินทางกลับเมียนมาไปหมดแล้ว 

ประเทศไทยมีพันธกรณีตามกฎหมายต่อกฎหมายในประเทศและระหว่างประเทศ ที่จะต้องจัดให้มีการเข้าถึงบริการสาธารณสุขสำหรับบุคคลทุกคน รวมทั้งผู้ลี้ภัย มาตรา 51 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยประเทศไทยประกันว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน”

ประเทศไทยยังเป็นรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ซึ่งตามข้อ 12 ประเทศไทยมีพันธกิจต้อง “รับรองสิทธิของทุกคนที่จะมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตตามมาตรฐานสูงสุดเท่าที่เป็นได้” ตามข้อ 2 ของกติกานี้ ประเทศไทยยังมีพันธกิจต้องประกันสิทธิดังกล่าว โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใด ๆ ในเรื่องชาติหรือสังคมดั้งเดิม 

แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้เป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาของสหประชาชาติว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 หรือพิธีสารเลือกรับ พ.ศ. 2510 แต่อนุสัญญานี้กำหนดแนวปฏิบัติที่ชัดเจนเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้ลี้ภัยตามกฎหมายระหว่างประเทศ ในข้อ 23 ของอนุสัญญา ผู้ลี้ภัยจะต้องสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขในระดับเดียวกับพลเมืองของชาติที่ตนเข้าไปแสวงหาที่พักพิง 

หากไม่มีกรอบกฎหมายที่เป็นผลเพื่อรับรองและคุ้มครองผู้ลี้ภัยในประเทศไทย ผู้ลี้ภัยจะต้องถูกลงโทษทางอาญาตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ของประเทศไทย ซึ่งห้ามการเข้ามาหรือพำนักอาศัยในประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่งผลให้ผู้ลี้ภัยในประเทศไทยต้องตกเป็นเหยื่อของการจับกุมและควบคุมตัวโดยพลการ การไม่มีสถานะทางกฎหมายยังทำให้ผู้ลี้ภัยไม่สามารถใช้ประโยชน์จากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างที่แรงงานต่างชาติมีสิทธิเข้าถึงได้

ในเดือนธันวาคม 2562 รัฐบาลไทย ประกาศจัดทำกลไกคัดกรองระดับชาติ (NSM) ซึ่งเป็นกลไกใหม่เพื่อจำแนกและให้ความคุ้มครองต่อผู้ลี้ภัยในประเทศไทย หลังจากล่าช้ามาหลายปี กลไกคัดกรองระดับชาติได้เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2566 จากข้อมูลของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ตำรวจไทยได้เริ่มกระบวนการคัดกรองดังกล่าว และระบุให้ผู้ที่ได้รับ “สถานะคุ้มครอง” สามารถเข้ารับบริการสาธารณสุข การศึกษา และบัตรผู้อยู่อาศัยชั่วคราวได้

ก่อนหน้านี้ บทวิเคราะห์ของฟอร์ตี้ฟายไรต์ต่อกฎเกณฑ์ภายใต้กลไกคัดกรองระดับชาติ (NSM) ได้แสดงความกังวลต่อบทบัญญัติหลายข้อที่กีดกันบุคคลบางจำพวก เช่น แรงงานชาวเมียนมา กัมพูชา และลาว ไม่ให้เข้าถึงการคุ้มครองในประเทศไทยโดยไม่จำเป็นและโดยพลการ 

ประเทศไทยควรให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาของสหประชาชาติว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 และพิธีสารเลือกรับทันที และในระหว่างนี้ จะต้องมีการเปิดลงทะเบียนเพื่อให้สถานะของการคุ้มครองชั่วคราว และประกันการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่เสมอภาคกับผู้ลี้ภัยจากเมียนมา ฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าว

“แนวปฏิบัติหลักของประเทศไทยต่อผู้ที่หลบหนีอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในเมียนมานับเป็นความป่วยไข้อย่างหนึ่ง” แพททริก พงศธร กล่าว “ในวาระที่การประชุมเวทีผู้ลี้ภัยโลกใกล้จะมาถึง รัฐบาลใหม่ของไทยมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแนวทางนี้ ไม่ควรมีใครถูกจับเพียงเพราะเป็นผู้ลี้ภัย หรือเพราะพยายามเข้าถึงบริการสาธารณสุข”