จาก กรณีคลิปชายชุดดำ ที่อยู่บนอาคารกระทรวงแรงงาน ในวันที่ 26 ธันวาคม 2556 ได้ถูกแชร์ผ่านโซเชียลมีเดีย จนมีกระแสว่าการเสียชีวิตของผู้ชุมนุม และตำรวจในวันดังกล่าว เป็นฝีมือของบุคคลในภาพ ซึ่งในวันนี้รองผู้บัญชาการ ตำรวจแห่งชาติ ออกยอมรับว่า เป็นตำรวจจริง แต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น พร้อมยืนยันว่า ไม่มีการใช้อาวุธจริง
คลิปภาพชายชุดดำแต่งกายคล้ายตำรวจ 10 นาย ที่อยู่บนดาดฟ้าของอาคารกระทรวงแรงงานสูง 3 ชั้น ถูกแชร์ผ่านโซเชียลมีเดีย พร้อมมีการตั้งข้อสังเกตว่าการเสียชีวิตของนายวสุ สุฉันทบุตร ผู้ชุมนุมกลุ่ม คปท. และดาบตำรวจณรงค์ ปิติสิทธิ์ มาจากบุคคลในภาพ
วันนี้พลตำรวจเอกวรพงษ์ ชิวปรีชา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะรองผู้อำนวยการศอ.รส. พร้อมด้วย พลตำรวจโทโสภณ พิสุทธิวงษ์ ในฐานะรอง ผบ.กองกำลัง พร้อมด้วยพลตำรวจเอกจรัมพร สุระมณี ที่ปรึกษา (สบ 10) ได้แถลงข่าวยืนยันว่า ชายชุดดำในคลิป เป็นตำรวจจริง
ซึ่งได้มีการสั่งการให้ตำรวจกองร้อยควบคุมฝูงชน 1 หมู่ จำนวน 10 นาย ขึ้นไปบนอาคาร และอีกหมู่อยู่ด้านล่างอาคารกระทรวงแรงงาน เพื่อยิงแก๊สน้ำตาสกัดกั้นไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมเข้ามาภายในกระทรวงแรงงาน ซึ่งเห็นว่าบนที่สูงสามารถยิงแก๊สน้ำตาได้ดีกว่าด้านล่าง
ตำรวจในคลิป บอกว่า วันเกิดเหตุได้ขึ้นมาบนอาคารแห่งนี้ 3 ครั้ง รอบแรกเวลา 10.20 น. รอบที่สอง 11.00 น. และรอบสุดท้ายเวลา 12.00 น. แต่ละครั้งจะใช้เวลาปฏิบัติหน้าที่เพียง 5-10 นาที เท่านั้น
อาคารสูง 12 เมตร ที่รายล้อมไปด้วยต้นไม้และอาคาร พลตำรวจเอกจรัมพร บอกว่า วิถีกระสุนจากตำรวจบนอาคารนี้ ไม่สามารถทำให้นายวสุ และดาบตำรวจณรงค์ เสียชีวิตได้ เนื่องจากจุดดังกล่าวไม่สามารถมองเห็นผู้เสียชีวิตได้เลย
จากเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างตำรวจและผู้ชุมนุมในวันที่ 26 ธันวาคม 2556 มีตำรวจถูกยิง 11 ราย ซึ่งในที่เกิดเหตุพบกระสุนปืน 4 ชนิด คือ 11 มม., 9 มม., .38 และ .32 โดยมีผู้เชี่ยวชาญประเมินว่ามีการใช้ปืนในวันเกิดเหตุ 16 กระบอก โดยตำรวจยืนยันว่า การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจไม่มีการใช้อาวุธจริง มีเพียงปืนลูกซองที่ใช้ยิงกระสุนยางเท่านั้น