Day Break รายการที่เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อการใช้ชีวิตสุดสัปดาห์อย่างรื่นรมย์
แนะนำนิทรรศการที่นำเอาศิลปะมาเล่าถึงวิถีชีวิตของ 3 ชาติพันธุ์ แต่ที่น่าสนใจคือเป็นศิลปะบนเรือนร่างของมนุษย์ หรือรอยสักนั่นเอง
"สักสี สักศรี" หรือ Tattoo Color Tattoo Honor นิทรรศการที่รวบรวมรอยสักและศิลปะการสักจาก 3 ชาติพันธุ์ ของไทยและของไต้หวัน มาเล่าให้เห็นถึงวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ต่างๆ ผ่านภาพถ่าย วัตถุจัดแสดง ภาพยนตร์สั้นและกิจกรรมภายในงาน ซึ่งแต่ละชาติพันธุ์มีจุดมุ่งหมายในการสักแตกต่างกันออกไป เช่นสักเพื่อความขลังความศักดิ์สิทธิ์ สักเพื่อแสดงอำนาจ สักเพื่อความสุนทรียะ จนก่อเกิดเป็นวัฒนธรรม
3 ชาติพันธุ์ที่ว่านี้ เริ่มต้นจากชาวล้านนาของไทย คือการสักขาของผู้ชาย ตั้งแต่ช่วงเอวถึงขา คล้ายกับกางเกงขาสั้น ซึ่งในสมัยนั้นเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความเป็นผู้ชาย ความกล้าหาญ ฝึกความอดทน แต่ไม่มีการเสกคาถาใดๆ
ชาติพันธุ์ที่สอง คือชาวไท่หย่า อาศัยอยู่ทางเหนือของไต้หวัน เป็นการสักใบหน้า โดยผู้ชายจะแสดงถึงความเป็นชายชาตินักรบ ความแข็งแกร่ง ซึ่งก่อนจะสักต้องพิสูจน์ตัวเองก่อน ด้วยการออกไปล่าสัตว์ใหญ่หรือการนำศีรษะข้าศึกกลับมา ขณะที่ผู้หญิงนั้น ต้องพิสูจน์ตัวเองด้วยการทอผ้าและปลูกพืช ทั้งนี้ชาวไท่หย่าเชื่อว่าการสักใบหน้า หลังจากเสียชีวิตจะได้ข้ามสะพานสายรุ้งเข้าสู่โลกแห่งวิญญาณนั่นเอง
และชาติพันธุ์สุดท้าย คือ ชาวไผวัน อยู่ทางตอนใต้ของไต้หวัน ผู้ชายจะสักลำตัว ส่วนผู้หญิงจะสักบริเวณหลังมือ เป็นการแสดงถึงเกียรติยศ ศักดินา ชนชั้นทางสังคม ซึ่งผู้ที่ได้รับการสักต้องเป็นหัวหน้าเผ่าและคนในครอบครัวเท่านั้น ผู้ที่ฝ่าฝืนจะโดนทำโทษ
ทั้งนี้ นิทรรศการดังกล่าว ไม่ได้มีเจตนาสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ไปสัก แต่ต้องการเล่าถึงวัฒนธรรมที่กำลังลบเลือนหายไป รวมถึงต้องการสนับสนุนให้มีการทำงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น โดยหนึ่งในผู้จัดงานเล่าว่า มีงานวิจัยเรื่องวัฒนธรรมผ่านรอยสักเพียงชิ้นเดียวเท่านั้น และนิทรรศการนี้ เป็นการรวบรวมของทีมงานเอง ถ่ายภาพเอง ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเองทุกกระบวนการ
ใครที่สนใจก็สามารถไปชมกันได้ ที่ชั้น 1 สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ หรือ มิวเซียมสยาม ซึ่งนิทรรศการจะจัดยาวไปจนถึงวันที่ 27 ตุลาคมนี้