รายการ Talking Thailand ประจำวันที่ 24 สิงหาคม 2563
นักวิเคราะห์ Talking Thailand มองท่าที ส.ส.พลังประชารัฐ โดยเฉพาะ “วทันยา วงศ์โอภาสี” พูดสวย! จี้รัฐบาลฟังเสียงสังคมก่อนเคาะซื้อเรือดำน้ำ “คำผกา” เชื่อ พูดเพื่อลดกระแสคนเชียร์ “ประยุทธ์” ที่ไม่โอเคปมเรือดำน้ำ
“ใบตองแห้ง” นับวันให้ถ้าเคาะผ่าน 18 ก.ย. ก็รอม็อบใหญ่ 19 ก.ย. ได้เลย
นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานอนุ กมธ. ครุภัณฑ์ ไอซีที รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน ใน กมธ.พิจารณาร่างพ.ร.บ.งบฯ ปี 64 สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึง กรณี ”บิ๊ก ป.” ในรัฐบาลโทรศัพท์สั่งการให้ อนุ กมธ. ครุภัณฑ์ฯ โหวตเห็นชอบจัดซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำของกองทัพเรือ วงเงินรวม 22,550 ล้านบาท ว่า เรื่องนี้ทุกคนรู้กันทั้งห้อง ในช่วงที่อนุ กมธ. พักประชุมก่อนจะลงมติ มีการเรียกอนุ กมธ. ฝ่ายรัฐบาลไปคุยกัน เชื่อว่าล็อบบี้กันช่วงนั้น
มีเพื่อนอนุ กมธ. ซีกรัฐบาล บอกว่า บิ๊กรัฐบาลโทรศัพท์มาล็อบบี้ให้โหวตซื้อเรือดำน้ำ จึงเชื่อว่า มีล็อบบี้แน่นอน เพราะเมื่อ 17 ส.ค. 63 ที่ประชุมอนุ กมธ.ประชุมกัน ไม่มีใครเห็นด้วย แต่กองทัพเรือยืนยันความจำเป็น เพราะสัญญาจีทูจีผูกพัน มีเอกสารการลงนามระหว่างพล.อ.ประยุทธ์ กับ รมว.กลาโหมจีน ที่ประชุมจึงมีมติให้แขวนเรื่องนี้ไว้ก่อน โดยให้กองทัพเรือนำเอกสารมาชี้แจง ครั้งถัดไป
ต่อมาเมื่อวันที่ 21 ส.ค. กองทัพเรือนำเอกสารมาชี้แจง แต่เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า มีแค่ระบุว่า ให้ซื้อเรือดำน้ำลำที่ 1 แค่ลำเดียว ไม่ได้ข้อผูกพันว่า ต้องซื้อลำที่ 2 และ 3 และเอกสารที่ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ลงนามกับ รมว.กลาโหมจีน ไม่เกี่ยวข้องกับการซื้อเรือดำน้ำ
ที่สำคัญเอกสารลงนามซื้อเรือดำน้ำ ลำแรก ที่ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผบ.ทร. ไปลงนามจัดซื้อนั้น ลงนามกับบริษัท ไชน่า ชิป บิ้วดิ้ง ออฟชอว์ ถึงอ้างว่าเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่ไม่ใช่รัฐบาลจีน ถือเป็นการลงนามไม่ถูกต้อง ซึ่งคำพิพากษาศาลฎีกาเคยระบุไว้ในคดีจำนำข้าวว่า การทำจีทูจีต้องเป็นการทำระหว่างรัฐต่อรัฐ เท่านั้น เรื่องนี้ต้องถึง ป.ป.ช. เพราะเป็นการกระทำผิดกฎหมาย
และช่วงที่อนุ กมธ. ลงมติแล้วคะแนนเสมอกัน 4 ต่อ 4 นั้น ได้ขอร้องนายสุพล ฟองงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธาน อนุ กมธ. อย่าลงมติตัดสิน ให้นำไปหาข้อยุติในที่ประชุม กมธ.งบประมาณฯ ชุดใหญ่ แต่นายสุพล ไม่ยอม และลงมติเห็นชอบจัดซื้อ ดังนั้นการประชุม กมธ.งบฯ ชุดใหญ่ 26 ส.ค.นี้ จะขอให้ทบทวน มติของ อนุ กมธ.เพราะกองทัพเรือชี้แจงไม่เคลียร์ สัญญาจีทูจีไม่มีผลผูกพันกับการซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3 ถึงเป็นงบฯ เดิมที่ตั้งไว้ตั้งแต่งบฯ ปี 63 แต่ขณะนี้ปี64 วิกฤติโควิดยังอยู่ อยากให้เลื่อนการจัดซื้อ
ต่อมานายสุพล กล่าวยืนว่า ไม่มีโทรศัพท์จาก นายพล ป. ติดต่อในระหว่างพิจารณาจัดซื้อเรือดำน้ำ และไม่มีโอกาสรับโทรศัพท์ในหน้าที่ การออกมาพูดของนายยุทธพงศ์ไม่มีมารยาท เป็นการปั้นน้ำเป็นตัว ส่วนกรณีจัดซื้อแบบจีทูจีนั้น เป็นเรื่องกองทัพเรือ ต้องตอบ ไม่ใช่หน้าที่คณะอนุฯ กมธ. นายสุพล กล่าวถึงเหตุผลในการโหวตเห็นชอบฯ ว่า เป็นการตัดสินใจที่ยากลำบาก ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจากที่ฟังเสียงส่วนใหญ่ก่อนหน้านี้ ไม่เห็นด้วย แต่กองทัพเรือได้ชี้แจงถึงเหตุผลแล้ว
แต่ทั้งนี้งบฯ ส่วนนี้เมื่อปี 63 กองทัพเรือ ได้คืนให้รัฐบาล มาใช้ดูแลผลกระทบจากโควิด เป็นสาเหตุที่ทำให้ตัดสินใจโหวตผ่าน จากที่คะแนนเสมอ 4-4 เป็นการใช้อำนาจชี้ขาด และยังสังกัดพรรครัฐบาลด้วย จากนี้คณะ กมธ.งบฯ ชุดใหญ่ จะมีมติแนวทางใด ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณา ไม่เกี่ยวกับชุดเล็กแล้ว
เมื่อถามว่า การอนุมัติฯ อาจทำให้เป็นชนวนเหตุต่อการชุมนุมเพิ่มขึ้นด้วยหรือไม่ นายสุพล กล่าวว่า ส่วนตัวรู้สึกเป็นห่วง แต่บางทีสังคมไทยควรมีสติ ฟังเหตุฟังผล ไม่ใช่จะมาบอกแค่ว่าเรือดำน้ำกินไม่ได้ และก็ต้องฟังเหตุผลของกองทัพเรือด้วย
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่ พรรคเพื่อไทย ระบุว่าสัญญาจัดซื้อเรือดำน้ำ จะเป็นโมฆะ โดยระบุว่า ตอนที่รับผิดชอบดูแลอยู่ ก็ไม่โมฆะ เพราะมีการลงนาม ให้รอฟังการแถลงของกองทัพเรือ
เมื่อถามถึง การเปิดเผยว่ามี “นายพล ป.” ล็อบบี้ คณะอนุ กมธ. ครุภัณฑ์ฯ ให้โหวตผ่านงบซื้อเรือดำน้ำ พล.อ.ประวิตร ย้อนถามผู้สื่อข่าว พร้อมยิ้มตอบ ว่า "จะล็อบบี้ได้อย่างไร เป็นเรื่องของกรรมาธิการ" เมื่อถามถึงความกังวลกรณีซื้อเรือดำน้ำ จะทำให้เป็นประเด็นการชุมนุมลุกลามมากขึ้นหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่มีๆ
ด้าน น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะ กมธ. งบฯ ปี 64 ชุดใหญ่ ระบุว่า วันนี้ปัญหาเศรษฐกิจและระบบสาธารณสุข ที่เกิดจากการระบาดของโควิด-19 ความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายงบฯ ถือเป็นสิ่งสำคัญ ที่รัฐบาลต้องพิจารณาให้รอบคอบถี่ถ้วน อยากให้รัฐบาลรับฟังเสียงสะท้อนจากสังคม ส่วนการทำงานของ กมธ. และสภาฯ จะพิจารณารายละเอียดงบฯ ส่วนนี้อีก และย้ำว่า รัฐบาลก็ต้องคำนึงถึงเสียงของประชาชน