โอมาร์ อัล-บาเชียร์ ประธานาธิบดีซูดานที่อยู่ในอำนาจมาเกือบ 30 ปี ถูกกองทัพยึดอำนาจ ขณะที่นักเคลื่อนไหวเรียกร้องให้กองทัพคืนอำนาจให้รัฐบาลพลเรือนบริหารประเทศในระยะเปลี่ยนผ่าน
ที่ซูดานเกิดการรัฐประหารขึ้น เมื่อผู้บัญชาการ 4 เหล่าทัพของซูดานได้เดินทางไปที่บ้านของนาย โอมาร์ อัล-บาเชียร์ ประธานาธิบดีซูดานที่มาจากการยึดอำนาจเมื่อปี 1989 เพื่อกดดันให้อัล-บาเชียร์ลงจากอำนาจ เขาจึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง หลังจากนั้นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของซูดาน ประกาศผ่านโทรทัศน์ว่า อัล-บาเชียร์ ถูกนำตัวไปอยู่ใน "สถานที่ปลอดภัย" และกองทัพได้ตั้งคณะกรรมาธิการของกองทัพเพื่อเข้ามาบริหารประเทศในระยะเปลี่ยนผ่าน 2 ปี หลังจากที่ประชาชนได้ออกมาประท้วงขับไล่อัล-บาเชียร์มาหลายเดือน
นอกจากนี้ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ยังประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 3 เดือน ระงับการใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และประกาศเคอร์ฟิวไม่ให้ประชาชนออกจากบ้านเรือนตั้งแต่เวลา 22.00 - 04.00 น. และจะมีการรักษาความปลอดภัยท่าเรือกับสถานพยาบาลต่างๆ อย่างเข้มงวดขึ้น
ส่วนระบบยุติธรรม ศาล สถานทูต และเจ้าหน้าที่ทางการทูตจะยังคงปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ ขณะที่นักโทษการเมืองทั้งหมดที่ถูกควบคุมตัวนับตั้งแต่มีการประท้วงต่อต้านรัฐบาลของอัล-บาเชียร์ในเดือน ธ.ค. ปี 2018 จะได้รับการปล่อยตัว
อย่างไรก็ตาม นักเคลื่อนไหวชาวซูดาน ได้ออกมาแสดงจุดยืนไม่ยอมรับคำประกาศของรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมที่จะแต่งตั้งคณะกรรมาธิการของกองทัพมาบริหารประเทศในช่วงเปลี่ยนผ่าน 2 ปี โดยนักเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีรัฐบาลพลเรือนเข้ามาบริหารประเทศในช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยโอมาร์ อัล-นีล นักเคลื่อนไหวชาวซูดานให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นเอ็นว่า ชาวซูดานต้องการโค่นล้มระบอบอำนาจทั้งหมด ไม่ได้ต้องการรีไซเคิลคนเดิมๆ ขึ้นมาบริหารประเทศ และผู้ประท้วงจะยังคงปักหลักชุมนุมกันจนกว่าข้อเรียกร้องของพวกเขาจะสำเร็จลุล่วง และเขาเชื่อว่า ชาวซูดานจะออกมาประท้วงกันมากขึ้นกว่าเดิม และอาจขยายออกไปยังจุดอื่น เนื่องจากประชาชนรู้สึกผิดหวังอย่างมากกับคำประกาศของรัฐมนตรีกลาโหม