โรงเรียนประถมในสหรัฐฯ เริ่มโครงการลด Food Waste โดยถือเป็นการเพิ่มสวัสดิการอาหารให้เด็กที่ขาดแคลนไปในตัว ตอกย้ำความสำคัญของเทรนด์ Food Rescue ที่ชุมชนต่าง ๆ ควรรับไปปรับใช้
จากปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ทำให้ผู้คนหันมาตื่นตัวกับการจัดการขยะกันมากขึ้น รวมไปถึงขยะอาหาร ที่หลายครั้งไม่ใช่สิ่งบูดเน่า แต่เป็นอาหารส่วนเกินที่เหลือจากมื้อหนึ่ง ๆ ซึ่งหลายปีที่ผ่านมา หลายองค์กรในสหรัฐฯ พยายาม 'เก็บกู้' และแจกจ่ายให้กับชุมชนที่ต้องการ
ล่าสุดกับหนึ่งในสถาบันทางสังคมที่ประสบกับปัญหาอาหารเหลือมากที่สุด นั่นก็คือ สถาบันการศึกษา ที่มีปริมาณอาหารสำหรับมื้อกลางวันมากมาย เริ่มหันมาตื่นตัวกับเทรนด์ 'กู้ชีพอาหาร' หรือ Food Rescue กันมากขึ้น โดยมีโรงเรียนประถมอย่าง Woodland Elementary School ในเมืองเอลก์ฮาร์ต รัฐอินเดียนา เพิ่งกลายเป็นหัวข้อข่าวของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น จากโครงการแช่แข็งอาหารเหลือกลับบ้าน ให้น้อง ๆ ได้อิ่มท้อง
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงโครงการต้นแบบของเครือโรงเรียนในรัฐอินเดียนา ของสหรัฐฯ ที่กำลังทดลองลดปริมาณขยะอาหารชั้นดี โดยโครงการใน Woodland Elementary เริ่มจากการเลือกเด็กนักเรียนมา 20 คน ให้ทดลองนำอาหารแช่แข็งจากอาหารเหลือที่โรงเรียน 8 มื้อ กลับบ้านในเย็นวันศุกร์ เพื่อให้สามารถอุ่นรับประทานได้ตลอดสุดสัปดาห์ ซึ่งทางโรงเรียนเริ่มจากจำนวนเด็กเพียงเท่านี้ เพื่อให้มั่นใจว่ามีวัตถุดิบเพียงพอสำหรับการทดลองดำเนินการเสียก่อน
นาตาลี บิกเกล ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการนักเรียนของเครือโรงเรียนในเอลก์ฮาร์ต กล่าวว่า 64 เปอร์เซ็นต์ของนักเรียนกว่า 12,000 คน ในเขตการศึกษา เข้าข่ายยากจน และสามารถรับอาหารฟรีหรืออาหารกลางวันลดราคาได้ และการทำโครงการแบบนี้ก็น่าจะตอบโจทย์ทั้งในด้านสวัสดิการเบื้องต้น และลดปัญหาอาหารดี ๆ เหลือทิ้งได้อย่างมาก ซึ่งหากโครงการที่ทำอยู่ในโรงเรียนนำร่องประสบความสำเร็จ เธอก็หวังจะขยายขอบเขตการดำเนินการให้ครอบคลุม 21 โรงเรียนในเขตที่ดูแล
ทั้งนี้ โรงเรียนร่วมมือกับ 'คัลทิเวต' (Cultivate) องค์กร Food Rescue ในท้องถิ่น เพื่อนำวัตถุดิบเหลือใช้มาปรุงเป็นอาหาร โดยที่ต้องมีโภชนาการครบถ้วน และได้สัดส่วน ทั้งโปรตีน ผัก และแป้ง ซึ่งสมาชิกกลุ่ม Cultivate จะมารับวัตถุดิบจากครัวทุกวันจันทร์ พุธ และศุกร์ ซึ่งทั้งหมดเป็นวัตถุดิบที่ผ่านการปรุงแล้ว แต่ยังไม่ถูกเสิร์ฟ และเป็นส่วนที่เตรียมจะทิ้ง เนื่องจากก่อนหน้านี้ไม่มีกระบวนการใดมารองรับ ถือเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา Food Waste ในสหรัฐฯ ที่ยังแก้ไขไม่ได้
Cultivate ทำงานโดยการรับอาหารจากผู้จัดงานอีเวนต์ โรงพยาบาล คาสิโน และธุรกิจต่าง ๆ ก่อนจะนำไปคิดเป็นเมนูและปรุงใหม่ ซึ่งวัตถุดิบที่ได้มีปริมาณมาก และทำอาหารใหม่ได้หลายมื้อ เนื่องจากธุรกิจเหล่านี้มักต้องทำเกินเพื่อเสิร์ฟคนจำนวนน้อยกว่าที่คาดการณ์ เช่น การจัดอีเวนต์สำหรับ 5,000 คน สุดท้ายแล้วแขกในงานก็มักไม่ถึงจำนวนนั้น และอาจจะน้อยกว่านั้นมาก อาหารที่ปรุงไว้ก็ต้องถูกทิ้งเป็นขยะอย่างน่าเสียดาย ทั้งที่มีคนจำนวนมากไม่มีรายได้พอจะซื้ออาหารรับประทานในมื้อหลัก ๆ ของวัน
ในช่วง 7 เดือน Cultivate ร่วมมือกับบริษัทจัดอาหารตามอีเวนต์แห่งหนึ่ง และสามารถ 'กู้อาหาร' ได้มากเป็นน้ำหนักถึง 50,000 ปอนด์ หรือ 25 ตัน โดยที่ปัจจุบัน Cultivate ยังคงเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่เปิดมาไม่นาน และยังต้องเดินหน้าผลักดันโครงการอีกไกล ทุกวันนี้องค์กรมีทีมงาน 3 คน และอาสาสมัคร 400 คน ที่มาช่วยปรุงและแจกจ่ายอาหาร
แรนดี ซี ผู้ร่วมตั้ง Cultivate เปิดเผยกับซีเอ็นเอ็นว่า การทำองค์กรนี้เป็นเป้าหมายระยะยาวของเขามานานแล้ว เพราะสมัยเป็นเด็กเขาก็เป็นหนึ่งในคนที่ไม่มีอาหารรับประทาน และต้องอดอาหารในช่วงสุดสัปดาห์เช่นกัน ซึ่งการมีโครงการนี้ จะทำให้สุดสัปดาห์ของเด็ก ๆ จำนวนมากสดใสขึ้น ช่วยให้พวกเขาพร้อมจะกลับมาเรียนในสัปดาห์ใหม่อย่างไร้กังวล