สำนักข่าว Reuters ระบุว่า พรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว จากการมีแนวนโยบายหัวก้าวหน้า ซึ่งรวมถึงข้อเสนอการแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อันมีโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี สำหรับผู้ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์
รายงานระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญไทยมีคำสั่งให้พรรคก้าวไกลละทิ้งแผนการเสนอการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งถือว่าเทียบเท่ากับความพยายามที่จะ "ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" อีกทั้งยังเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ
สำนักข่าว Reuters รายงานว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยได้รับการส่งเสริมให้เป็นศูนย์กลางของอัตลักษณ์ประจำชาติมานานหลายทศวรรษ ทั้งนี้ กฎหมายอาญามาตรา 112 ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีกับประชาชนอย่างน้อย 260 คนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และยังถูกมองในหมู่ผู้นิยมราชวงศ์ว่าละเมิดมิได้
รายงานระบุว่า ข้อเสนอในการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล สร้างความไม่พอใจให้กับฝ่ายอนุรักษ์นิยมไทย อีกทั้งยังส่งผลให้ความพยายามของพรรคก้าวไกลในการจัดตั้งรัฐบาลเมื่อปีที่แล้วประสบกับความล้มเหลว โดยสมาชิกวุฒิสภาที่เป็นกลุ่มพันธมิตรและได้รับการแต่งตั้งจากกองทัพฝ่ายกษัตริย์นิยมของไทย
รายงานระบุเสริมว่า แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะไม่มีอำนาจที่จะกำหนดบทลงโทษต่อพรรคก้าวไกล จากคำตัดสินว่าความพยายามในการเสนอการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น เข้าข่ายการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่นักการเมืองไทยบางรายระบุว่า อาจมีความพยายามทางกฎหมาย ในการแสวงหาการยุบพรรคก้าวไกล และการสั่งห้ามผู้นำทางการเมืองจากการแสดงจุดยืนต่อกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
สำนักข่าว Reuters ระบุว่า คำตัดสินจากศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ถือเป็นจุดพลิกผันครั้งล่าสุดในการต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจในประเทศไทยที่มีมานานร่วม 2 ทศวรรษ ซึ่งทำให้กลุ่มผู้นิยมราชวงศ์ กองทัพ และกลุ่มนายทุนหันมาปะทะพรรคประชานิยมหรือพรรคก้าวหน้าที่ได้รับการเลือกตั้ง
รายงานระบุว่าก่อนหน้านี้ พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นพรรคเดิมก่อนหน้าพรรคก้าวไกล ถูกสั่งยุบพรรคเนื่องจากการละเมิดกฎการให้เงินทุนหาเสียง รวมถึงคำตัดสินตัดสิทธิ์ทางการเมืองต่อ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตผู้นำพรรคอนาคตใหม่ และผู้สมัครท้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากประเด็นเรื่องการถือหุ้น
ที่มา: