แอปฯ สลับหน้าดาราในหนัง เข้าข่าย 'ดีปเฟก' สร้างความกังวลต่อความเป็นส่วนตัวของข้อมูล และภัยไซเบอร์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น เมื่อดีปเฟกพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ
‘เจ้า’ (Zao) เป็นแอปพลิเคชันจากจีน ซึ่งให้ผู้ใช้อัปโหลดรูปภาพของตัวเอง แล้วแอปฯ จะตัดต่อใบหน้าผู้ใช้ไปสลับกับของดาราในคลิปจากภาพยนตร์ราวกับเป็นนักแสดงเอง โดยภาพในแอปฯ มีฉากจากละครโทรทัศน์และภาพยนตร์หลายร้อยเรื่องเช่น ไททานิกและเกมออฟโธรนส์ ให้ผู้ใช้เล่นสลับใบหน้าได้ฟรี
การใช้แอปฯ ดีปเฟกฟรีนี้ ผู้ใช้งานจะต้องล็อกอินด้วยเบอร์โทรศัพท์ อัปโหลดรูปหรือถ่ายรูปต่างคำสั่ง เช่น ถ่ายขณะอ้าปากหรือกะพริบตา ป้อนเข้าไปในแอปฯ เพื่อเป็นข้อมูลให้เอไอประมวลผลและตัดต่อเข้ากับวิดีโอของดาราได้
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่าหลังจากแอปฯ นี้เปิดตัวในวันที่ 30 สิงหาคม ก็ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศจีน และภายในสามวันก็ขึ้นเป็นแอปฯ ฟรีที่มียอดดาวน์โหลดสูงสุดในไอโอเสแอปฯ สโตร์ ของจีน ในวันที่ 1 กันยายน
ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อมีคนสังเกตว่านโยบายด้านความเป็นส่วนตัวของแอปฯ นั้น ระบุว่าทางบริษัทเจ้าของแอปฯ Zao มีสิทธิขาดโดยสมบูรณ์ต่อรูปภาพที่อัปโหลดเข้าไปในแอปฯ โดยกำกับว่าทางบริษัทจะได้สิทธิใช้รูปภาพเหล่านี้โดยถาวร โดยสามารถส่งต่อให้ใครก็ได้ด้วย และผู้ใช้แอปฯ ไม่สามารถเพิกถอนสิทธิในรูปภาพเหล่านี้ได้ นั่นหมายความว่ารูปภาพของผู้ใช้แอปฯ จะกลายเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่ทางบริษัทสามารถขายข้อมูลต่อให้ใครก็ได้
เงื่อนไขดังกล่าวส่งผลให้แอปฯ เจ้าถูกรีวิวในด้านลบกว่า 4,000 ครั้ง กระทั่งเหลือคะแนนเพียง 1.9 ดาวเต็ม 5 ภายหลังทางบริษัทจึงปรับแก้ข้อตกลงผู้ใช้งานใหม่ในวันที่ 3 กันยายน พร้อมแจ้งว่าจะไม่ใช้งานภาพหรือวิดีโอจากผู้ใช้งานแอปฯ โดยผู้ใช้ไม่ยินยอม นอกจากการใช้เพื่อพัฒนาแอปฯ เท่านั้น และหากผู้ใช้ลบข้อมูลตัวเองออกจากแอปฯ ทางบริษัทก็จะลบข้อมูลผู้ใช้ออกจากเซิร์ฟเวอร์ตัวเองด้วย
กรณีของแอปฯ Zao สร้างความตระหนักต่อความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานและทำให้เกิดคำถามต่อดีปเฟกอีกครั้ง
ดีปเฟก (deepfake) คือการใช้เทคโนโลยีเอไอมาตัดต่อปลอมแปลงภาพ วิดีโอ หรือเสียง ด้วยการใช้การเรียนรู้ของเครื่องหรือแมชชีนเลิร์นนิง (machine learning) ซึ่งเป็นการสร้างอัลกอริทึม โดยต้องป้อนข้อมูลที่มากเพียงพอให้เอไอเรียนรู้
กล่าวคือในกรณีของแอปฯ วิดีโอดีปเฟกแบบ Zao นั้นต้องมีการป้อนภาพหรือวิดีโอให้มากเพียงพอที่แอปฯ จะสร้างใบหน้าของเราขึ้นมาใหม่ในวิดีโอที่ต้องการ ซึ่งในอดีตนั้นจำเป็นต้องใช้ข้อมูลภาพนับร้อยๆ ภาพในการสร้าง ทำให้ดีปเฟกมักถูกนำไปใช้ในการตัดต่อบุคคลที่มีชื่อเสียงซึ่งมีภาพและวิดีโอจำนวนมากในโลกออนไลน์ เช่น การทำคลิปโป๊ปลอมของดารา หรือการทำคลิปปลอมของนักการเมืองเพื่อทำลายชื่อเสียง ทว่าในปัจจุบันการทำคลิปดีปเฟกด้วยแอปฯ อย่าง Zao กลับใช้เพียงไม่กี่ภาพเท่านั้น
อีกหนึ่งความกังวลนอกจากการทำลายชื่อเสียงด้วยคลิปปลอมนั้น คือการนำภาพจำลองเหล่านี้ไปใช้ในการปลดล็อกอุปกรณ์อิเล็กทรอกนิกส์หรือการทำธุรกรรมทางการเงิน อย่างไรก็ตาม อาลีเพย์ (Alipay) แอปฯ ชำระเงินที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในจีน ระบุว่าในปัจจุบัน ไม่ว่าแอปฯ สลับหน้าจะชาญฉลาดแค่ไหนก็ไม่สามารถหลอกระบบชำระเงินของอาลีเพย์ได้
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้เคยมีกรณีคล้ายคลึงกันกับแอปฯ Zao เกิดขึ้นแล้วกับเฟซแอป (FaceApp) ซึ่งให้ผู้ใช้อัปโหลดรูปภาพแล้วแอปฯ จะแปลงเพศหรือเปลี่ยนใบหน้าผู้ใช้ให้ดูแก่ลง ซึ่งในเงื่อนไขการใช้งานระบุว่าทางบริษัทผู้พัฒนาจะได้สิทธินำรูป ชื่อ และชื่อบัญชีผู้ใช้ไปใช้งานเพื่อทำกำไรได้ในลักษณะเดียวกับแอปฯ Zao