จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 21 'ทุเลาความรุนแรงและความเกลียดชังในสังคมไทย' โดยศาสตราจารย์ พิรงรอง รามสูต รองอธิการบดี กำกับดูแลด้านสื่อสารบริการสังคมและพันธกิจสากล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุถึงงานวิจัยเกี่ยวกับความไม่ลงรอยกันในสังคมไทย ก่อนเริ่มการเสวนาว่า head speed มี 4 ระดับ
โดยระหว่างที่มีความขัดแย้งทางการเมืองช่วงปี 2553 'head Speed' ของไทยอยู่ระดับ 3 คือ ยั่วยุให้เกิดความรุนแรง แต่ปี 2562 ยังไม่ได้มีการวิจัย อย่างไรก็ตามตลอด 4-5 ปี หลังการรัฐประหาร 2557 พิสูจน์แล้วว่า การพยายามสร้างภูมิคุ้มกันโดยการให้ความรู้และการรู้เท่าทัน เพื่อเตรียมสู่สังคมประชาธิปไตยนั้นยังไม่เพียงพอ โดยมีข้อสังเกตที่ตอกย้ำขั้วการเมือง มีการปล่อยข่าวลวงหรือกุข่าว การแบ่งฝ่ายทางความคิดและปักใจเชื่อโดยไม่สนใจข้อเท็จจริง โดยเฉพาะกลุ่มที่คิดเหมือนกันที่แสดงออกในโซเชียลออนไลน์
ศาสตราจารย์ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ กล่าวว่า กลุ่มสุดขั้วที่ชอบความเกลียดชังมีทั่วโลก ในไทยเองหากใครแสดงความเห็นใจคนอีกฝ่ายหนึ่งก็จะถูกโจมตีจากฝ่ายตรงข้าม อย่างกรณีจ่านิวที่ถูกทำร้าย ฝ่ายหนึ่งมองว่าเป็นฮีโร่ประชาธิปไตย แต่อีกฝ่ายหนึ่งมองว่าถูกจ้างมา และโดยส่วนตัวนิยามว่า "ความเกลียดคือยาพิษ" ที่จะกัดกร่อนสายสัมพันในสังคมและทำลายสังคมในท้ายที่สุด
นายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ กล่าวว่า ท่ามกลางสถานการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะความขัดแย้งทางการเมือง สำหรับองค์กรสื่อสารมวลชนแล้วมี 2 ทางเลือก คือ จะฆ่าความจริงที่เกิดขึ้นหรือจะพูดความจริง พร้อมยืนยันว่า การพูดความจริงจะสร้างความน่าเชื่อถือและความเป็นมืออาชีพให้กับองค์กร นอกจากนี้ สังคมไทยชอบเรื่องดราม่าหรืออะไรที่มีพระเอกกับผู้ร้าย ซึ่งจะกระพือข่าวได้ง่าย
นางสาวปิยนุช โคตรสาร ระบุการทำงานที่ผ่านมา โดยเฉพาะการรณรงค์ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและคัดค้านโทษประหารชีวิต มักจะถูกสังคมอีกฝ่ายหนึ่งโจมตีและคุกคามโดยเฉพาะในโลกออนไลน์ด้วยอคติจึงอยากให้มองถึงความเป็นมนุษย์ของคนทุกคน แม้มีหวังเพียงริบหรี่ แต่ก็ยืนยันในหลักคิดการทำงานที่ว่า "การจุดเทียนดีกว่าก่นด่าความมืด"