นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า การวิเคราะห์ข้อมูลโครงสร้างต้นทุนยาในครั้งนี้จะเป็นแนวทางให้โรงพยาบาลเอกชนคิดราคาที่เป็นธรรมกับผู้ป่วย และทำให้โรงพยาบาลเอกชนมีกำไรในการดำเนินธุรกิจได้ โดยเฉพาะการวิเคราะห์กำไรส่วนเกินระหว่างราคาขายและต้นทุนที่เหมาะสมของยาเวชภัณฑ์ ค่าบริการ รักษาพยาบาลบริการทางการแพทย์ เพื่อนำมากำหนดราคาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ชั่วโมงนี้ยังไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะให้ขายได้ไม่เกินจากต้นทุนเท่าใด เพราะแต่ละโรงพยาบาลมีต้นทุนที่แตกต่างกัน เรียนว่าตอนนี้ยังคุมราคายาไม่ได้ เพราะอาจจะทำให้ทั้งผู้ป่วย และผู้ประกอบการโรงพยาบาลลำบาก” นายวิชัยกล่าว
อธิบดีกรมการค้าภายใน ระบุว่า ยังไม่สามารถที่จะสรุปได้ว่าจะมีการอนุญาตให้ผู้ประกอบการมีการจำหน่ายยาได้กี่เปอร์เซ็นต์ของราคาต้นทุน แต่ในเบื้องต้นจะมีการจัดกลุ่มโรงพยาบาลออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีราคายาอนุเคราะห์ ราคากลาง และราคาสุดโต่ง เพื่อให้ผู้บริโภครับทราบ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 3 สัปดาห์
ด้าน ผศ.ดร.สุจิตรา ตุลยาเดชานนท์ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ในช่วง 6 เดือนแรก ทางคณะฯ จะนำข้อมูลจากโรงพยาบาลในต่างประเทศและอาเซียนมาวิเคราะห์โครงสร้างรวมถึงข้อมูลของราคายาของโรงพยาบาลการนำเข้าและการผลิต จากนั้นจะใช้เวลา 3 เดือนในการนำข้อมูลที่วิเคราะห์ได้มาจัดทำกำไรของโรงพยาบาลเพื่อเป็นฐานในการกำหนดราคายาและอีก 3 เดือนสุดท้ายจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียและมีผลกระทบในทุกด้านเพื่อรับฟังและมุมมองต่างๆ คาดว่าภายใน 1 ปีจะเห็นโครงสร้างราคายาทั้งหมดกว่า 3,000 รายการ ที่จะต้องกำหนดราคายาให้เหมาะสมและเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค
ส่วนความคืบหน้าการให้โรงพยาบาลเอกชน ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่ายส่ง ต้องแจ้งราคาซื้อ-ราคาจำหน่ายยา เวชภัณฑ์ ค่าบริการ ตามประกาศ กกร. ล่าสุด มีโรงพยาบาลที่แจ้งข้อมูลครบถ้วน 338 แห่ง จากทั้งหมด 356 แห่ง ซึ่งแจ้งข้อมูลครบถ้วน 328 แห่ง อีก 12 แห่ง ข้อมูลไม่ครบถ้วน และอีก 13 แห่ง ไม่แจ้งข้อมูล โดยกรมฯ จะให้เวลาจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งทั้ง 13 รายจะต้องเร่งแจ้งข้อมูลให้ครบถ้วนหากไม่ดำเนินการจะส่งดำเนินคดีตามกฎหมาย