วิวัฒนาการของสงครามเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่การสู้รบด้วยกำลังคน ด้วยอาวุธหนัก ระเบิดนิวเคลียร์ต่างๆ จนเข้าสู่ยุคปัจจุบันที่โลกไซเบอร์มีความสำคัญไม่แพ้โลกจริง โลกไซเบอร์จึงกลายมาเป็นสนามรบแห่งใหม่ที่ผู้เชี่ยวชาญเองก็ยังไม่อาจประเมินได้ว่าสงครามนี้จะสร้างความเสียหายถึงชีวิตหรือไม่
นับตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เรือขนส่งน้ำมันของญี่ปุ่น 2 ลำ และนอร์เวย์อีก 1 ลำ ถูกโจมตีในอ่าวโอมาน ซึ่งสหรัฐฯ กล่าวหาว่าเป็นฝีมือของอิหร่าน นักยุทธศาสตร์ทหารของสหรัฐฯ จึงวางแผนโจมตีไซเบอร์ส่วนสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลอิหร่านเพื่อเป็นการตอบโต้
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้อิหร่านยิ่งโจมตีเรือขนส่งน้ำมันในอ่าวเปอร์เซียบ่อยขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา คณะเสนาธิการร่วมของสหรัฐฯ จึงพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มศักยภาพของทีมไซเบอร์ให้มากขึ้น
เอริค โรเซนบัค เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ของกองทัพสหรัฐฯ ในสมัยอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา กล่าวว่า การโจมตีไซเบอร์เป็นงานที่ต้องใช้ความพยายามอย่างมากที่จะค้นหาแพลตฟอร์มในประเทศอื่น หาทางเข้าถึงข้อมูล และต้องไม่ให้อีกฝ่ายจับได้ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้มักจะใช้เวลาอยู่ในระบบนานเป็นปีๆ
เมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา กองทัพสหรัฐฯ ได้ยกสถานะของกองบัญชาการไซเบอร์ให้มีความเท่าเทียมกับอีก 9 กองบัญชาการอื่นๆ ของสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่า 'อินเทอร์เน็ต' มีความสำคัญมากขึ้นทั้งแง่ยุทธศาสตร์และแง่ทรัพย์สินกองทัพ และเป็นความเปลี่ยนแปลงทางยุทธศาสตร์ของกองทัพที่เห็นได้ชัดมาก เพราะเมื่อก่อนนี้ สิ่งที่เป็นอานุภาพทำลายล้างทางการทหารของประเทศมหาอำนาจ ก็คือ 'อาวุธนิวเคลียร์' ซึ่งแต่ละประเทศจะต้องคอยเช็กความสามารถในการทำลายล้างของอาวุธนิวเคลียร์ที่แต่ละฝ่ายครอบครอง
จนกระทั่งในปัจจุบัน อาวุธไซเบอร์เข้ามาบทบาทมากขึ้น เพราะอาวุธไซเบอร์มีราคาถูก และใช้กันทั่วไป ไม่ใช่แค่รัฐบาลของประเทศต่างๆ แต่ยังรวมถึงอาชญากรและผู้ไม่ประสงค์ดีอื่นๆ ซึ่งแตกต่างจากอาวุธนิวเคลียร์ที่มีราคาแพงและมีเพียงไม่กี่ประเทศที่มีในครอบครอง การโจมตีทางไซเบอร์จึงเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวังและป้องกันมากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ รายงานของมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์พบว่า คอมพิวเตอร์อเมริกันถูกโจมตีทุกๆ 39 วินาที และผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ก็ระบุว่า สหรัฐฯ ถูกโจมตีทุกวัน ในทุกๆ ระดับ ไม่เพียงแต่กองทัพเท่านั้นที่ถูกโจมตี ประชาชนทั่วไป ธุรกิจ รัฐบาล สถาบันวิชาการ ทุกวงการ การจะป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ได้ก็ต้องสร้างเกราะป้องกัน และเกราะป้องกันดังกล่าวก็คือ ความกลัวที่จะถูกโจมตีกลับนั่นเอง
บริษัทเอกชนด้านความมั่นคงไซเบอร์หลายบริษัทก็รายงานว่า แฮ็กเกอร์อิหร่านก็เริ่มหันมาพัฒนาการโจมตีทางไซเบอร์กันมากขึ้น รวมถึงการพยายามแทรกแซงและให้ข้อมูลผิดๆ เกี่ยวกับสถาบันต่างๆ ของสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้นึกถึง แต่คนที่ทำงานด้านความมั่นคงแห่งชาติกังวลก็คือ เราอาจหลุดเข้าไปในสงครามที่ทั้งสองฝ่ายไม่ต้องการให้เกิด เพียงเพราะเรารู้สึกว่า จำเป็นต้องตอบโต้กลับ แต่การประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการโจมตีทางไซเบอร์นั้นทำได้ยากกว่า และยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญที่จะสามารถประเมินสถานการณ์ได้อย่างครอบคลุมหรือแม่นยำร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะการโจมตีทางไซเบอร์หรืออาชญากรรมทางไซเบอร์นั้นใช้เวลาในการสืบค้นหรือแกะรอยกลับไปยังต้นทางได้ยากกว่าการแกะรอยอาวุธอานุภาพทำลายล้างอื่นๆ