'ลาซโล บ็อก' อดีตรองประธานอาวุโสของกูเกิล เตือนผู้หางานให้ระมัดระวังข้อผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ในการเขียนประวัติส่วนตัว เพราะภาพลักษณ์ที่ปรากฏผ่าน 'เรซูเม' อาจส่งผลให้ 'พลาดงาน' แทนที่จะได้รับการจ้างงาน
เว็บไซต์ Inc. เผยแพร่คำแนะนำการเขียนประวัติส่วนตัว หรือ 'เรซูเม' สำหรับสมัครงาน โดยอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของ 'ลาซโล บ๊อก' อดีตรองประธานบริหารฝ่ายปฏิบัติการบุคคลของกูเกิล ยักษ์ใหญ่แห่งวงการอินเทอร์เน็ต ระบุว่า สิ่งที่ต้องระมัดระวังมากที่สุดในการเขียนเรซูเม มีอยู่ 5 ประเด็น และผู้สมัครจะต้องใส่ใจ 5 ประเด็นนี้อย่างเข้มงวด ไม่ให้มีข้อผิดพลาด เพราะพลาดในเรื่องเหล่านี้แล้ว จะส่งผลให้ 'พลาดงาน' แน่นอน พร้อมระบุว่า นี่คือประสบการณ์ส่วนตัวที่เขาได้จากการพิจารณาเรซูเมมาแล้วกว่า 20,000 ฉบับ
ประเด็นแรก "ข้อมูลที่จำเป็นต้องครบถ้วน"
คนจำนวนมากมักจะใส่รายละเอียดส่วนตัว เช่น ชื่อ-นามสกุล และที่อยู่สำหรับติดต่อในเอกสารหน้าแรกเท่านั้น แต่การพิจารณาประวัติส่วนบุคคลอาจแยกเอกสารไปตรวจสอบ บ๊อกจึงแนะนำว่า ผู้สมัครงานต้องเขียนรายละเอียดที่สำคัญเอาไว้ทุกหน้าของเอกสาร และในกรณีที่ส่งเรซูเมผ่านทางอีเมล ควรเซฟเอกสารในสกุล pdf เพราะจะช่วยให้แน่ใจได้ว่าสภาพเอกสารจะไม่เปลี่ยนแปลง และสิ่งจำเป็นอีกอย่างก็คือ เรซูเมจะต้องจัดวางรูปแบบให้อ่านง่าย สะอาดสะอ้าน สบายตา
ประเด็นที่สอง "อย่าเปิดเผยข้อมูลอ่อนไหวของผู้อื่นมากเกินไป"
กรณีนี้บ๊อกพูดถึงผู้สมัครงานในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความลับหรือการเก็บข้อมูลของลูกค้า เช่น ตำแหน่งที่ปรึกษา ถ้าผู้สมัครงานในตำแหน่งนี้เปิดเผยข้อมูลบริษัทหรือลูกค้าที่เคยทำงานด้วย จะดูเป็นเรื่องไม่เหมาะสมและไม่เป็นมืออาชีพ เขายกตัวอย่างผู้สมัครงานบางรายที่บอกว่าเคยทำงานกับลูกค้าที่มาจาก "บริษัทด้านซอฟต์แวร์ยักษ์ใหญ่รายหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่เมืองเรดมอนด์ รัฐวอชิงตัน" ซึ่งทำให้คาดเดาได้ชัดเจนว่าบริษัทดังกล่าวคือ 'ไมโครซอฟท์' แม้ว่าจะไม่ได้เอ่ยชื่อโดยตรงก็ตาม แต่การทำเช่นนี้มีเปอร์เซ็นต์ที่จะทำให้ 'พลาดงาน' มากกว่า
ประเด็นที่สาม "พิสูจน์อักษรคือเรื่องสำคัญ"
การพิมพ์ข้อมูลผิดหรือตกหล่นในเรซูเม อาจจะทำให้ผู้พิจารณาใบสมัครงานเกิดความรู้สึกว่าบุคคลนี้ 'ไม่ใส่ใจ' หรือไม่รอบคอบเพียงพอ และทัศนคติที่เกิดขึ้นเป็นเชิงลบ ย่อมจะส่งผลให้เรซูเมดังกล่าวไม่น่าสนใจ หรือลดทอนความน่าสนใจของประวัติการทำงานที่อยู่ในเรซูเมไปได้มากกว่าครึ่ง ก่อนจะส่งเรซูเมจึงควรอ่านซ้ำ หรือให้เพื่อนๆ ช่วยอ่านทวนด้วย เพื่อตรวจสอบคำผิด ไวยากรณ์ หรือแม้แต่การเว้นวรรคหรือตัดบรรทัด
ประเด็นที่สี่ "อย่าให้ข้อมูลยาวเกินไปโดยไม่จำเป็น"
บ๊อกระบุว่า กฎเหล็กที่ยึดถือในการพิจารณาเรซูเมของเขา คือ ประวัติการทำงาน 10 ปีจะต้องบรรยายให้หมดภายในหน้ากระดาษ A4 เพียง 1 หน้า ไม่ควรเกินกว่านั้น พร้อมระบุว่า เรซูเมเป็นใบเบิกทางหรือเครื่องมือดึงดูดความสนใจเพื่อให้บริษัทต่างๆ เรียกผู้สมัครไปสัมภาษณ์งาน การเขียนข้อมูลเท่าที่จำเป็น และเก็บรายละเอียดเรื่องประสบการณ์การทำงานไปบอกเล่าในช่วงสัมภาษณ์จะเป็นเรื่องที่ดีกว่า และเอกสารที่สั้น กระชับ จะช่วยให้อ่านง่าย ไม่เสียเวลา
ประเด็นที่ห้า "อย่าโกหก"
จากประสบการณ์นานปีของบ๊อก เขาระบุว่า ผู้สมัครงานมักจะเขียนเรื่องโกหกมากมายลงในเรซูเม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกรดเฉลี่ย ประสบการณ์การทำงาน หรือแม้แต่วุฒิการศึกษา แต่ข้อมูลเท็จเหล่านี้จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงตามมา เพราะไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว คำโกหกก็มักจะถูกเปิดโปงเสมอ และไม่ว่าการโกหกข้อมูลจะเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยก็ตาม แต่ก็เป็นภาพสะท้อนว่า ผู้สมัครไม่ได้ยึดมั่นเรื่องคุณธรรมจริยธรรมมากนัก และผู้ว่าจ้างส่วนใหญ่ก็คงจะไม่อยากได้พนักงานที่ไม่มีคุณสมบัติทั้งสองอย่างที่ว่ามา
ส่วนประเด็นอื่นๆ ที่บ๊อกเตือนเพิ่มเติม ก็คือเรื่องการอัปเดตข้อมูลส่วนตัวให้ทันต่อเหตุการณ์ เช่น การใช้อีเมลที่ไม่ค่อยมีผู้ใช้งานมากนักในปัจจุบันเพื่อสมัครงาน เช่น AOL หรือ hotmail อาจมีผลต่อภาพลักษณ์ของผู้สมัครว่าเป็นคนที่ไม่สนใจเรื่องเทคโนโลยี
ถ้าเป็นกรณีที่ผู้ว่าจ้างขอข้อมูลสื่อสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก บล็อก ทวิตเตอร์ หรือเว็บไซต์ เพิ่��เติมจากประวัติการศึกษาหรือประสบการณ์การทำงาน ก็ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าข้อมูลที่เผยแพร่ในสื่อต่างๆ เหล่านี้ มีความเหมาะสมกับคุณวุฒิหรือวัยวุฒิของผู้สมัครงาน เพราะข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์คือสิ่งหนึ่งที่จะสะท้อนทัศนคติของผู้สมัครงาน รวมถึงสะท้อนวิธีการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบตัวด้วย