'นายปิยบุตร แสงกนกกุล' ว่าที่เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ โพสต์ข้อความผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก โดยชี้ให้เห็นว่า ระยะเวลาการมีผลใช้บังคับของกฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส.ส่งผลกระทบต่อพรรคการเมืองใหม่อย่างไร?
ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มาตรา 41 (3) กำหนดว่าบุคคลผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคการเมืองเดียวเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในกรณีที่มีการเลือกตั้งทั่วไป เพราะเหตุยุบสภา ระยะเวลาเก้าสิบวันดังกล่าวให้ลดลงเหลือสามสิบวัน
ในกรณีของสมาชิกพรรคการเมืองใหม่อาจเสียเปรียบสมาชิกพรรคการเมืองเก่าในเรื่องการนับระยะเวลาอายุสมาชิกได้ เพราะ กว่าจะยื่นจดจัดตั้ง กว่า กกต. จะจดทะเบียน กว่าจะเริ่มนับอายุสมาชิก ก็อาจไม่ทัน 90 วัน หรือ 30 วัน ทำให้ขาดคุณสมบัติการสมัคร ส.ส.ได้
ดังนั้น ร่าง พ.ร.ป.ฯ จึงเข้ามาช่วยจัดการความชัดเจนเรื่องสถานะของสมาชิกพรรคใหม่ทั้งหมด โดยในมาตรา 172 กำหนดว่า
"ในวาระเริ่มแรก เพื่อประโยชน์ในการนับเวลาเพื่อสมัครรับเลือกตั้ง ในกรณีที่ผู้ที่เข้าชื่อร่วมกันเพื่อขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองและได้ชำระเงินทุนประเดิม หรือค่าบำรุงพรรคการเมืองไว้แล้ว หากภายหลังนายทะเบียนพรรคการเมืองรับจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองนั้น ให้ถือว่าผู้ที่เข้าชื่อร่วมกันนั้นเป็นสมาชิกพรรคการเมืองนั้นมาตั้งแต่วันที่ยื่นคาขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง"
ทุกอย่างดูเหมือนจะไปได้สอดคล้องตลอดสายดี จนกระทั่งเกิดกระแส "เลื่อนการเลือกตั้ง" ออกไป
สนช ได้แก้ร่าง พ.ร.ป.นี้เสียใหม่ ขยายเวลาการมีผลของกฎหมายออกไปอีกในมาตรา 2 ว่า
"พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป"
นั่นหมายความว่า เมื่อมีการลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว พ.ร.ป.ฉบับนี้ก็ยังคงไม่มีผลใช้บังคับ จนกว่าจะผ่านไปอีก 90 วัน ดังนั้น เนื้อหาและกฎเกณฑ์ต่างๆที่อยู่ใน พ.ร.ป.นี้ทั้งฉบับ จึงยังคงไม่มีผลอยู่ดี
ซึ่่งรวมถึงมาตรา 172 ด้วย
นั่นหมายความว่า...
สถานะของสมาชิกพรรคการเมืองใหม่ทั้งหมดที่ไปร่วมจดจัดตั้งรุ่นแรก ยังไม่เกิดขึ้นจนกว่า พ.ร.ป.ประกาศใช้ไปแล้ว 90 วัน
บรรดาสมาชิกที่ร่วมจดจัดตั้ง 500 คนแรก ร่วมชำระเงินทุนประเดิมรวมกัน 1 ล้านบาท จะยังไม่มีสถานะเป็นสมาชิกจนกว่า พ.ร.ป. เลือกตั้ง ส.ส.ประกาศใช้ไปแล้ว 90 วัน
เมื่อยังไม่มีสถานะสมาชิก ก็ลงคะแนนไพรมารีโหวตไม่ได้ เสนอตัวเข้าแข่งไพรมารีโหวตไม่ได้
อย่างนั้นหรือ???
หากเป็นเช่นนั้นจริง พรรคการเมืองใหม่ทั้งหมดจะได้รับผลกระทบ
แท็คติคทางกฎหมายที่นำมาใช้เลื่อนเลือกการเลือกตั้ง ไม่ได้กระทบต่อการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อพรรคการเมืองใหม่ทั้งหมดด้วย
รวมทั้งพรรคที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช
จากการปรึกษาหารือไปยัง กกต. ทราบความว่า หากไม่อยากมีปัญหาในอนาคต หาก 500 คนนี้ อยากมีสถานะสมาชิกเร็ว ก็ให้ 500 คนแรกนี้ สมัครสมาชิกใหม่อีกรอบ !!!!!
.......
การหาสมาชิก การประชุมใหญ่ การตั้งคณะกรรมการสรรหา การรณรงค์หาเสียง การไพรมารี่โหวต การตั้งสาขา สถานะสมาชิก ฯลฯ ปัญหาที่ทุกฝ่ายต้องมาปวดหัวกันอยู่ทั้งหมดนี้ เป็นผลพวงจากการเล่นแร่แปรธาตุเอากับ "กฎหมาย" เพื่อสร้างความได้เปรียบ-เสียเปรียบ และทำให้วันเลือกตั้งไม่แน่นอน
นี่คือการใช้ "กฎหมาย" มาเป็นเครื่องมือในการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป จนยุ่งเหยิง อีรุงตุงนังไปหมด คนมีอำนาจกำหนดกติกาเหล่านี้เอง ยังงงเอง ออกแล้วแก้ ออกแล้วแก้ ตามมาแก้ปัญหาที่ตนเองก่อขึ้นไม่จบสิ้น
ทุกอย่างจะไม่มีปัญหาให้ต้องปวดหัวใดๆทั้งสิ้น ทั้งพรรคการเมืองเก่า พรรคการเมืองใหม่ พรรคการเมืองใหญ่ พรรคการเมืองเล็ก พรรคการเมืองสนับสนุน คสช พรรคการเมืองที่ไม่สนับสนุน คสช จะไม่ต้อง "งง" กับ "มายากลทางกฎหมาย" เหล่านี้เลย ถ้าเพียงแต่ คสช ตัดสินใจกำหนดวันเลือกตั้งให้แน่ชัด และ "ปลดล็อค" บรรดากฎหมายทั้งหมดที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดให้มีการเลือกตั้งตามมาตรฐานสากล