รายการ Talking Thailand ประจำวันที่ 29 ตุลาคม 2563
นักวิเคราะห์ Talking Thailand มองตรงกัน! ตั้งกรรมการสมานฉันท์ส่อไม่จริงใจ และช่วย “ประยุทธ์” ยื้อเวลา [แอดว่ามองจากดาวอังคารก็ยังรู้]
ยิ่ง “ราเมศ” พูดอวยนาย ย้ำ! “จุรินทร์” เป็นคนชง! ถูก “อ.วิโรจน์” สอนมวยอย่าทำหล่อ ทีคนอื่นใช้กลไกสภาแก้ปัญหา แต่คนในประชาธิปัตย์ ไม่ใช่หรือที่สร้างปัญหา จน “ประยุทธ์” ออกมายึดอำนาจ…ขณะที่ฝ่ายค้านขอพิสูจน์ความจริงใจก่อน
นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ข้อเสนอตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคฯ ถือว่าได้เสียงตอบรับ เห็นพ้องจากทุกฝ่ายเป็นอย่างดี มีเจตนารมณ์ ต้องการให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมแก้ปัญหาหาทางออกให้ประเทศ / การพูดคุยเพื่อแสวงหาความเห็นพ้องต้องกันจากทุกฝ่าย จะทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชนและประเทศ ระหว่างนี้รอประธานรัฐสภา ดำเนินการเรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการ ที่ได้ประสานสถาบันพระปกเกล้า ที่มีผู้ทรงคุณวุฒิศึกษารูปแบบและโครงสร้างของคณะกรรมการ /โดยที่พรรคฯ เตรียมข้อมูลสนับสนุนการพิจารณาเบื้องต้นของคณะกรรมการชุดที่จะเกิดขึ้น ตามเจตนารมณ์ของนายจุรินทร์
ส่วนที่มีความเป็นห่วงว่าฝ่ายค้านและผู้ชุมนุมจะไม่เข้าร่วมนั้น ส่วนตัวไม่อยากให้คิดไปก่อนล่วงหน้า เพราะจากการพูดคุยกับหลายคนที่อยู่ฝ่ายค้าน เห็นด้วยที่จะเข้ามามีส่วนร่วม และเชื่อว่าตัวแทนผู้ชุมนุมก็จะส่งตัวแทนมาร่วมด้วย
"การตั้งต้นด้วยการยึดประโยชน์ประเทศ เชื่อว่าไม่มีใครปฏิเสธ มาช่วยกันคิด ร่วมกันทำ เมื่อเห็นพ้องต้องกันแล้ว ผู้ที่มีหน้าที่ก็ปฏิบัติให้เกิดผลตามแนวทางที่เห็นพ้องกัน ก็จะทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้"
ด้าน นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย และรองประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ รับแนวคิดของพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ เป็นเพียงการซื้อเวลาเท่านั้น เพราะหากประมวลข้อเสนอแนะจากพรรคฝ่ายค้านในการอภิปราย เชื่อว่าจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้
ที่ผ่านมาช่วงที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช.เรืองอำนาจ ได้มอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เรียกทุกกลุ่มการเมือง พรรคการเมือง และประชาชนในหลายพื้นที่ มาให้ข้อมูล เพื่อจัดทำรายงาน สร้างความสามัคคีปรองดอง ก่อนจะสรุปความคิดเห็นร่างสัญญาประชาคม นำเสนอต่อประชาชน อยากทราบว่ารายงานฉบับนั้นอยู่ที่ไหน โดยครั้งนั้นใช้งบฯ จัดทำมหาศาล จึงอาจเข้าข่ายการใช้งบฯ ที่สูญเปล่า
และการตั้งคณะกรรมการฯครั้งนี้ ก็ไม่น่าจะต่างกัน เพราะไม่มีหลักเกณฑ์ว่าจะเชิญกลุ่มไหนมา จะใช้อะไรเป็นแนวทางแก้ความขัดแย้ง / ตอกย้ำว่าแนวคิดตั้งคณะกรรมการฯ เพื่อซื้อเวลามากกว่าจริงใจแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
“การประชุม 2 วันที่ผ่านมา มีเพียงเรื่องเดียวที่รัฐบาลรับปากคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่ชัดเจนว่าจะเริ่มเมื่อใด ใช้เวลานานเท่าใด เพราะหากทำตามข้อเสนอของนายวิษณุ คาดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี ซึ่งประชาชนคงไม่ยอม สิ่งจะคลี่คลายปัญหาได้ดีที่สุดคือ ความจริงใจและมีระยะเวลาที่แน่นอน รัฐบาลต้องมีเป้าหมายชัดเจน อย่าหลักลอยเพราะไม่เกิดประโยชน์กับฝ่ายใดเลย”
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่าขอดูในรายละเอียด โครงสร้างของคณะกรรมการสมานฉันท์จะเป็นอย่างไร ประกอบด้วยใครบ้าง มีสัดส่วนอย่างไร มีจุดประสงค์อะไร และเนื้อหาในการดำเนินการคืออะไร ซึ่งจากการอภิปรายที่ผ่านมายังไม่ได้ลงรายละเอียด และประธานรัฐสภา ยังไม่ได้ระบุว่า ตามข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา ข้อ 55 (6) เรื่องอำนาจการตั้งคณะกรรมการมีเนื้อหาเป็นอย่างไร เห็นว่าต้องหารือในรายละเอียดอย่างระมัดระวัง
นายพิธา ยอมรับกังวลว่าการตั้งคณะกรรมการชุดนี้ อาจเป็นการยื้อเวลา ต้องไปดูองค์ประกอบคณะกรรมการ เพื่อตัดสินใจว่าจะแก้ปัญหาให้กับบ้านเมืองได้จริงหรือไม่ หรือเป็นการประวิงเวลา และเพิ่มความขัดแย้งให้บ้านเมืองอย่างที่เคยมีมา แต่หากเป็นการยื้อเวลา หรือยึดอำนาจ ก็ไม่ต้องการให้คณะกรรมการชุดนี้เป็นเครื่องมือ ย้ำว่าจะพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบถี่ถ้วน
ด้านนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวในทำนองเดียวกันว่าการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ต้องไม่ใช่เพื่อซื้อเวลาให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แต่ต้องปลดล็อกความขัดแย้งในสังคม ขั้นตอนแรกจำเป็นต้องปลดล็อก พล.อ.ประยุทธ์ ออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีก่อน ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถคลี่คลายความขัดแย้งที่มีอยู่ได้เลย รวมทั้งจะมีปัญหาความชอบธรรมในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย หากนายกรัฐมนตรี คือ คนที่เคยเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร
“เมื่อปลดแล้ว การเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ต้องไม่ใช้เสียง ส.ว. และต้องไม่ใช่การมีนายกฯ คนนอก หรือเป็นรัฐบาลแห่งชาติ แต่ใช้เสียง ส.ส.โหวตเลือกกันเองได้เลย พรรคก้าวไกล พร้อมยกมือโหวตเลือกนายกฯ คนใหม่ แม้ว่าจะไม่ได้ร่วมรัฐบาลก็ตาม นายกฯ คนใหม่ ต้องมาจากการตกลงเลือกกันของพรรคการเมืองที่มี ส.ส.ในสภา ได้รับการยอมรับจาก ส.ส. ทั้งจะมาจากบัญชีแคนดิเดต ของเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ หรือภูมิใจไทยก็ตาม เพราะพรรคก้าวไกล ไม่มีบัญชีแคนดิเดตนายกฯ”
คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ที่อาศัยอำนาจประธานรัฐสภาแต่งตั้ง ต้องไม่มีสัดส่วนจากคณะรัฐมนตรี ต้องไม่ไปผูกติดกับการคงอยู่ของคณะรัฐมนตรีชุดนี้ แต่สัดส่วนความเหมาะสมของคณะกรรมการจะเป็นอย่างไรให้อยู่ที่ประธานรัฐสภาพิจารณา โดยจะมีนักวิชาการ นิสิตนักศึกษา NGOs ประชาชน ฯลฯ
“การมีคณะกรรมการชุดนี้ กระบวนการเป็นเรื่องที่สำคัญมาก จำเป็นต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัย ในหัวข้อที่มีความเห็นขัดแย้ง ทั้งรูปแบบของวงปิดหรือเวทีสาธารณะ และใช้กลไกประชาธิปไตยในการจัดรูปแบบได้ / คณะกรรมการชุดนี้ควรมีส่วนเปิดพื้นที่พูดคุยในประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างปลอดภัย หากไม่มีเรื่องนี้ก็ไม่จำเป็น ต้องมีคณะกรรมการชุดนี้ เพราะตอนนี้ ประเด็นนี้คือเรื่องที่สำคัญของปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทย”