นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยสถานภาพแรงงานไทยกรณีศึกษาผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท โดยสำรวจ 1,194 ตัวอย่างในเดือนเมษายน พบ
ภาระหนี้สินครัวเรือนของแรงงานไทยปี 2561 มีมูลค่าสูงสุดรอบ 10 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2552 เฉลี่ยแรงงานเป็นหนี้ 1.37 แสนบาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้น 4.95% เทียบกับปี 2560 แบ่งเป็น
- กู้หนี้ในระบบสัดส่วน 65.4% ดอกเบี้ยเงินกู้ประมาณ 10.6%
- กู้หนี้นอกระบบสัดส่วน 34.6% ดอกเบี้ยเงินกู้ประมาณ 20.1% ต่อเดือน
สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดภาระหนี้
- ส่วนใหญ่ 36.1 % เกิดจากการใช้จ่ายประจำวัน
- รองลงมา คือ หนี้ผ่อนชำระยานพาหนะคิดเป็น 24.9 %
- หนี้จากการลงทุน 13.6 %
- หนี้ที่เกิดจากที่อยู่อาศัย 10.8 %
- ใช้คืนเงินกู้ 7.2 %
- ค่ารักษาพยาบาล 6.7 %
- อื่นๆ 0.7 %
โดยภาพรวมภาระหนี้ครัวเรือนเฉลี่ยอยู่ที่ 137,988.21 บาท ผ่อนชำระเดือนละ 5,326 บาท แบ่งเป็นหนี้ในระบบคิดเป็นร้อยละ 65.4 ผ่อนชำระต่อเดือน 5,719.97 บาท และหนี้นอกระบบคิดเป็นร้อยละ 34.6 ผ่อนชำระต่อเดือน 4,761.12 บาท
ส่วนปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่ 85.4 % เคยมีปัญหาผิดนัดชำระหนี้ สาเหตุหลักมาจาก
- รายได้ลดลงคิดเป็น 37.7 %
- รองลงมา คือ ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น 25.1 %
- ราคาสินค้าแพงขึ้น 15.6 %
- ภาระหนี้สินมากขึ้น 10.2 %
- อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงขึ้น 7.7 %
- เศรษฐกิจไม่ดี 3.6 %
สำหรับปัญหารายได้ไม่พอค่าใช้จ่ายนั้น พบว่า แรงงาน 68.5 % มีปัญหานี้ อีก 31.5 % ไม่มีปัญหา
ด้านพฤติกรรมการใช้จ่ายเมื่อเทียบกับรายได้ที่ได้รับ พบว่า 58.1 % ใช้จ่ายเท่ากับรายได้ ใช้จ่ายน้อยกว่ารายได้ 24.9 % และใช้จ่ายมากกว่ารายได้ 17 %
ด้านการออมปัจจุบันของแรงงาน ส่วนใหญ่ 58.6 % ไม่มีการออมเงิน มีการออมเงิน 41.4 % และการออมที่ควรอยู่ในสัดส่วน 10 % ของรายได้ แต่ขณะนี้สามารถออมเพียงได้เพียง 8.3 % ของรายได้ ดังนั้น ปีนี้เป็นปีของการใช้เงิน และเงินไม่พอเก็บ ส่วนใหญ่ใช้เงินแบบเดือนชนเดือน
นายธนวรรธน์ เสนอให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยทำให้เกิดการจ้างงานและเกิดการซื้อของลงทุนกระจายออกไปส่วนภูมิภาคมากขึ้น เพราะแม้การก่อสร้างเริ่มลงไปแล้ว แต่เม็ดเงินยังกระจุกอยู่ในบริษัทขนาดใหญ่ที่รับงานจากภาครัฐ จึงมีโอกาสสุ่มเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในภาพรวมตลอดปีนี้ได้ และเชื่อว่าการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นจะเกิดครึ่งปีหลังและน่าเป็นมีเม็ดเงินที่ช่วยเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้โต ซึ่งศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจประเมินว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะโตได้ 4.2-4.6 %