หากสวัสดิการทางสังคมดีเพียงพอ ค่าแรงก็อาจไม่ต้องสูงก็ได้
ภายหลังจากคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) พร้อมด้วยเครือข่ายแรงงาน แถลงข่าวจุดยืนเรียกร้องค่าแรงขั้นธรรมที่เป็นธรรมและเพียงพอต่อค่าครองชีพ
ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) กล่าวว่า ตัวเลขดังกล่าวไม่ใช่ตัวเลขสรุป เนื่องจากเป็นการยกตัวอย่างจากการสำรวจของ คสรท.เมื่อปี 2554 ประมาณ 4,000 ชุด ซึ่งพบว่าลูกจ้าง 1 คนต้องมีความรับผิดชอบดูแลครอบครัวอีก 2 คน รวมทั้งหมด 3 คนต้องมีค่าแรงตกวันละ 567.79 บาท แต่หากเลี้ยงดูเพียงตัวเอง คือ ลูกจ้าง 1 คนต้องมีค่าแรงขั้นต่ำที่ 348.49 บาท จึงจะเพียงพอต่อค่าครองชีพ แต่ด้วยอัตราเงินเฟ้อ และสถานการณ์ปัจจุบันจึงคาดการณ์ว่า หากต้องเลี้ยงดูครอบครัวอีก 2คนต้องประมาณ 600-700 บาท แต่ไม่ได้หมายความว่า ต้องตัวเลขดังกล่าว เพราะขณะนี้ทางคสรท.ก็ต้องการความชัดเจนโดยได้ทำแบบสำรวจค่าจ้างและค่าใช้จ่ายของคนงานประจำปี 2560 โดยได้จัดทำ 8,000 ชุด กระจายไปช่วงเดือนกรกฎาคม 2560 คาดว่าจะแล้วเสร็จช่วงปลายกันยายนนี้ และจะแถลงข่าวเดือนตุลาคม
หากพูดตามหลักการแล้วมีการกำหนดตามหลักสากล โดยองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ หรือไอแอลโอ (International Labour Organization; ILO) ซึ่งเป็นไปตามอนุสัญญา 131 มาตรา 3 ระบุว่า ค่าจ้างขั้นต่ำต้องคำนึงถึงคนในครอบครัวด้วย อย่างคนงาน 1 คนต้องเลี้ยงดูครอบครัว 2 คน รวมเป็น 3 คนก็เข้าเกณฑ์ตามไอแอลโอ อย่างไรก็ตาม แต่ทั้งหมดก็ต้องมีองค์ประกอบอื่นๆ เช่น หากสิทธิสวัสดิการทางสังคมดีเพียงพอ ค่าแรงก็อาจไม่ต้องสูงถึงขนาดรวมค่ารักษาพยายาล ค่าเล่าเรียนบุตร แต่ก็ต้องถามกลับว่า ประเทศไทยมีสวัสดิการทางสังคมดีจริงหรือไม่ ก็ต้องมองข้อเท็จจริงด้วย
มาดูค่าแรงขั้นต่ำของแต่ละประเทศในอาเซียนกัน
เมียนมา 90 บาท
ลาว 125 บาท
กัมพูชา 162 บาท
เวียดนาม 156 – 173 บาท
ฟิลิปปินส์ 197 – 271 บาท
มาเลเซีย 241 – 260 บาท
ไทย 300 – 310 บาท
บรูไน ไม่มีค่าแรงขั้นต่ำ
สิงคโปร์ ไม่มีค่าแรงขั้นต่ำ ยกเว้นงาน ทำความสะอาด ต้องไม่น้อยกว่าเดือนละ 34,600 บาท
และงานรักษาความปลอดภัย ต้องไม่น้อยกว่าเดือนละ 38,000 บาท
Source:
https://www.matichon.co.th/news/658018