เหตุกราดยิงที่บาร์ในโอไฮโอถือเป็นเหตุกราดยิงในสหรัฐฯ ครั้งที่ 251 ของปีนี้ เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังเหตุกราดยิงห้างวอลมาร์ทในเท็กซัส ทำให้คนกลับมาพูดเรื่องการควบคุมปืน และอาชญากรรมโดยคนผิวขาวหัวสุดโต่งต่อต้านคนกลุ่มน้อยและผู้อพยพ
สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า เกิดเหตุกราดยิงหน้าที่บาร์เน็ด เปปเปอร์ส ในเมืองเดย์ตัน มลรัฐโอไฮโอ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 9 ราย และยังมีรายงานผู้บาดเจ็บอีกอย่างน้อย 16 คน โดยเหตุกราดยิงในเมืองเดย์ตันเกิดขึ้นเพียง 13 ชั่วโมงหลังเหตุกราดยิงห้างวอลมาร์ทในเมืองเอลปาโซ
ตำรวจเมืองเดย์ตันระบุว่า ตำรวจได้ยิงผู้ต้องสงสัยเสียชีวิตแล้ว และกำลังตรวจสอบเพื่อระบุตัวตนของผู้ก่อเหตุ รวมถึงแรงจูงใจในการก่อเหตุ โดยผู้ใช้โซเชียลมีเดียคนหนึ่งเล่าว่า ผู้ก่อเหตุเป็นคนขาว แต่งกายด้วยชุดดำทั้งตัว ใช้ปืนไรเฟิลกราดยิงผู้คนอยู่นานประมาณ 30 วินาที
เมื่อวันที่ 3 ส.ค.ตามเวลาท้องถิ่นมลรัฐเท็กซัส ของสหรัฐฯ เกิดเหตุกราดยิงในห้างวอลมาร์ทในเมืองเอล ปาโซ ซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนสหรัฐฯ - เม็กซิโกออกมาเพียงเล็กน้อย สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า เหตุกราดยิงครั้งนี้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 20 ราย และบาดเจ็บอีก 26 คน แม้ยังไม่มีการเปิดเผยรายชื่อผู้เสียชีวิตออกมา แต่มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ ประธานาธิบดีเม็กซิโก เปิดเผยว่า ในจำนวนนี้มีชาวเม็กซิกันเสียชีวิตรวมอยู่ด้วย 3 ราย
ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่า ผู้ก่อเหตุบุกเข้าไปกราดยิงในห้างวอลมาร์ท ขณะที่มีคนจำนวนมากกำลังเลือกซื้อของ เนื่องจากเป็นช่วงก่อนจะเปิดเทอม ทำให้ผู้ที่ถูกยิงจึงมีหลายช่วงอายุ หลายคนตกใจและวิ่งหนี หลายคนหมอบลงกับพื้นเพื่อหลบกระสุน จากนั้น เข้าหน้าที่ตำรวจก็ไปถึงที่เกิดเหตุภายใน 6 นาที
ตำรวจเท็กซัสเปิดเผยว่า ได้ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยวัย 21 ปีไว้แล้ว เขาเป็นจากเมืองแอลเลน ห่างจากเมืองเอล ปาโซไปประมาณ 1,046 กิโลเมตร โดยสื่อท้องถิ่นของสหรัฐฯ รายงานว่า ผู้ต้องสงสัยชื่อ แพทริก ครูเซียส
โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทวีตข้อความประณาม การโจมตีในครั้งนี้ โดยระบุว่า เขายืนเคียงข้างทุกคนในประเทศ เพื่อประณาม “การกระทำจากความเกลียดชังในวันนี้ ไม่มีเหตุผลหรือข้อแก้ตัวใดจะสร้างความชอบธรรมให้กับการสังหารผู้บริสุทธิ์ได้” ส่วนเกร็ก แอบบอต ผู้ว่าการมลรัฐเท็กซัสกล่าวว่า เหตุกราดยิงครั้งนี้ทำให้เป็นหนึ่งในวันที่นองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์มลรัฐเท็กซัส
สหรัฐฯ มีเหตุกราดยิง 251 ครั้งภายใน 216 วันของปีนี้
ขณะที่ประชาชนจำนวนมากแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิต และให้กำลังใจกับผู้อยู่ในเหตุการณ์ แต่เหตุการณ์นี้ก็ทำให้เกิดกระแสเรียกร้องอีกครั้งให้มีมาตรการควบคุมปืนที่เข้มงวดขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดเหตุกราดยิงซ้ำซากเช่นนี้อีก
สำนักข่าวยูเอสเอ ทูเดย์รายงานว่า องค์กร Gun Violence Archive ได้ให้นิยามการกราดยิงไว้ว่า เป็นเหตุที่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุยิงกันตั้งแต่ 4 รายขึ้นไป ไม่รวมผู้ก่อเหตุเอง ซึ่งปี 2019 มีผู้เสียชีวิตจากเหตุกราดยิงแล้ว 522 ราย และบาดเจ็บอีก 2,040 คน เมื่อคำนวณแล้ว ปีนี้ มีเหตุกราดยิงในสหรัฐฯ เฉลี่ยมากกว่า 1 ครั้งต่อวัน โดยเหตุการณ์ที่เดย์ตันนับเป็นเหตุกราดยิงในสหรัฐฯ ครั้งที่ 251 แล้วนับตั้งแต่ต้นปี 2019 เป็นต้นมา คิดเป็น 215 วัน และยังไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะมีเหตุกราดยิงเกิดขึ้นอีกกี่ครั้งในอีก 150 วันที่เหลือ
สัปดาห์ที่ผ่านมา ถือเป็นสัปดาห์ที่น่าเจ็บปวดของสหรัฐฯ เนื่องจากก่อนเกิดเหตุกราดยิงที่เดย์ตันและเอล ปาโซยังเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังจากที่เกิดเหตุที่มีคนถูกยิงในวอลมาร์ทเมืองเซาท์เฮฟเวน มลรัฐมิสซิซิปปีเสียชีวิต 2 ราย และมี 3 คนถูกยิงเสียชีวิตในเทศกาลกิลรอย การ์ลิกทางตอนเหนือของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย
สำนักข่าวเดอะ การ์เดียนระบุว่า เบโต โอรอร์ก ผู้สมัครเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยหน้า ประกาศยกเลิกการเดินสายหาเสียงที่ลาสเวกัสกลับเมืองเอล ปาโซ ซึ่งเป็นเมืองเกิดของเขา พร้อมเรียกร้องให้มีมาตรการควบคุมอาวุธปืนที่เข้มงวดกว่านี้ โดยเสนอให้มีการตรวจสอบประวัติผู้ซื้ออาวุธปืนทั้งหมด และห้ามขายอาวุธสำหรับกองทัพ เขาระบุว่า “เอาไอพวกนั้นไปไว้ในสนามรบ อย่าเอามาไว้ในชุมชนของเรา”
อย่างไรก็ตาม เคน แพ็กซ์ตัน อัยการสูงสุดมลรัฐเท็กซัส แสดงความเห็นว่า การควบคุมปืนอาจไม่ช่วยหยุดยั้งเหตุกราดยิงเช่นนี้ และไม่มีทางที่เจ้าหน้าที่จะป้องกันได้ หากมือปืน “บ้า” จะโจมตีในลักษณะนี้ “วิธีที่ดีที่สุดก็คือการเตรียมพร้อมปกป้องตัวเอง”
ก่อการร้ายโดยคนผิวขาว?
เจ้าหน้าที่ตำรวจของเอล ปาโซและเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสอบสวนกลางหรือเอฟบีไอกำลังตรวจสอบว่า ผู้ต้องสงสัยที่ก่อเหตุในครั้งนี้ เป็นคนเดียวกับชายนิรนามที่โพสต์ถ้อยแถลงชาติยกย่องคนขาวเหนือเชื้อชาติอื่นบนฟอรัมออนไลน์หรือไม่ โดยถ้อยแถลงดังกล่าวได้ระบุเอาไว้ว่า จะโจมตีชุมชนฮิสแปนิกในพื้นที่
สำนักข่าวเดอะ ฮิลล์รายงานว่า จอร์จ พี บุช กรรมาธิการสำนักงานที่ดินเท็กซัส ลูกชายของเจบ บุช อดีตผู้ว่าการมลรัญฟลอริดาออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ชาวอเมริกันต่อต้าน “การก่อการร้ายโดยคนขาว” โดยย้ำว่า “การก่อการร้ายโดยคนขาว” เป็นภัยคุกคามที่มีอยู่จริงในขณะนี้และชาวอเมริกันทั้งหมดต้องร่วมกันประณามและเอาชนะมันให้ได้
สำนักข่าวเดอะ ฮัฟฟิงตัน โพสต์ระบุว่า โอรอร์กกล่าวว่า สหรัฐฯ มีอาชญากรรมจากความเกลียดชังเพิ่มขึ้นทุกวัน ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาที่ประธานาธิบดีเรียกชาวเม็กซิกันว่าเป็นอาชญากรและผู้ก่อเหตุช่มชืน แม้อัตราการเกิดอาชญากรรมที่ผู้อพยพชาวเม็กซิกันจะน้อยว่าอาชญากรรมจากคนที่เกิดในสหรัฐฯ ก็ตาม ทรัมป์พยายามจะทำให้ชาวอเมริกันหวาดกลัวชาวเม็กซิกัน พยายามแบนคนมุสลิมออกจากประเทศ โอรอร์กย้ำว่า ทรัมป์เหยียดเชื้อชาติ และเป็นผู้ปั่นกระแสเหยียดเชื้อชาติในสหรัฐฯ และเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ความรุนแรง
อาชญากรรมจากความเกลียดชังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 5
สำนักข่าวเด���ะการ์เดียนรายงานว่า เมื่อปลายเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ศูนย์การศึกษาด้านความเกลียดชังและความสุดโต่ง (CSHE) ของมหาวิทยาลัยแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนียเพิ่งออกรายงานเกี่ยวกับอาชญากรรมจากความเกลียดชังซึ่งระบุว่า ในปี 2018 ที่ผ่านมา อาชญากรรมจากความเกลียดชังใน 30 มลรัฐทั่วสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2009 ถึงร้อยละ 9 และเกือบทั้งหมดเป็นฝีมือของกลุ่มขวาจัด
รายงานนี้แสดงให้เห็นว่า อาชญากรรมจากความเกลียดชังเพิ่มขึ้นสูงมากในปี 2015 และสูงอย่างต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 5 แล้ว ขณะที่อัตราการเกิดอาชญากรรมโดยรวมกลับลดลง โดยกลุ่มที่มักถูกโจมตีมากที่สุดก็คือ คนดำ ยิว และกลุ่มหลากหลายทางเพศ และมีเหตุจากความเกลียดชังยิวสูงมากเป็นพิเศษในเมืองใหญ่อย่างนิวยอร์ก และในปี 2018 ได้กลายเป็นปีที่มีการสังหารยิวมากที่สุดในสหรัฐฯ
จำนวนเหตุฆาตกรรมจากกลุ่มหัวสุดโต่งลดลงจาก 36 คดีในปี 2017 มาอยู่ที่ 22 คดีในปี 2018 แต่เหตุที่เกิดจากกลุ่มคนขาวเหยียดเชื้อชาติ หรือ white supremacist เพิ่มขึ้นมาเป็น 17 คดี ส่วนอีก 2 คดีที่เกิดจากกลุ่มสุดโต่งที่เกลียดชังผู้หญิง และมีคนข้ามเพศถูกสังหาร 26 ราย
รายงานฉบับบนี้ระบุว่า อาชญากรรมจากความเกลียดชังเพิ่มขึ้นในช่วงการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ในปี 2018 ชี้ให้เห็นทิศทางว่า จำนวนอาชญากรรมจากความเกลียดชังที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง พร้อมเตือนว่า ความเสี่ยงที่กลุ่มเหยียดเชื้อชาติจะก่อความรุนแรงสุดโต่งจะดำเนินต่อไปในฤดูกาลหาเสียงการเป็นตัวแทนพรรคชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยหน้า แต่การแปะป้ายว่าใครเห็น “ผู้ก่อการร้าย” ก็จะต้องใช้ความระมัดระวังมาก