“ผู้หญิง” กับ “แฟชั่น” นับเป็นสองสิ่งที่คู่กันแบบแยกไม่ออก ดั่งสุภาษิตไทยคุ้นหูที่ว่า “ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง” ยิ่งถ้าหากผู้หญิงผู้นั้น เป็น “บุคคลสาธารณะ” และอยู่ในพื้นที่แห่งการจับจ้อง การแต่งกายและรูปลักษณ์ภายนอกของเธอ ก็จะถูกจับตามอง ตั้งแต่หัวจรดเท้า ไล่ตั้งแต่การแต่งหน้า ทรงผม เครื่องประดับ ไปจนถึงแบรนด์ต่างๆ ของเสื้อผ้า เข็มขัด และรองเท้าที่เธอสวมใส่
“ผู้ชาย” กับ “การเป็นผู้นำ” สองสิ่งที่มักเป็นเส้นทางร่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาชีพนักการเมือง ซึ่งกลายเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ที่เพศชายถือครอง อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ผู้ชาย จะอยู่ในพื้นที่แห่งการจับจ้อง แต่หากมองในมิติด้านแฟชั่นแล้ว พบว่าการลักษณะการแต่งกายของผู้ชายส่วนใหญ่มีแบบแผนชัดเจน ทำให้ไม่ถูกจับจ้องชนิดไม่วางตาเหมือนการแต่งการของผู้หญิง
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อ “ผู้หญิง” ขึ้นเป็น “ผู้นำ” เรื่องการแต่งกาย ที่เคยเป็นเพียงการสวมใส่เครื่องนุ่งห่มตามความเหมาะสมของกาลเทศะ กลับถูกพ่วงเข้ากับเรื่อง “แฟชั่นในเชิงสัญญะ” อาทิ การที่ผู้นำหญิงระดับประเทศ เลือกใส่เสื้อผ้าแบรนด์ต่างชาติ แทนที่จะสนับสนุนห้องเสื้อในประเทศ อาจทำให้เธอถูกวิพากวิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว นักการเมืองหรือผู้นำชายจำนวนมาก ก็ไม่ได้สวมใส่เสื้อผ้าพื้นถิ่น ที่ผลิตขึ้นในประเทศของตัวเอง
การจับจ้องไปที่การแต่งกายของผู้นำสตรี เกิดขึ้นในประเทศไทย ทันทีที่ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนใหม่ และเป็นที่มาของรายการคิดเล่นเห็นต่าง กับ คำผกา ตอน “แฟชั่น กับ ผู้นำหญิง” กับการนำข้อมูลที่น่าสนใจ เกียวกับการแต่งกายของผู้นำหญิงในประเทศต่างๆ ทั้งที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และสตรีหมายเลข 1 ของประเทศมหาอำนาจ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่พวกเธอมีเหมือนๆ กัน คือความหลงใหลในแฟชั่น โดยเฉพาะแบรนด์ระดับโลก
ความรักสวยรักงามของสตรี และแฟชั่นที่เธอเลือกใช้ จะส่งผลอย่างไรกับสถานภาพที่เธอดำรงอยู่ ติดตามได้ในรายการคิดเล่นเห็นต่างกับคำผกา ตอน “แฟชั่น กับ ผู้นำหญิง” แล้วคุณจะรู้ว่า เอกลักษณ์ของสตรีเพศ ที่หลาย ๆ คนเคยพูดเอาไว้ว่า “ไม่ว่าผู้หญิงจะดำรงตำแหน่งใด สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ความสวยความงาม” คำพูดนี้เป็นความจริง
Produced by VoiceTV