นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ทั่วประเทศและการปรับฐานเงินเดือนผู้จบปริญญาตรีอย่างต่ำ 15,000 บาท ของพรรคเพื่อไทย กำลังจะกลายเป็นปัญหาระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง โดยสภาอุตสาหกรรมก็ออกมาคัดค้านในนโยบายนี้ เพราะเห็นว่าจะเป็นการเพิ่มภาระต้นทุนให้ฝ่ายนายจ้าง ขณะเดียวกันสภาพเศรษฐกิจของประเทศก็ยังไม่พร้อมที่จะขึ้นค่าแรงอย่างรวดเร็วได้ทันที จึงเสนอให้รัฐบาลเพื่อไทยได้ทบทวนนโยบายนี้
แต่ขณะเดียวกันก็มีสถานประกอบการที่ยินดีจะปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าว นโยบายขึ้นค่าแรงจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ และมีข้อดีข้อเสียอย่างไร วันนี้ (14 กรกฎาคม 2554) รายการ Hot Topic ร่วมพูดคุยกับ นายประสม ประคุณสุขใจประธานกรรมการ บรัษัท ศึกษาภัณฑ์ขอนแก่น จำกัด และตัวแทนจากสภาอุตสาหกรรม นายเอกพร โฆษะครรชิต รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยสายแรงงาน
นายเอกพร กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับนโยบายขึ้นค่าแรงของรับบาลพรรคเพื่อไทย เพราะการปรับขึ้นค่าแรงนั้นควรให้ดำเนินไปตามกลไกตลาด ที่มาจากสภาพเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ คุณภาพชีวิต การขยายตัวเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อ จะทำทันทีไม่ได้ ต้องค่อยเป็นค่อยไป และควรมองถึงนายจ้างหรือสถานประกอบการที่ต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีที่ปัจจุบันมีกำไรน้อยอยู่แล้ว และต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูง และแม้ว่าจะมีการลดภาษีนิติบุคคล เพื่อลดภาระให้ผู้ประกอบการ แต่ผู้ที่ได้ประโยชน์ที่แท้จริงจะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้น
ทางด้านนายประสม ที่ได้สนองนโยบายของรัฐบาลใหม่ โดยการนำร่องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท ให้แก่พนักงานของ บริษัท ศึกษาภัณฑ์ขอนแก่น จำกัด และบริษัทฯ ในเครือ ทั้งหมด 300 คน เนื่องจาก มั่นใจในรัฐบาลเพื่อไทยของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สามารถนำพาเศรษฐกิจประเทศไทยเจริญก้าวหน้าได้ และเหมาะสมในการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท และเขาก็ได้ปรับตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค.ตั้งแต่รู้ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการแล้ว
Produced by VoiceTV