ไม่พบผลการค้นหา
อาการหนัก! รัฐสภาล่ม เหตุนับองค์ประชุมครบ แต่พอลงมติเสียงล่องหน 'เพื่อไทย-ก้าวไกล' รุบบีบ 'พรเพชร' ปิดประชุม หวั่นทำผิดกฎหมาย

วันที่ 11 ม.ค. 2566 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 5 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) วาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ... พรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุมขณะนั้น กดออดเรียกสมาชิกแสดงตนเพื่องลงมติ มาตรา 8/1 ซึ่งผู้แปรญัตติขอสงวนความเห็นให้เพิ่มขึ้นมา ซึ่งใช้เวลารออยู่ครู่ใหญ่ จนมีองค์ประชุม 349 คน ประธานฯ จึงได้ถามมติ พร้อมกำชับว่าสมาชิกต้องฟังคำถามให้ดี ไม่สับสน ก่อนหน้านี้มีคนรีบลงมติก่อนยังไม่ถามคำถามด้วยซ้ำ

ผลการลงมติปรากฏว่า มีผู้ลงมติทั้งหมด 339 คน เห็นด้วย 46 คน ไม่เห็นด้วย 289 คน งดออกเสียง 2 คน หมายความผู้ลงมติไม่ครบองค์ประชุมตามที่แสดงตนไว้ตั้งแต่ครั้งแรก จึงมีสมาชิกขอให้แสดงผลลงมติอีกครั้งเพื่อตรวจสอบ เพราะจำนวนไม่เท่ากัน แสดงว่ามีมือที่สามกดแสดงตนเพิ่มตอนที่นับองค์ประชุม

จากนั้น เริ่มมีสมาชิกหลายคนทักท้วง ว่าหากผลลงมติไม่เป็นที่ถูกใจก็ต้องลงมติใหม่เรื่อยๆ หรือไม่ ตนรู้สึกเห็นใจประชาชน รวมถึงครูและนักเรียนที่เฝ้ารอกฎหมายฉบับนี้อยู่ ไม่อยากให้มีการเล่นเกมการเมืองกัน

จิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ไม่มีการเล่นการเมืองอะไรทั้งสิ้น เพียงแต่ตนเห็นว่าเมื่อแสดงผลผู้ลงมติ ปรากฏว่ามีเพียง 339 คน ไม่ครบองค์ประชุม จึงจำเป็นต้องแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ใช่เกมการเมืองใดๆ มี 2 ทางคือ หากองค์ประชุมไม่ครบก็ต้องปิดประชุม หรือหาทางลงมติใหม่ให้ถูกต้อง

จากนั้น ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ย้ำว่า มันจบแล้ว กรณีองค์ประชุมไม่ครบเมื่อลงมติเคยเกิดขึ้นแล้วครั้งพิจารณา พ.ร.บ.ว่าด้วยการถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นฯ ที่ฝ่ายค้านไม่แสดงตนเพราะไม่ยอมรับในกระบวนการที่ขอลงมติใหม่ ครั้งนี้ก็เป็นลักษณะคล้ายๆ กัน

ทำให้ สมชาย แสวงการ ส.ว. แย้งขึ้นว่า ในเมื่อคราวแรกองค์ประชุมครบแน่นอน แต่เมื่อลงคะแนน อาจไม่แสดงตนหรืออย่างไร ก็ควรแจ้งให้ประชาชนทราบด้วย แม้ พ.ร.บ.นี้จะมีปัญหา ควรแก้ไขด้วยการลงมติ ไม่ใช่ทำให้องค์ประชุมล่ม เพราะจะชี้แจงต่อประชาชนไม่ได้ พร้อมย้ำว่าต้องครั้งนี้ต้องใช้ข้อบังคับของสภาผู้แทนราษฎรในการตรวจนับองค์ประชุมอีกครั้ง

จิรายุ แย้งอีกครั้งว่า ตามหลักการแล้ว เมื่อองค์ประชุมไม่ครบก็ไม่สามารถไปต่อได้ แม้จะดันทุกรังผ่านมาตรานี้ไป ก็จะมีคนไปร้องให้กฎหมายนี้ตกไปอยู่ดี

“ถามพวกท่านเถิดครับว่าองค์ประชุมพวกท่าน นับกันหัวเพียวๆ จะครบไหม ถ้าไม่ครบ เมื่อกี้ฝ่ายค้านลงคะแนนไปเกือบร้อย ก็หมายความว่าฝ่ายวุฒิสภาและฝ่ายรัฐบาลลงคะแนนกันยังไม่ถึง 150 เลย จะเอาอย่างนั้นก็ตามสบาย” จิรายุ กล่าว

อุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ย้ำอีกครั้งว่า ในการลงมติต้องใช้เสียงไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งคือ 342 คน แต่มีผู้ลงมติเพียง 339 คน ประธานฯ มีสิทธิแค่ปิดประชุมเท่านั้น ไม่เช่นนั้นจะทำผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เช่นเดียวกับ วัลลภ ตังคนานุรักษ์ ส.ว. ที่ยืนยันว่า เป็นจริงอย่างที่ฝ่ายค้านพูดว่าลงมติแล้วเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ก็ต้องปิดประชุม

ทำให้ พรเพชร วินิจฉัยว่า ในเมื่อองค์ประชุมไม่ครบในการลงมติ จึงจำเป็นต้องปิดประชุม ก่อนจะปิดประชุมรัฐสภาลงเมื่อ 12.49 น. นับเป็นการประชุมรัฐสภา ที่องค์ประชุมไม่ครบครั้งแรกในปี 2566