ไม่พบผลการค้นหา
นายกฯ มั่นใจศักยภาพ ไทยแลนด์ หลังหยุดนิ่งมานานนับสิบปี ประกาศเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งประเทศ ตั้งเป้าปีนี้ GDP ต้องโตขึ้น 3 % พร้อมหนุนแก้หนี้ครัวเรือน เดินหน้าโครงการขนาดใหญ่ แสดงศักยภาพประเทศ ดึงดูดนักลงทุน มั่นใจประเทศไทยไม่แพ้ชาติใดๆ ในโลกแน่

วันนี้ (19 กุมภาพันธ์ 2568) เวลา 09.45 น. ณ ห้องบอลรูม 1 ชั้น 1 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ถนนรัชดาภิเษก เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน “Matichon Leadership Forum 2025 Trust Thailand : เชื่อมั่นประเทศไทย” และกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ เชื่อมั่นประเทศไทย ฉายภาพรวม ศักยภาพและโอกาสของประเทศไทยในปี 2568 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในด้านต่าง ๆ ของประเทศไทย โดยมีผู้บริหารเครือมติชนและสื่อมวลชน เข้าร่วมงาน 

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุป สาระสำคัญดังนี้ ตลอดปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้เผชิญกับปัญหาและความท้าทายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเศรษฐกิจ ที่เงินในระบบที่ไม่เพียงพอ แต่ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนทำให้ได้เห็นสัญญาณที่ดี โดยตัวเลข GDP ของปี 2567 ขยายตัว 2.5% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 2% ในปี 2566 จะเห็นได้ว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะการกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน ส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศขยายตัว ที่สำคัญที่สุดที่เห็นได้ชัดเจน คือ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาสู่ประเทศไทยสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และนโยบายฟรีวีซ่าก็ทำให้การท่องเที่ยวสะดวกมากขึ้น มีความเชื่อมั่นความมั่นคง ทำให้มาประเทศไทยแล้วปลอดภัยมั่นใจ ที่สามารถช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเพิ่มขึ้น

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า สำหรับปี 2568 ตั้งเป้าหมายให้ GDP เติบโตที่ 3% โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการลงทุนของภาคเอกชนที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการใช้จ่ายของประชาชนที่มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภาครัฐก็มีส่วนในการช่วยผลักดัน การใช้งบลงทุนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การสร้างโครงการสาธารณูปโภค การลงทุนก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ต่าง ๆ ทำให้เกิดการจ้างงาน ประชาชนมีรายได้ เงินในระบบก็จะเกิดการหมุนเวียนมากขึ้น 

ส่วนเรื่อง GDP ของประเทศไทยเมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียน มีตัวเลขที่ต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ นั้น ตัวเลขดังกล่าว ยังไม่ได้ดูรายละเอียดทั้งปัจจัยภายในและภายนอก เช่น อุตสาหกรรมของประเทศไทย ที่ไม่ได้มีการพัฒนามานานแล้ว ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นประเทศมาเลเซียที่มีการลงทุนในอุตสาหกรรมของเซมิคอนดักเตอร์อย่างต่อเนื่อง ส่วนประเทศเวียดนามได้พัฒนาในเรื่องของทักษะของคน การเขียนซอฟต์แวร์ ซึ่งประเทศไทยยังไม่ได้พัฒนาเรื่องเหล่านี้อย่างเต็มรูปแบบและเต็มระบบ 

นอกจากนี้ สภาพคล่องและระบบเศรษฐกิจยังไม่เพียงพอ เนื่องจากธนาคารยังปล่อยกู้ไม่มากพอ ส่งผลให้เกิดความฝืดเคืองทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่ม SME ที่มีสัดส่วน75% ของประเทศ โดยรัฐบาล ได้ขอให้ทุกภาคส่วนเร่งการลงทุน เพื่อให้เม็ดเงินต่าง ๆ เกิดความสมดุลและมีประสิทธิภาพสูงสุด ภายใต้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ต้องใช้เวลาในการแก้ไข รัฐบาลได้ร่วมกับ บีโอไอ ขับเคลื่อนนโยบายสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ พร้อมเร่งให้เม็ดเงินการส่งเสริมการลงทุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจให้มากยิ่งขึ้น

สำหรับประเด็นการสร้าง Man-made destination หรือสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆที่มนุษย์ สร้างขึ้นเพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาในทุกจังหวัดอย่างต่อเนื่องนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ได้ใช้ซอฟต์พาวเวอร์สนับสนุนการท่องเที่ยวให้เกิด festival ทุก ๆ เดือน ไม่อยากให้มีโลว์ซีซั่น รัฐบาลพยายามผลักดันให้ทุกเดือนของประเทศไทยสามารถเที่ยวได้ สามารถยกระดับเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต ส่วนของมาตรการระยะเร่งด่วน รัฐบาลได้ขอความร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ ในการเสริมสภาพคล่อง ปล่อยกู้ให้แก่ประชาชน ในการพัฒนาธุรกิจของตนเอง และขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาการลดดอกเบี้ย เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนด้วย 

นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำถึงศักยภาพของประเทศไทย ในการลงทุนอุตสาหกรรมอนาคตไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล/ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ซึ่งเป็นรากฐานของเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต พร้อมผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Hub ในภูมิภาค และให้ความสำคัญในเรื่องพลังงานสีเขียวควบคู่ไปด้วย และในปี 2567 ที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัลสูงเป็นอันดับหนึ่ง จากบริษัทชั้นนำทั้งจากสหรัฐอเมริกา จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย รวมเงินลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท ล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2568 บีโอไอ ได้อนุมัติการลงทุนของ Tiktok และ NVIDIA Cloud Partner ไปแล้วกว่า 1.3 แสนล้านบาท

ส่วนโครงสร้างพื้นฐานโลจิสติกส์และการค้าการลงทุน นายกรัฐมนตรีเผยว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อไทย-ลาว-จีน เชื่อมโยงกรุงเทพมหานครกับหนองคาย เมื่อเสร็จสิ้นจะช่วยลดระยะเวลาและต้นทุนการขนส่งสินค้าให้ผู้ประกอบการ ทำให้สินค้าไทยสามารถเข้าถึงตลาดจีน และประเทศอื่น ๆ ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น มีการจ้างงานมากขึ้น ประชาชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลจะผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ที่เชื่อมระหว่างฝั่งอ่าวไทยและอันดามันต่อไป เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค ทั้งนี้ รัฐบาลได้ลงนามข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยและสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (Thai - EFTA) ซึ่งถือเป็น FTA ฉบับแรกของไทยกับยุโรป และก้าวสำคัญในการขยายโอกาสทางการค้าระหว่างไทยกับตลาดโลก เปิดช่องทางให้การลงทุนจากประเทศไทยเป็นไปอย่างราบรื่นและสะดวกมากยิ่งขึ้น

อีกหนึ่งในนโยบายที่สำคัญ คือ การผลักดันสินค้าเกษตรมูลค่าสูงนั้น รัฐบาลได้เน้น R&D ส่งเสริมการวิจัย และพัฒนา เพื่อสร้างนวัตกรรมในกระบวนการผลิต การแปรรูป และการบรรจุภัณฑ์เพื่อให้สินค้าเกษตรไทยมีคุณภาพสูงขึ้นให้อยู่ได้นานขึ้น เป็นที่ต้องการของตลาด ตรงตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ 

ส่วนของปัญหาหนี้สินครัวเรือน ที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชน นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการโครงการ "คุณสู้ เราช่วย" เพื่อให้ประชาชนหลุดพ้นจากวงจรหนี้ได้เร็วขึ้น แก้หนี้มากกว่า 8.3 แสนบัญชี ทำให้ลูกหนี้รายย่อยเหล่านี้หลุดจากเครดิตบูโร และสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อีกครั้ง ขณะนี้มีกลุ่มลูกหนี้ที่ยังค้างอยู่อีก 2.6 แสนบัญชี โดยจะเร่งดำเนินการให้จบภายใน 15 มีนาคมนี้ ทั้งนี้ ได้ประสานกับกระทรวงการคลังหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยเพิ่มเติมเพื่อจะปรับปรุง โครงการคุณสู้เราช่วย ซึ่งจะออกมาในช่วงปลายเดือนมีนาคม  

ส่วนปัญหาอาชญากรรมทางออนไลน์ โดยเฉพาะการหลอกลวงโดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ นั้น รัฐบาลได้สั่งการให้ตัดไฟฟ้าและสัญญาณอินเทอร์เน็ต รวมทั้ง งดส่งน้ำมันเชื้อเพลิงไปยังพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา ที่สงสัยว่าเป็นฐานปฏิบัติการของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ทำให้ทางฝั่งเมียนมาได้ปล่อยตัวและส่งคืนเหยื่อที่ถูกบังคับให้ไปทำงานคอลเซ็นเตอร์แล้วกว่า 300 คนและยังมีเหยื่อในเมียนมาอีกกว่า 7,000 คนที่กำลังรอการปล่อยตัว และทางด้านเมียนมาใช้ไฟลดลงถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าเป็นความสำเร็จอย่างมาก นอกจากนี้ ได้ออกพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่บังคับให้บริษัทโทรคมนาคมและธนาคารพาณิชย์ร่วมรับผิดชอบแก่ผู้เสียหายจากการหลอกลวงออนไลน์ คาดจะมีผลบังคับใช้ในเร็ว ๆ นี้  

“เรื่องความเชื่อมั่นของประเทศไทย รัฐบาลทำอย่างเต็มที่ เพื่อให้ประเทศไทยเกิดความเชื่อมั่น ทั้งในต่างประเทศและในประเทศ ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นไม่ได้มาจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว แต่มาจากความร่วมมือ ทุกภาคส่วน และการประสานงานระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล ซึ่งเป็นเรื่องที่อ่อนไหว เราไม่สามารถผิด Protocol ได้ ซึ่งบางสิ่งยังไม่สามารถตอบได้ทันที เพราะการที่นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศให้สัมภาษณ์ที่ไหน ถือเป็นสิ่งที่ตกลงกันแล้ว ถ้าทุกคนร่วมมือกัน เราจะมีประเทศที่พัฒนาเศรษฐกิจ มีสังคมที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืนที่ในอนาคต ขอความร่วมมือและขอกำลังใจจากทุกภาคส่วนเดินหน้าร่วมมือพัฒนาประเทศ ต่อยอดขึ้นไปให้เศรษฐกิจดีขึ้น ให้เม็ดเงินลงทุนหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น ส่งผลต่อ GDP ของประเทศและความเป็นอยู่ของประชาชน ต้องดีขึ้นเป็นลำดับอย่างแน่นอน รัฐบาลเห็นทุกปัญหาของทุกพื้นที่และพร้อมที่จะสนับสนุนให้ความร่วมมือกับประชาชนและภาคเอกชนอย่างเต็มที่ เพื่อประเทศจะได้พัฒนาไปข้างหน้าและเป็นระบบอย่างต่อเนื่อง”