กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ องค์การอนามัยโลก (WHO) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการประชุมระดับโลกว่าด้วยการป้องกันการบาดเจ็บและการส่งเสริมความปลอดภัย ครั้งที่ 13 (Safety 2018 – The 13th World Conference on Injury Prevention and Safety Promotion) โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมกว่า 1,500 คน จากทั่วโลก
นายแพทย์ อนุชา เศรษฐเสถียร รองประธานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) ที่สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ทั่วโลกมีประชากรเสียชีวิตจากความรุนแรง 1.6 ล้านคน จากอุบัติเหตุรถชน 1.3 ล้านคน และเด็กจมน้ำกว่า 3 แสนคน ขณะที่ประเทศไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อุบัติเหตุทางถนนเป็นสาเหตุทำให้ประชากรเสียชีวิตสูงสุด ซึ่งการประชุม Safety 2018 เป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยและทั่วโลกจะได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานป้องกันการบาดเจ็บและการส่งเสริมความปลอดภัยซึ่งกันและกัน มากไปกว่านั้น คือช่วยกันลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุลงให้เป็นศูนย์ได้
ด้าน นายแพทย์ วิทยา ชาติบัญชาชัย ประธานคณะทำงาน สอจร. กล่าวว่า สถิติการเสียชีวิตบนท้องถนนของประเทศไทย เฉลี่ยอยู่ที่ 32 คน ต่อประชากร 1 แสนคน ขณะที่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ภายในปี 2020 กำหนดให้ประเทศสมาชิกลดอัตราการสูญเสียชีวิตบนท้องถนนให้ได้ครึ่งหนึ่งของตัวเลขเดิม นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของไทย เนื่องจากสาเหตุ 90% มาจาก "พฤติกรรมคน" ที่ควบคุมได้ยาก
อย่างไรก็ตาม สอจร. จะประยุกต์ใช้นโยบาย Vision Zero ของประเทศสวีเดน ที่เน้นการปรับเปลี่ยนทัศนคติและความเชื่อของประชาชนและผู้ปฏิบัติงานเพื่อความปลอดภัยทางถนน ซึ่งปัจจุบันสวีเดนมีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนน เฉลี่ยอยู่ที่ 3 คนต่อประชากร 1 แสนคน พร้อมตั้งเป้าภายในปี 2050 ต้องไม่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนเลย
ทั้งนี้ นายแพทย์ วิทยา กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคน เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วย เช่นการติดตั้งกล้องตรวจจับความเร็วทุกจุดเสี่ยง และเก็บสถิติการกระทำความผิด เพื่อป้องกันการทำผิดซ้ำ รวมถึงบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น ซึ่งสวีเดนทำให้เห็นแล้ว ว่ามาตรการเหล่านี้สามารถปรับพฤติกรรมคนได้
และสิ่งที่ไทยต้องทำคือ แก้ปัญหาเชิงระบบทั้งหมด ทุกหน่วยงานต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อกัน เพื่อถอดบทเรียนการทำงานและหาทางแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด ตลอดจนควรจัดตั้งหน่วยงานกลางที่จะมารับผิดชอบในเรื่องต่างๆ เพราะงานป้องกันอุบัติเหตุทางถนน ประกอบด้วยปัจจัยหลายข้อ ทั้งพฤติกรรมคน สภาพรถ สภาพถนน และสิ่งแวดล้อม ที่รวมไปถึงสภาพดินฟ้าอากาศ นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องแก้ไขโดยด่วน คือวิสัยทัศน์ของประชาชนและคนทำงานด้านนี้ให้มองว่าอุบัติเหตุบนท้องถนนไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรือเคราะห์กรรม และสามารถป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสียได้