ไม่พบผลการค้นหา
เมื่อวานนี้ (13 ก.พ.) เพจเฟซบุ๊ก ‘ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha’ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โพสต์ข้อความโดยไม่มีการระบุแหล่งข่าวอ้างอิงใดๆ ว่าสื่อต่างชาติอย่าง The Financial Times “นำเสนอเนื้อหาชื่นชมประเทศไทยว่ามีการบริหารเศรษฐกิจด้วยความเชี่ยวชาญ และมีความรับผิดชอบเป็นอย่างมาก”

ทั้งนี้ โพสต์เฟซบุ๊กดังกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงปิดช่องแสดงความคิดเห็นเช่นเคย

พล.อ.ประยุทธ์ระบุบนเฟซบุ๊กย้ำว่า “โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับความปั่นป่วนครั้งใหญ่ในหลายๆ เรื่อง ส่งผลให้สามารถพูดได้ว่าเงินบาทเป็นสกุลเงินที่มีความมั่นคงที่สุดเป็นอันดับแรกของโลก และทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อน้อยที่สุดด้วยครับ” 

“ผมมีภารกิจสำคัญ 2 อย่าง คือ การปกป้องชีวิตของพี่น้องประชาชน และการปกป้องเศรษฐกิจ ให้เสียหายน้อยที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ และพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ประเทศไทยอยู่ในจุดที่จะสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วเมื่อวิกฤตโควิดหมดไป” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว “วันนี้ การที่ประเทศไทยของเรา ได้รับการยกย่องเช่นนี้ ถือเป็นความสำเร็จของประเทศ”

อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบข้อเขียนของสำนักข่าว The Financial Times โดย Voice Online แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ได้อ้างอิงแหล่งที่มาของข่าวที่นำมาใช้อ้างความสำเร็จก็ตาม ทาง Voice Online พบว่า พล.อ.ประยุทธ์ น่าจะอ้างถึงข้อเขียน “The Untold Story of the World’s Most Resilient Currency” (เรื่องที่ไม่เคยเล่าของสกุลเงินที่ยืดหยุ่นที่สุดในโลก) บนเว็บไซต์ของสำนักข่าว The Financial Times ซึ่งเขียนโดย รุจิร ชาร์มา บรรณาธิการร่วมของ The Financial Times และเนื้อหาดังกล่าวมิได้มีการชื่นชมรัฐบาลไทยภายใต้ พล.อ.ประยุทธ์แต่อย่างใด

ทั้งนี้ บทความเต็มถูกเขียนและเผยแพร่เมื่อวันที่ 12 ก.พ.ที่ผ่านมาในภาษาอังกฤษ โดยมีเนื้อหาทั้งหมดพูดถึงเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจไทยช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง จนมาถึงการกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้งเมื่อช่วงปี 2542-2543 และไม่ได้มีการชื่นชมนายกรัฐมนตรีไทย และรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ปกครองประเทศมาตั้งแต่ 8 ปีก่อนจนถึงทุกวันนี้ โดยบทความแปลเป็นไทยได้ว่า

“ในเดือน ก.พ. 2541 เมื่อ 25 ปีก่อนในเดือนนี้ ผม (รุจิร) อยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของวิกฤตการเงินในเอเชีย การระเบิดตัวของค่าเงินบาทได้ก่อให้เกิดการล่มสลายของสกุลเงินและตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้ประท้วงตามท้องถนนทั่วภูมิภาคและเกิดความวุ่นวายลุกลาม ในขณะที่ผู้นำโลกพยายามชะลอการบานปลายไปยังทั่วโลก ประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านได้ตกอยู่ในภาวะอันตกต่ำ”

“เศรษฐกิจไทยหดตัวเกือบ 20% เนื่องจากหุ้นที่ร่วงลงมากกว่า 60% และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐฯ รู้สึกได้ว่าราคาข้าวของในกรุงเทพฯ ถูกลงอย่างไม่น่าเชื่อ ผมไม่กล้าซื้อหุ้นไทย ด้วยความรู้สึกกลุ้มใจมาก แต่ผมได้เดินออกมาพร้อมกับถุงช้อปปิ้งหลายใบและชุดตีกอล์ฟสองชุด โดยชุดหนึ่งเอาไว้แจก”

“ในขณะที่เรื่องดรามาในปีนั้นถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ บทส่งท้ายได้สร้างความประหลาดใจ ตั้งแต่ต้นปี 2541 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้จางหายไปจากเรดาร์ทั่วโลก แต่เงินบาทได้พิสูจน์แล้วว่ามันมีความยืดหยุ่นอย่างไม่ธรรมดา โดยมันรักษามูลค่าได้เมื่อเทียบกับเหรียญสหรัฐฯ ดีกว่าสกุลเงินเกิดใหม่อื่นๆ ของโลก และดีกว่าสกุลเงินอื่นทั้งหมดยกเว้นฟรังก์สวิสในประเทศที่พัฒนาแล้ว”

“ในทางตรงกันข้าม ณ อินโดนีเซีย ซึ่งวิกฤตในปี 2541 จากล้มอำนาจเผด็จการซูฮาร์โต ค่าการซื้อขายสกุลรูเปียห์พุ่งสูงเกือบ 15,500 รูเปียห์ต่อเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจาก 2,400 รูเปียห์ก่อนเกิดวิกฤต (แต่) เงินบาทซื้อขายอยู่ที่ 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ไม่ต่ำกว่า 26 บาทก่อนวิกฤต”

“แต่ประเทศไทยแทบไม่รู้สึกว่าราคาข้าวของแพง นักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถหาห้องพักโรงแรมระดับ 5 ดาวได้ในราคาต่ำกว่า 200 เหรียญสหรัฐฯ ต่อคืน อาหารค่ำรสเลิศในภูเก็ตที่ราคา 30 เหรียญสหรัฐฯ แม้ค่าเงินบาทจะแข็งค่า แต่ประเทศไทยก็สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก ศูนย์กลางของวิกฤตกลายเป็นจุดยึดของความมั่นคง และเป็นบทเรียนแก่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่นๆ”

“จนหลังปี 2541 สังคมเกิดใหม่จำนวนมากหันมาใช้การเงินแบบอนุรักษ์นิยม โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ธนาคารในอินโดนีเซียเปลี่ยนจากการบริหารเหมือนคอกสัตว์ที่ปิดทึบ กลายมาเป็นต้นแบบของการจัดการที่ดี ฟิลิปปินส์และมาเลเซียขยับตัวเพื่อควบคุมการขาดดุล แต่ไม่มีที่ใดในภูมิภาคนี้ที่เปลี่ยนแนวทางเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมมากกว่าในประเทศไทย ผ่านการหลีกเลี่ยงการเกิดอัตราส่วนเกิน ที่อาจทำให้คนนอกและถังเงินถังทองเกิดอาการแตกตื่น”

“เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฟื้นตัวในปี 2543 ตั้งแต่นั้นมา การขาดดุลของรัฐบาลไทยมีค่าเฉลี่ย 1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ซึ่งน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของค่าเฉลี่ยสำหรับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ธนาคารกลางก็ระมัดระวังตัวเช่นเดียวกัน โดยคงอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูงและปริมาณเงินในวงกว้างเพิ่มขึ้นที่ 7% ต่อปี ซึ่งต่ำที่สุดเป็นอันดับสามในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่หลัก”

“ผลตอบแทนสูงสุดสำหรับแนวคิดดั้งเดิมทางเศรษฐกิจคืออัตราเงินเฟ้อต่ำ อัตราเงินเฟ้อของไทยมีเฉลี่ยอยู่ที่มากกว่า 2% เช่นเดียวกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นอัตราที่หาได้ยากสำหรับประเทศเกิดใหม่ ในบรรดาประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่นๆ มีเพียงจีน ไต้หวัน และซาอุดีอาระเบียเท่านั้น ที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำกว่าประเทศไทยตั้งแต่ปี 2541”

“ก่อนเกิดวิกฤต ประเทศไทยตรึงเงินบาทไว้กับเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งทำให้สามารถกู้เงินจำนวนมากในต่างประเทศ และขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวนมากได้ เมื่อต่างชาติสูญเสียความเชื่อมั่นในประเทศไทย รัฐบาลจึงถูกบีบให้ถอนหมุดหมาย และปล่อยให้เงินบาทลอยตัวอย่างเสรี ความผิดพลาดมีตามมา แต่เงินบาทจะฟื้นตัวต่อไปและกลายเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่มีความผันผวนน้อยที่สุด”

“รายได้จากต่างประเทศที่มั่นคงช่วยได้ ประเทศไทยยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่เปิดกว้างที่สุด การค้าเพิ่มขึ้นจาก 80% ของ GDP ในปี 2541 เป็นมากกว่า 110% ในปัจจุบัน การขาดดุลจากภายนอกที่คาดการณ์ได้ล่วงหน้าถึงความผิดพลาดทำให้เกิดภาวะเกินดุล เนื่องจากประเทศไทยสร้างจุดแข็งในด้านการท่องเที่ยวและการผลิต ซึ่งช่วยสร้างเศรษฐกิจเป็น 1 ใน 4 ของ GDP”

“ในช่วงวิกฤต ผมขับรถบนทางหลวงสี่เลนสายใหม่ออกจากกรุงเทพฯ เพื่อดูโรงงานต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นบนเนินเขาสีเขียวที่มีเจดีย์รายล้อมอยู่ตามชายฝั่งทะเลตะวันออก ฐานการผลิตในสวรรค์แห่งนี้ยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น จากรถยนต์เป็นชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า และการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศจำนวนมาก”

“ในขณะที่จุดท่องเที่ยวยอดนิยมรอบๆ ภูเก็ตและเกาะสมุยก็ขยายตัวไป พร้อมกับการพุ่งตัวขึ้นมาใหม่ๆ ของภาคบริการทางการแพทย์และสุขภาพ นับตั้งแต่เกิดวิกฤต การท่องเที่ยวได้เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในฐานะส่วนแบ่งของ GDP เป็น 12% และกลายเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ใหญ่จนผิดหูผิดตา ประเทศส่วนใหญ่ที่มีภาคการท่องเที่ยวที่ใหญ่นั้นเป็นเกาะเล็กๆ”

“ประเทศไทยยังมีข้อบกพร่อง ซึ่งรวมถึงหนี้ครัวเรือนที่หนักหน่วงขึ้น และจำนวนประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าประเทศอื่นๆ ในส่วนใหญ่ อย่างไรก็ดี รายได้ต่อหัวของประเทศนี้เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเป็นเกือบ 8,000 เหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจาก 3,000 เหรียญสหรัฐฯ ก่อนเกิดวิกฤต”

“นอกจากนี้ ประเทศไทยมีความมั่นคงทางการเงิน แม้ว่าจะมีความวุ่นวายทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง รวมถึงรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 4 ฉบับในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา ด้วยการเอาชนะความท้าทายที่ฟรังก์สวิสไม่เคยเผชิญมาก่อน เงินบาทได้ปิดตายการอ้างสิทธิ์ที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ ในการเป็นสกุลเงินที่มีความยืดหยุ่นมากที่สุดในโลก และเป็นกรณีศึกษาในด้านบวกของแนวคิดดั้งเดิมทางเศรษฐกิจ”


ที่มา:

https://www.ft.com/content/f280de11-48c7-4526-aa92-ad1e1b7b6ed1?fbclid=IwAR03caGtc1PHb9A95OR7hbU-8D17EGX0SKzQb3TiguLmZLODbU_fxkEf8fM

https://www.facebook.com/prayutofficial/posts/pfbid02zygLT95uXwLKimVgrSsbvdhjdffsS9B2KeA2ZSBrFuFyw7jKXXeQR1vL9UyQqo2Jl