นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ สอท. เปิดเผยว่า การประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของพรรคการเมืองในขณะนี้ จากที่ได้รับฟังจากทั้ง 5 พรรคการเมืองแล้ว เห็นว่า แต่ละพรรคก็มีนโยบายเรื่องค่าแรงคล้ายๆ กัน และไม่ได้ขึ้นโดยทันที แต่จะขึ้นตามทักษะฝีมือแรงงาน และมีระยะเวลาในการขึ้น
“เราก็ไม่ได้กังวลอะไรมาก เพราะการขึ้นค่าแรงมาพร้อมกับการเพิ่มทักษะฝีมือแรงงาน และความจริงแล้วการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำขึ้นกับภาวะตลาด สภาพเศรษฐกิจ และเวลา ถ้าเศรษฐกิจดี ค่าแรงขั้นต่ำ 500 บาท ก็เป็นไปได้” นายสุพันธุ์ กล่าว
ขณะที่บนเวทีเสวนา “ตอบโจทย์อุตสาหกรรมไทย” ในงานประชุมสามัญประจำปี 2562 ของ สอท. ตัวแทนจากทั้ง 5 พรรคการเมือง ตอบคำถามฮอตเรื่องค่าแรงในขณะนี้ไว้ ดังนี้
'เพื่อไทย' ทำ 2 ขา เติมเงินในกระเป๋าแรงงาน คู่ลดภาษีให้ผู้ประกอบการ
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลักคิดเรื่องค่าแรงของพรรคเพื่อไทย คือการเติมเงินเข้ากระเป๋าของคนฐานราก ทั้งผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร และผู้ใช้แรงงาน
"เมื่อเราเติมเงินคนฐานรากได้ ภาคอุตสาหกรรมก็ต้องอยู่ได้ ดังนั้น เราต้องทำ 2 ด้านควบคู่กันคือ ทำให้ภาคธุรกิจมีรายได้เพิ่มขึ้น พร้อมกับการปรับค่าแรง แต่เราไม่ได้ปรับทันที ต้องมีระยะเวลาให้เอกชนปรับตัว เรามีขั้นตอน เช่น ถ้าจะให้เอกชนขึ้นค่าแรง รัฐจะหาทางลดภาษีน้ำมัน ลดภาษีเงินได้ เพื่อชดเชยกับต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น"
'อนาคตใหม่' ไม่มีค่าจ้างขั้นต่ำ แต่พร้อมทำรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ดูแลปชช.ครบวงจร
ขณะที่นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ผู้สมัครบัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า พรรคมีแนวคิดชัดเจน คือประชาชนทุกคนต้องมีความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานในระบบและนอกระบบ พรรคจึงเสนอนโยบายรัฐสวัสดิการที่ตอบโจทย์กับทุกคน เป็นรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้า เช่น เพิ่มเบี้ยยังชีพคนชราเดือนละ 1,800 บาท ค่าดูแลเด็กแรกเกิด (0-6 ขวบ) เดือนละ 1,200 บาท เงินสนับสนุนเยาวชน (18-22 ปี) เดือนละ 2,200 บาท อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบัน ไม่เพียงพอกับค่าครองชีพอยู่แล้ว
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และแคนดิเดตนายกฯ กล่าวว่า ให้ความสำคัญกับสายอาชีวะ และมีแนวทางสร้างแรงจูงใจให้ทั้งผู้เรียนและผู้ประกอบการ ส่วนนโยบายด้านค่าแรง พรรคเสนอรระบบประกันรายได้ เพื่อทำให้ลูกจ้างรอด นายจ้างอยู่ได้ เศรษฐกิจเติบโต ดังนั้น พรรคจึงเห็นด้วยกับยุทธศาสตร์ของสภาอุตสาหกรรมฯ ในเรื่อง การจ่ายตามทักษะฝีมือแรงงาน (pay for skill) มีประกันรายได้ว่า แรงงานต้องมีรายได้ 120,000 บาทต่อปี หรือ 10,000 บาทต่อเดือน แต่ต้องทำควบคู่ไปกับการ re-skill และ up-skill คือปรับเปลี่ยนทักษะฝีมือ และยกระดับฝีมือแรงงาน ซึ่งเป้าหมายคือสร้างผลิตภาพ ทำให้แรงงานมีทักษะตามความต้องการของเอกชน
'พปชร.' แจงขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามขั้นบันไดภายใน 3 ปี อัตราแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน
ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ที่ออกนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 บาทต่อเดือน ปริญญาตรีเงินเดือนขั้นต่ำ 20,000 บาทนั้น นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า หลักการของเรื่องนี้คือ การปรับเปลี่ยนไปสู่ประเทศที่มีขีดความสามารถทางการแข่งขัน โดยจะค่อยๆ ขึ้นไต่ระดับไปภายใน 3 ปี โดยจะไม่ขึ้นค่าแรงทันที ไม่ทำเท่ากันทั้งประเทศแต่ดูตามค่าครองชีพของแต่ละจังหวัด และปรับขึ้นตามทักษะฝีมือแรงงาน
โดยแรงงานจะต้องมาขึ้นทะเบียน มาทดสอบฝีมือแรงงาน ซึ่งจะเป็นการยกระดับขีดความสามารถของแรงงานทั้งระบบ เพราะในอนาคต เศรษฐกิจไทยไม่ได้ต้องการมนุษย์เงินเดือน แต่ต้องการผู้ประกอบการ พรรคพลังประชารัฐจะสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ สร้างสตาร์ทอัพ เพิ่มทักษะแรงงาน
"เมื่อเราเพิ่มทักษะให้แรงงานได้ ก็เพิ่มรายได้ได้ เงินเฟ้อก็จะไม่เกิด เพราะค่าจ้างแรงงานสอดคล้องไปกับฝีมือแรงงาน และในอนาคตก็อาจไม่ต้องมีเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำอีกต่อไป" นายสุวิทย์ กล่าว
ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และแคนดิเดตนายกฯ ไม่ไ���้กล่าวถึงนโยบายค่าจ้างแรงงานที่ชัดเจน แต่กล่าวถึงการสนับสนุนให้เกิดสตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ โดยมีแนวคิดนำสถานที่ราชการมาสร้าง co-working space ในแต่ละจังหวัด สร้างระบบสาธารณูปโภค เช่น ไอที ให้เหมือนไฟฟ้า น้ำประปา และให้พนักงานออฟฟิศให้ทำงานที่บ้าน 1 วันต่อสัปดาห์ เพื่อลดค่าใช้จ่ายของทั้งแรงงานและผู้ประกอบการ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :