การประกาศตัวเลขผลประกอบการไตรมาสที่ 4 ของปีที่ผ่านมา ตอกย้ำความสำเร็จของไอโฟน 6 ที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้ว แต่ในไตรมาสล่าสุดนี้ มีสัญญาณหนึ่งที่ชัดเจนมาก ว่าแอปเปิล ประสบความสำเร็จแบบก้าวกระโดดที่สามารถเจาะตลาดจีนได้สำเร็จ
ประกาศผลประกอบการไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่เดือน ตุลาคม จนถึงวันที่ 27 ธันวาคม 2557 รายได้ของ Apple ที่ 74,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท และกำไรที่เพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ถึง 540,000 ล้านบาท รายได้และกำไรที่ว่ามา มาจากสินค้าหลักอย่าง iPhone 6 และ iPhone 6 Plus ซึ่งสร้างยอดขายรวมกว่า 74.5 ล้านเครื่อง
เหตุผลหลักที่ทำให้กำไรของ Apple พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ มาจาก ยอดขาย iPhone 6 และ 6 plus ในจีนในไตรมาสล่าสุด เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4 ของปี 2556 ถึง 70%
ก่อนหน้านี้ ไม่มีแบรนด์สมาร์ทโฟนต่างชาติ ที่สามารถเจาะตลาดจีนได้ จะมีเพียงแต่แบรนด์ซัมซุงเท่านั้น ที่ชนะใจ นอกนั้นก็จะเป็นมือถือแบรนด์ของจีนอย่าง เลอโนโว เสียวหมี่ และหัวเว่ย และมือถือส่วนใหญ่ก็ล้วนแล้วแต่มีหน้าจอขนาดใหญ่ทั้งสิ้น
เมื่อดูตลาดสำคัญอย่างจีน ซึ่งสร้างรายได้ให้กับ Apple นั้นพบว่า รายได้ของ Apple เฉพาะในจีน ฮ่องกง ไต้หวัน ไตรมาส 4/2014 ซึ่งมียอดขายของไอโฟน 6 และ 6 พลัสด้วย อยู่ที่ 16,100 ล้านดอลลาร์ หรือ 523,250 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวของปีก่อน (ไตรมาส4/2013) ซึ่งอยู่ที่ 5,733 ล้านดอลลาร์ หรือ 186,322 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 64.3% ซึ่งนี่คือรายได้ที่เกิดจากการขายทุกผลิตภัณฑ์ของ Apple ในจีน
หากเรามาดูยอดขายที่เพิ่มขึ้นเฉพาะ iPhone กันบ้างพบว่า ในไตรมาส ที่ 4/2014 ที่เพิ่งประกาศรายได้ไปนั้น ยอดขาย iPhone อยู่ที่ 74.5 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 120% ซึ่งขายได้เพียง 33.8 ล้านเครื่องเท่านั้น
คุณชาคริต จันทร์รุ่งสกุล ออนไลน์กูรูของ วอยซ์ มาร์เก็ต ระบุว่า นี่ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของ Apple ที่ชัดเจน ภายใต้การนำของ ทิม คุก ที่เขามีวิสัยทัศน์ที่แตกต่างกับ สตีฟ จ๊อบส์ มาโดยตลอด ในแง่ของการสร้างแบรนด์ โดย สตีฟ จ๊อบ เน้นในเรื่องการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ใช้เวลาในการออกสินค้าแต่ละตัวค่อนข้างพิถีพิถัน และ Life Cycle ของสินค้าแต่ละรุ่นค่อนข้างนานกว่า บางตัว Life Cycle มากกว่า 7 เดือน ถึง 1 ปี จึงจะออกผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ได้ นี่เป็นกลยุทธ์การตลาดอีกอย่างหนึ่งที่เน้นสร้างแบรนด์ด้วยแบรนด์จริงๆ เมื่อแบรนด์ดี ยอดขายจะตามมาเอง
ในขณะที่วิสัยทัศน์ของ ทิม คุก เน้นการผลิตสินค้าแบบตามใจเทรนด์ผู้บริโภค สินค้าบางตัว Apple เป็นผู้นำ และเมื่อเห็นว่าเทรนด์ที่มานั้นไม่ใช่ Apple ก็ยอมเป็นผู้ตาม คุณชาคริต ออนไลน์ กูรู บอกว่า ยุคของ ทิม คุก เป็นยุคของการพิมพ์เงิน สร้างกระบวนการผลิตและขายให้เต็มที่ เจาะตลาดขนาดใหญ่ ที่รู้ว่าเจาะยาก แต่หากมีศักยภาพ เขาก็จะทำ ซึ่งในที่สุด เขาก็ทำสำเร็จแล้ว ในปีที่ผ่านมา