เรื่องนี้ทำให้ เก่ง-การุณ โหสกุล ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย รวบรวมรายชื่อ ส.ส. 57 คน ยื่นหนังสือผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ส่งคำร้องไปยัง “ศาลรัฐธรรมนูญ” ให้วินิจฉัยสมาชิกภาพความเป็น ส.ส. ของนายสิระ ว่าสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (7) ประกอบมาตรา 185 (1) หรือไม่
โดยเห็นว่า พฤติกรรมของนายสิระ และคณะ ในการเดินทางไปตรวจพื้นที่การก่อสร้างคอนโดมิเนียมใน จ.ภูเก็ต มีการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ และแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน รวมทั้งใช้วาจาที่ไม่สุภาพ แสดงกิริยากร่าง ใช้อำนาจบาตรใหญ่กับเจ้าพนักงานและข้าราชการท้องถิ่น รวมทั้งชี้นำกระบวนการยุติธรรม ทั้งๆ ที่คดียังไม่ยุติ ไม่รับฟังคำชี้แจงของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
และการที่นายสิระได้แต่งชุดข้าราชการรัฐสภาไปเรียกให้ผู้บริหารเทศบาลกะรน จ.ภูเก็ต มาชี้แจงข้อเท็จจริง ทั้งที่ตนเองไม่มีอำนาจ จึงเป็นการกระทำอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 (1) เป็นเหตุให้สมาชิกภาพการเป็น ส.ส.ของนายสิระสิ้นสุดลง
สำหรับ “นายสิระ” ต้องเรียกว่าเป็น “ส.ส.ตัวจี๊ด” ของพรรค พปชร. สร้างวีรกรรม แสบๆคันๆมากมาย มีชื่อปรากฎเป็นข่าวไม่เว้นสัปดาห์
“ส.ส.สิระ” เป็นลูกศิษย์ของอดีต "พระพุทธอิสระ" เป็นคนที่ "พระพุทธอิสระ" ส่งไปเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และเข้ามาสมัครเป็นสมาชิกพรรค พปชร. ได้ก็เพราะรับไฟเขียวจากพระพุทธอิสระ กระทั่งได้มีโอกาสสมัครเป็น ส.ส.และชนะการเลือกตั้งในที่สุด
บุคลิกของ "สิระ" ถือเป็นคนประเภทชอบท้าชน ไม่กลัวเปลืองตัว มีหลายครั้งที่การแสดงออกของ ส.ส.สิระ ทำให้ ส.ส.ในพรรคเดียวกันต้องปวดหัวไม่น้อย
ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค.2562 “สิระ เจนจาคะ” เข้าไปอยู่ในก๊ก “สามมิตร” ที่นำโดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน และนายอนุชา นาคาศัย
ไม่นาน “สิระ” แผลงฤทธิ์ด้วยการแถลงไล่ตะเพิดนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน จากก๊วน 4 กุมาร พ้นจากเลขาธิการพรรค หลังจากที่พรรค พปชร.มีปัญหาเกี่ยวกับการดีลตั้งรัฐบาลไม่ลงตัว และตำแหน่งเลขาธิการพรรค พปชร.ยังเป็นที่หมายปองของนายอนุชา นาคาศัย แกนนำสามมิตรด้วย
เรื่องนี้กลายเป็นที่ฮือฮาอย่างมาก เพราะเท่ากับการประกาศเปิดศึกระหว่างกลุ่มสามมิตรและกลุ่ม 4 กุมารในพรรค พปชร.ที่มีนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรค นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการบริหารพรรค โดยนับตั้งแต่นั้นมา สามมิตรและ 4 กุมาร ก็มีความเคลื่อนไหวในทำนองเปิดศึกขัดแข้งขัดขาภายในพรรคกันมาตลอด
งานในสภาผู้แทนราษฏร “สิระ” เสนอตัวร่วมกับ เอ๋ ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรค พปชร. ทำหน้าที่คอยดักทาง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ในฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือ กมธ.ปปช. สภาผูแทนราษฎร
ทุกเช้าวันพุธที่มีการประชุม กมธ.ป.ป.ช. “สิระ” และ “ปารีณา” จะทำหน้าที่ป่วนการประชุมออกสื่อแบบ ไม่เกรงใจใคร
นั่นเพราะพรรค พปชร.ต้องการเบรก “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์” ที่จ้องจะเรียก “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาชี้แจงปมถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญให้ได้
ในพรรค พปชร.เอง “นายสิระ” ก็ทะเลาะกับ ส.ส.คนอื่นๆไปทั่ว ไม่ว่าจะเป็น การทะปะคารมกับรุ่นใหญ่อย่าง “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” รมช.เกษตรและสหกรณ์ โดยวิจารณ์คนใกล้ชิดของ ร.อ.ธรรมนัส ไปเกี่ยวกับโยงกับการกักตุนหน้ากากอนามัย ลามไปถึงคดียาเสพติดที่ศาลออสเตรียพิพากษาจำคุก แรงถึงขั้นขอให้ ร.อ.ธรรมนัส ลาออก
“สิระ” คนเดิมยังมีเรื่องกับ “ไผ่ ลิกค์” ส.ส.กำแพงเพชร พรรคเดียวกัน จนถึงขั้นท้ากันให้ลาออกจาก ส.ส.เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งใหม่ วัดกันว่าใครจะได้คะแนนเสียงมากกว่ากัน
กระทั่งถึงตอนนี้ที่ “กลุ่มสามิตร” หันมาสนับสนุนให้ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค แทนนายอุตตม สาวนายน และหวังให้นายอนุชา นาคาศัย เป็นเลขาธิการพรรคแทนนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ “นายสิระ” ก็เล่นบทไล่นายอุตตมและนายสนธิรัตน์ ไม่เว้นแต่ละวัน โดยไม่สนว่านั่นหัวหน้า นั่นเลขาพรรค
3 มี.ค.2563 “สิระ” สละเงินเดือน ส.ส. เพื่อซื้อหน้ากากอนามัย 10,000 ชิ้น แจกชาวบ้านเพื่อสู้กับโรคโควิด-19 แต่ปรากฏว่าหน้ากากที่เขาแจกนั้น ไม่ถูกต้องตามมาตรฐาน โดย “อาจารย์อ๊อด” รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แฉว่า หน้ากากดังกล่าวมีเส้นใยก่อสารพิษ ซึ่งเป็นอันรายมาก
13 มี.ค. 2563 มีคลิป “สิระ” ต่อว่า “อาจารย์อ๊อด” ที่ สน.ท้องสองห้อง โดยนายสิระ กล่าวโทษ “อาจารย์อ๊อด” ที่ทำให้เสียชื่อเสียง
“คุณไปให้ข่าวแบบนี้ผมเสื่อมเสีย คุณต้องไปแก้ข่าวว่าใครใช้คุณมา และประชาชนด่าผมทั้งประเทศ ฝ่ายการเมืองก็ด่าผมทั้งประเทศ แล้วคุณเป็นนักวิชาการยังไง สงสัยต้องไปถอดการเป็นนักวิชาการของคุณแล้ว ทำแบบนี้ไม่ได้ คุณรู้หรือไม่เขาตกใจกันทั้งเมือง” นายสิระ ต่อว่าอาจารย์อ๊อด
ในช่วงการระบาดอย่างหนักของโรคโควิด-19 นายสิระ ยังได้ไปตรวจโรค เนื่องจากเคยนั่งใกล้คนกลุ่มเสี่ยง และหลังตรวจโรคแล้ว นายสิระ ได้กลับมาป่วนการประชุมกรรมาธิการ ป.ป.ช. โดยนั่งติดกับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เพื่อประท้วงที่เลิกประชุมเสียที
นั่นทำให้ “สุรชาติ เทียนทอง” อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทยเขตเดียวกัน ได้ออกมาโจมตีนายสิระ และขอให้สื่อมวลชนงดนำเสนอข่าวของนายสิระ เพราะถือว่าเป็น “พวกไร้กาลเทศะ”
สำหรับนายสุรชาตินั้น ยังมีความหวังว่าจะสู้อีกครั้งในการเลือกตั้งซ่อม หากศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสินให้ความเป็น ส.ส.ของนายสิระ สิ้นสุดลง
ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า การที่ “เก่ง การุณ” นำรายชื่อ 57 ส.ส.ยื่นคำร้องศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดสถานะความเป็น ส.ส.ของ 'สิระ' นั้น ยังหวังดาบสองที่ให้มีการเลือกตั้งใหม่เกิดขึ้น เพราะพื้นที่เขตเลือกตั้งที่ 9 หลักสี่- จตุจักร เป็นเขตฐานเสียงเก่าของพรรคเพื่อไทย ซึ่ง 'สุรชาติ' เคยเป็น ส.ส.ในเขตดังกล่าวแต่มาก่อน แต่ศึกเลือกตั้งเมื่อปี 2562 'สุรชาติ' ต้องพ่ายแพ้ให้ 'สิระ' ด้วยคะแนนที่ห่างกันเพียงสองพันกว่าเสียงเท่านั้น
หากผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาในทางลบกับตัว 'สิระ' ก็จะทำให้ 'สุรชาติ' มีโอกาสที่ล้างตาแก้มือทวงคืนเก้าอี้ ส.ส.กทม. ให้กับพรรคเพื่อไทย
สำหรับนายสิระ ก่อนหน้านี้มีรายงานว่าเข้าๆออกๆทำเนียบรัฐบาลเป็นว่าเล่น เพื่อขอพบ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ามาทำไม เจ้าตัวก็ตอบเพียงว่า มาหารือเรื่องราวร้องเรียนต่างๆจากประชาชน
การดอดเข้าทำเนียบรัฐบาลหลายครั้งของนายสิระ จะเกี่ยวกับ “คดีกร่าง” หรือไม่ ไม่มีใครทราบ
ในคดีที่ ส.ส.สิระ กำลังต้องลุ้นสถาน ส.ส.อยู่นั้น ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ในหมวดว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์ บัญญัติไว้ด้วยว่า ห้าม ส.ส.-ส.ว.ใช้สถานะหรือตําแหน่งการเป็น ส.ส.-ส.ว.กระทําการใด ๆ อันมีลักษณะที่เป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
ในเรื่องต่อไปนี้
(1) บัญญัติว่า การปฏิบัติราชการหรือการดําเนินงานในหน้าที่ประจําของข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้าง ของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น
มิเช่นนั้นจะส่งผลให้สมาชิกภาพของ ส.ส.สิ้นสุดลง
สำหรับการเลือกตั้ง กทม.เขตเลือกตั้งที่ 9 (เขตหลักสี่-จตุจักร (ยกเว้นแขวงจตุจักรและแขวงจอมพล))
นายสิระ เจนจาคะ ได้ 34,907 คะแนน ชนะ นายสุรชาติ เทียนทอง แบบฉิวเฉียด โดยนายสุรชาติได้ 32,115 คะแนน ตามด้วยผู้สมัครจากพรรคอนาคตใหม่ 25,735 คะแนน พรรคประชาธิปัตย์ 16,255 คะแนน
โดยการเลือกตั้งเขตนี้มีปัญหาพอสมควร เพราะเป็นเขตเลือกตั้งที่สู้กันสูสีของสองพรคใหญ่ สรุปตัวเลขผลการเลือกตั้งช้าสุดในบรรดา 30 เขต กทม. เนื่องจากพบบัตรเกินจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์
นายสุรชาติ เทียนทอง ยังเคยเรียกร้องให้ กกต.ตรวจสอบอีกครั้งก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง เพราะเขตเลือกตั้งที่ 9 มีปัญหาบัตรเลือกตั้งมากกว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง และพบปัญหาบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าของเขต 9 ถูกส่งไปนับคะแนนที่เขต 1 จนส่งผลให้บัตรทั้งหมดกลายเป็นบัตรเสีย
แต่สุดท้าย กกต.ก็ประกาศให้ “สิระ เจนจาคะ” ศิษย์เอกของ 'พระพุทธะอิสระ' จากค่ายสามมิตร ชนะการเลือกตั้ง เป็น ส.ส.สมัยแรกสมใจ
เวลาการดำรงตำแหน่ง ส.ส.ของ 'สิระ' จะได้ไปต่อหรือร่วงลง ล้วนอยู่ในอำนาจการวินิจฉัยทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 8 คน ซึ่งผสมด้วยชุดเก่า 4 คน และตุลาการที่เพิ่งมาใหม่อีก 4 คน ที่จะชี้ขาดวันที่ 10 มิ.ย.นี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง