นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) โดย ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน เมื่อต้นเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบปรับปรุงสิทธิประโยชน์การบริการผู้ป่วยวัณโรค ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (กองทุนบัตรทอง) ตามแนวทางการควบคุมวัณโรคประเทศไทยปี 2561 (National Tuberculosis control Program Guideline, Thailand 2018: NTP 2018) และที่ปรับปรุงเพิ่มเติม เพื่อลดอุบัติการณ์วัณโรคและการค้นหาผู้ป่วยในกลุ่มเสี่ยง เน้นกลุ่มผู้สัมผัสวัณโรคและผู้ต้องขัง
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ประเทศไทยติดอันดับ 14 ประเทศที่มีปัญหาวัณโรคสูง ทั้งวัณโรค วัณโรคที่มีการติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วยและวัณโรคดื้อยาหลายขนาน (Multidrug-resistant TB: MDR-TB) โดยปี 2559 องค์การอนามัยโลกกำหนดยุทธศาสตร์ยุติวัณโรค มีเป้าหมายลดอุบัติการณ์วัณโรคให้ต่ำกว่า 10 ต่อแสนประชากรโลกภายในปี 2578 โดยประเทศไทยกำหนดแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านการต่อต้านวัณโรค พ.ศ. 2560-2564 ในการลดอุบัติการณ์วัณโรคให้เหลือ 88 ต่อแสนประชากร ในปี 2564 มุ่งเน้น "ค้นให้พบ จบด้วยหาย พัฒนาระบบและเครือข่าย นโยบายมุ่งมั่น สร้างสรรค์นวัตกรรม"
ในการประชุมคณะทำงานพัฒนาและประเมินผลการบริหารจัดการวัณโรคแบบครบวงจร ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2561 ได้มีข้อเสนอให้ สปสช. กองทุนสุขภาพต่างๆ และกระทรวงสาธารณสุข วางแผนสนับสนุนแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านการยุติวัณโรคฯ พร้อมรองรับกรณี Global Fund หยุดให้การสนับสนุน และในการประชุมคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ สปสช. วาระพิเศษ เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2562 มีมติมอบ สปสช.ประสานสำนักวัณโรค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเร็วเพื่อทบทวนชุดสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ป่วยวัณโรค เร่งรัดให้แล้วเสร็จในปีงบ 2562 และให้จัดสรรงบเพิ่มเติมสำหรับสิทธิประโยชน์ใหม่ของผู้ป่วยวัณโรคในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยปีงบประมาณ 2562 วงเงิน 611.78 ล้าน และปีงบประมาณ 2563 วงเงิน 655.03 ล้านบาท
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า รายการสิทธิประโยชน์บริการผู้ป่วยวัณโรคที่ได้ปรับปรุง ประกอบด้วย
1.บริการค้นหาผู้ป่วยวัณโรคในกลุ่มเสี่ยง เน้นกลุ่มผู้สัมผัสผู้ป่วยวัณโรค 90,000 ราย และผู้ต้องขังเรือนจำ 250,000 ราย คัดกรองครั้งแรกด้วยการเอกซเรย์ปอดทุกราย โดยรายที่ผลเอกซเรย์ผิดปกติจะได้รับการตรวจเสมหะโดยวิธีอณูชีววิทยา (Molecular testing) ทั้งนี้ หากพบผู้ป่วยดื้อต่อยา Rifampicin resistance (RR-TB) จะได้รับการตรวจโดยวิธีอณูชีววิทยาซ้ำเพื่อยืนยันผลดื้อยาอีกครั้ง
2.บริการตรวจหาเชื้อวัณโรคระยะแฝงด้วยวิธีทดสอบปฏิกิริยาทูเบอร์คูลิน (Tuberculin skin test: TST) ในผู้สัมผัสผู้ป่วยวัณโรคปอดที่มีอายุไม่เกิน 18 ปีและไม่ป่วยเป็นวัณโรค 81,000 ราย
3.บริการตรวจการดื้อยาวัณโรค โดยเพิ่มการตรวจวินิจฉัยวัณโรคดื้อยา First line drugs สำหรับผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ทุกราย 80,000 ราย และการตรวจวินิจฉัยวัณโรคดื้อยา Second line drugs ด้วยวิธี Line probe assay (LPA) และ Culture & Drug susceptibility testing (DST) สำหรับผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนาน (MDR-TB) 2,700 ราย
และ 4.บริการรักษาวัณโรคดื้อยา ครอบคลุมบริการบริการรักษาด้วยยารักษาวัณโรคดื้อยาหลายขนาน (MDR-TB) และบริการยารักษาวัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก (XDR-TB) ทั้งนี้ รายการยารักษาวัณโรคเป็นรายการที่ระบุในบัญชียาหลักแห่งชาติ เท่านั้น
"การปรับปรุงสิทธิประโยชน์ในครั้งนี้เป็นการพัฒนาระบบเพื่อให้เกิดการดูแลผู้ป่วยวัณโรคในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างครอบคลุมและทั่วถึง มุ่งการรักษาให้หายขาด รวมทั้งเพิ่มศักยภาพของการคัดกรองวัณโรคในในกลุ่มเสี่ยงโดยเร่งดำเนินการทันที ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นเชื่อว่าจะช่วยผลักดันให้ แผนปฏิบัติการระดับชาติด้านการต่อต้านวัณโรค พ.ศ. 2560-2564 ลดปัญหาการแพร่ระบาดวัณโรคในประเทศไทย" เลขาธิการ สปสช.กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง