วันนี้ (11 ก.ค.2567) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ร่วมงาน 'ก้าวสู่ปีที่ 36 NBT NEW ERA' ในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนา ครบรอบ 36 ปี ของสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (National Broadcasting Services of Thailand หรือ NBT) ช่อง 11 ณ อาคารศูนย์ปฏิบัติการแพร่ภาพออกอากาศ การกระจายเสียงวิทยุและการให้บริการข้อมูลข่าวสารภาครัฐ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร โดยมีนางสาวจิราพร สินธุไพร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลกรมประชาสัมพันธ์ ให้การต้อนรับ
นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “การเชื่อมโยงการสื่อสารภาครัฐ จากไทยสู่สากล” ว่า เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่วันนี้ได้เป็นสักขีพยานชัตเตอร์ใหม่ของ NBT ขอแสดงความยินดีกับสถานที่ทำงานแห่งใหม่ ที่กว้างขวางในยุคที่ข้อมูลข่าวสารหลากหลาย เพราะสมัยก่อนเราเน้นรับฟังผ่านวิทยุ ทีวี และหนังสือพิมพ์เป็นหลัก ซึ่งต้องมีคนลงพื้นที่ทำข่าวเก็บข้อมูล เป็นอาชีพสายข่าวอย่างจริงจัง แต่ปัจจุบันเราเห็นวิวัฒนาการหรือ Evolution ของการข่าวมาเป็นรูปแบบโซเชียลมีเดีย การแพร่กระจายข่าวได้อย่างรวดเร็วทันใจเป็นข้อดี แต่ก็มีข้อเสียเพราะมีการกุข่าวหรือเฟกนิวส์เป็นระยะ โดยเฉพาะช่วงที่การเมืองร้อนแรง ซึ่งตนเองก็พยายามติดตามตลอด แต่ก็ยังประหลาดใจ เมื่อเห็นข่าวประหลาดๆออกมาบางทีก็ยอมรับว่าคล้อยตาม จึงต้องมีการเช็คข่าวอยู่ตลอดเวลา จึงขอให้ภาครัฐช่วยกันกำกับดูแล แต่ก็ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันมีการแพร่กระจายข่าวอย่างรวดเร็ว การบังคับใช้กฎหมายที่มีระเบียบ มีวินัยต้องทำอย่างรอบคอบก็ต้องใช้เวลา นี่ก็ถือว่าเป็นอีกอย่างหนึ่งที่เป็นห่วงมาก หากประชาชนมีแหล่งข่าวที่ไม่น่าเชื่อถือ ก็จะเป็นปัญหา
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ตนได้มายืนอยู่ NBT ที่กำลังปรับตัวใหม่ ทำให้รู้สึกสบายใจในจุดๆ หนึ่งว่า NBT ยังเป็นช่องทางหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับความตรงไปตรงมากับการสื่อสารข่าวให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบมีการรับฟังข่าวสารต่างๆอย่างเป็นธรรมและเป็นกลาง รัฐบาลก็พยามเดินหน้านโยบายซอฟต์พาวเวอร์และการเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมของประเทศผ่านโครงการ IGNITE THAILAND ซึ่งพยายามที่จะดำเนินการให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี นโยบายนี้จะช่วยยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศไทยอย่างทั่วถึงทุกชุมชน ทุกครอบครัวที่เราจะได้รับประโยชน์ ไม่ใช่กระจุกตัวอยู่แค่เมืองใหญ่อย่างเดียว ดังนั้นการขับเคลื่อนจากตนเองหรือคนใดคนหนึ่งจะผลักดันผู้เดียวไม่ได้ จะต้องเกิดการผลักดันร่วมกับภาคเอกชน หน่วยงาน กระทรวง ทบวง กรม ซึ่งมีหน่วยงานอีกจำนวนมากที่จะต้องช่วยกันผสมผสานแรงกายแรงใจ เพื่อที่จะนำพานโยบายเหล่านี้ให้ไปข้างหน้าได้ ภาคเอกชนมีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์และเครือข่ายที่จะนำไปสู่ผลตอบแทน เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับองค์การต่างๆ อีกมากมาย
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า NBT เป็นสื่อของรัฐที่ช่วยสื่อสารนโยบายดีๆ ให้ความเป็นธรรมหรือเมื่อมีข้อคิดเห็นที่อาจจะขัดแย้งก็ขอให้เสนอตรงไปตรงมาแบบสร้างสรรค์ เป็นกระจกสะท้อนความคิดเห็นประชาชนโดยสมบูรณ์แบบ หาข้อมูลตัวอย่างภายในและนอกประเทศมาวิเคราะห์ ทำให้เนื้อหาที่ออกมาสื่อสารเป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชน สร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชนและเป็นหนึ่งในการคุ้มครองเรื่องเฟกนิวส์ต่างๆให้กับสังคมไทยด้วย เพราะการที่เรามีข้อมูลเยอะ และพยายามสื่อสารข้อมูลให้ครบทุกด้าน จะทำให้ประชาชนมีข้อมูลที่ครบถ้วนสามารถวิเคราะห์ได้ว่าอะไรคือเฟกนิวส์
ทั้งนี้ เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นใน NBT จะสร้าง Impact ในเชิงบวกต่อสังคม ประชาชนและประเทศชาติได้อีกมากมาย ขอให้ช่วยกันเป็นแรงกายแรงใจผลักดันให้มีการเปลี่ยนผ่านเป็นไปได้ด้วยดี