ไม่พบผลการค้นหา
หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ได้มอบนโยบายปรับลดงบประมาณจากทุกกระทรวง 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งรวมถึงแต่ละเหล่าทัพด้วย โดยแต่ละกองทัพก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี รีบพิจารณาจัดทำแผนงานการปรับลดงบประมาณปี 2563 เพื่อนำงบที่ปรับลดสนับสนุนรัฐบาลในการแก้ปัญหาไวรัสโควิด-19

โดยแต่ละเหล่าทัพก็ไม่ได้แสดงท่าทีมีปัญหาใดๆ กับนโยบายดังกล่าว 

แม้การ ‘เฉือนเนื้อตัวเอง’ ครั้งนี้ จะกระทบแผนงานต่างๆ แต่เหล่าทัพก็ได้ประเมินผลพวงทั้งหมด เพื่อคงไว้ซึ่งสมรรถนะของกองทัพขั้นพื้นฐานไว้ได้อยู่ เพราะภารกิจด้านความมั่นคงยังคงต้องดำเนินควบคู่กันไป

เริ่มจากกองทัพอากาศ พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ผบ.ทอ. ได้เปิดเผยว่า ทอ. ได้ทำการปรับลดงบประมาณปี 2563 เบื้องต้น 23 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นงบประมาณกว่า 3,301 ล้านบาท พร้อมทั้งชะลอโครงการเกี่ยวกับอาวุธยุทโธปกรณ์ของปี 2563 โดยเลื่อนแผนงานไปปี 2564 แทน

“เรายินดีสำหรับชีวิตและความปลอดภัยของประชาชน และไม่มีความเสียหายที่เกิดกับ ทอ. เพราะยังรักษาระดับความพร้อมไว้ได้ส่วนหนึ่ง ที่เหลือต้องมีการวางแผนทบทวนเล็กน้อย ซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก โดยการเลื่อนโครงการงบประมาณไปในปี 2564 ซึ่งก็อีกไม่กี่เดือน ถ้าคำนวณในแบบงบประมาณของต่างประเทศ ก็เป็นปีปฏิทินเดียวกันคาบเกี่ยวปี 2563-2564 โดยเราตัดไปประมาณ 23 กว่าเปอร์เซ็นต์” พล.อ.อ.มานัต กล่าว

หากย้อนดูสมุดปกขาวของ ทอ. ระบุว่า ในงบปี 2563 มีโครงการ ได้แก่ โครงการจัดหาเครื่องฝึกทดแทน 12 เครื่อง (ผูกพันงบประมาณปี2563-2566) วงเงิน 5,195 ล้านบาท 

โครงการจัดหาเครื่องฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้น T-50 (ระยะที่ 4 ) 2 เครื่อง วงเงิน 2,450 ล้านบาท (ผูกพันงบประมาณ 2563-2565 )

โครงการจัดหาเครื่องบินฝึกนักบินลำเลียงขั้นต้นฝูงฝึกขั้นปลาย 4 เครื่อง วงเงิน 233 ล้านบาท (ผูกพันงบประมาณ ปี 2563-2564)

โครงการพัฒนาและปรับปรุงระบบป้องกันทางอากาศ (ระยะที่ 6) (mid-life Refurbish and upgrade) เรดาร์ป้องกันภัยทางอากาศรุ่น AN/TPS-78 วงเงิน 850 ล้านบาท (ผูกพันงบประมาณปี 2563-2565) 

โครงการจัดหาระบบสำรวจภูมิประเทศด้านความมั่นคงด้วยเครื่องบินลาดตระเวนทางอากาศ 3 เครื่อง วงเงิน 400 ล้านบาท (ผูกพันงบประมาณปี 2563-2565)

สำหรับกองทัพเรือที่มีโครงการขนาดใหญ่จำนวนมาก ทำให้การ ‘เฉือนเนื้อตัวเอง’ มีการพิจารณาทั้งตัวเลขและผลกระทบต่างๆ อย่างหนัก 

เครื่องบิน กองทัพอากาศ ซ้อมสวนสนาม_200116_0004.jpg

โดย พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผบ.ทร. ได้มอบให้ พล.ร.อ.สิทธิพร มาศเกษม เสธ.ทร. นำประชุมพิจารณาในเรื่องนี้ โดยเบื้องต้น ทร. ได้ทำการปรับลดงบประมาณปี2563 ลงไป 33 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นงบประมาณกว่า 4,100 ล้านบาท พร้อมทั้งชะลอโครงการเกี่ยวกับอาวุธยุทโธปกรณ์ปี2563 ไปหลายโครงการ โดยเฉพาะโครงการที่ตกเป็นเป้าตลอดคือ โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำจีน ที่ได้ชะลอการจัดซื้อลำที่ 2-3 ออกไป คิดเป็นงบประมาณ 22,000 ล้านบาท แม้ว่าจะใช้งบของ ทร. เองก็ตามในการจัดซื้อ ทำให้แผนงานต่างๆ ต้องเลื่อนออกไปในปีงบประมาณ2564แทน

รวมถึงการชะลอโครงการก่อสร้างท่าจอดเรือดำน้ำฯ และ โครงการซ่อมบำรุงเรือดำน้ำฯ งบประมาณราว 900 ล้านบาท ที่ต้องปรับลดวงเงินปีแรกลง ทำให้การเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับเรือดำน้ำลำแรก ต้องล่าช้าออกไปด้วย

นอกจากนี้ยังรวมยังไปถึงการชะลอโครงการจัดหา-ปรับปรุงยุทโธปกรณ์ที่สำคัญ เช่น โครงการซ่อมปรับปรุงเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ, โครงการพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูล Network Centric, โครงการจัดหาเครื่องฝึกจำลองยุทธ์, โครงการจัดหาระบบอาวุธปืนรองฯ ตลอดจนโครงการก่อสร้างอาคารพัก 64 ครอบครัว

ทั้งนี้ กองทัพเรือมีโครงการขนาดใหญ่จำนวนมากเพราะการจัดซื้อเรือ แตกต่างจาการจัดซื้อเครื่องบินหรือรถถัง เพราะเรือใช้ระยะเวลาต่อมากกว่าหลายปี ก่อนจะได้เรือรบขนาดใหญ่ อีกทั้งภายในเรือก็มียุทโธปกรณ์ที่หลากหลาย ซึ่งการจัดซื้อจะต้องลงรายละเอียดทั้งหมด จึงทำให้โครงการของ ทร. ผูกพันงบประมาณหลายปีมากกว่าเหล่าทัพอื่นๆ ด้วย

ลือชัย กองทัพ 9107.jpg

ในส่วนของ ทบ. ในฐานะเหล่าทัพที่ใหญ่ที่สุด ยังไม่มีการออกมาชี้แจงตัวเลขการปรับลดงบประมาณปี2563 อย่างเป็นทางการ แต่มีรายงานว่า ทบ. ได้ส่งแผนลดงบประมาณปี 2563 ให้ทางกระทรวงกลาโหมเรียบร้อยแล้ว โดยจะมีการพิจารณาขั้นสุดท้ายอีกครั้ง ซึ่งตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการให้เหล่าทัพหั่นงบประมาณปี 2563 ลง 20เปอร์เซ็นต์ เป็นอย่างน้อย

หากดูแผนงานปี 2563 จะพบว่า ทบ. มีแผนจัดซื้อยานเกราะลำเลียงพล หรือ สไตรเกอร์ ล็อต 2 จำนวน 50 คัน วงเงิน 4,500 ล้านบาท

แผนจัดซื้อปืนใหญ่ขนาด 155 มม. เพื่อทดแทนของเก่า วงเงิน 2,000 ล้านบาท 

โครงการจัดซื้อปืนใหญ่ขนาด 105 มม. วงเงิน 900 ล้านบาท

โครงการจัดซื้อเครื่องบินแบบใช้งานทั่วไปวงเงิน 1,350 ล้านบาท

แผนจัดซื้อรถถัง VT-4 ล็อตที่ 3 วงเงิน 1,600 ล้านบาท

ทหาร กองทัพ รถถัง ยานเกราะ ซ้อมสวนสนามทหารไทย-กองทัพไทย-ทหารเกณฑ์-กลาโหม

แต่สิ่งที่เหล่าทัพต้องเผชิญร่วมกันคือการจัดซื้อยุทโธปกรณ์จากต่างประเทศ สิ่งของเหล่านี้ไม่ได้มีอยู่ในสต็อก ต้องมีการลงนามทำสัญญาการจัดซื้อ การออกแบบ สั่งทำ ถึงจะได้ยุทโธปกรณ์ออกมา ไม่ใช่เพียงสั่งของแล้วได้สินค้ามาทันที ดังนั้นการชะลอจัดซื้อยุทโธปกรณ์ของเหล่าทัพ จึงไม่ได้กระทบแค่ปี2563 แต่กระทบไปยังปีงบประมาณอื่นๆ ด้วย ซึ่งเหล่าทัพก็พร้อมใจชะลอโครงการออกไป เพื่อปรับลดงบประมาณปี2563 ตามมาตรการ ‘รัดเข็มขัด’ ของรัฐบาลในการต่อสู้กับ ‘ศัตรูไร้ตัวตน’ อย่างเชื้อไวรัสโควิด-19

อีกทั้งเกิดจากกระแสกดดันของสังคมที่มีมาก่อนหน้านี้ ให้จัดลำดับ ‘ความสำคัญ’ ในการใช้จ่ายงบประมาณ ซึ่งกองทัพไม่สามารถฟืนกระแสธารนี้ได้ 

ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ เสนอตัดงบแต่ละกระทรวงอยู่ที่ 10 เปอร์เซ็นต์ก่อนขยับขึ้นมา 20 เปอร์เซ็นต์ เพราะวิกฤตครั้งนี้หนักหนายิ่งนัก กระทบต่อทุกวงการอาชีพ ซึ่งต้องปรับตัวและสู้กันอีกยาว

ปริศนา ลายพราง
164Article
0Video
39Blog