ไม่พบผลการค้นหา
รอเงื่อนเวลา รอเงื่อนไขสุกงอม พอเหมาะเจาะพอดี 'เพื่อไทย' ก็ได้เวลาเปิดตัว ส.ส.ตัวท็อปของพรรคพลังประชารัฐ 'กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ' อดีต ส.ส.กทม. เขต 1 วัย 46 ปีหมาดๆ ที่เพิ่งลาออกจากพรรคพลังประชารัฐ ตัดสินใจพลิกขั้วข้ามค่ายมาเลือก 'พรรคเพื่อไทย' ซึ่งมีสถานะฝ่ายค้านอยู่ในปัจจุบัน

ถ้าจะบอกว่าเป็น ส.ส.เกรดเอ ก็ไม่ผิด เพราะในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 'กานต์กนิษฐ์' ชนะเลือกตั้งเป็น ส.ส.สมัยแรกได้ด้วยกระแส 'เลือกความสงบ จบที่ลุงตู่' เกาะกระแส พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 

โดยผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 เขตเลือกตั้งที่ 1 กทม. (เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธวงศ์ และเขตดุสิต ยกเว้นแขวงถนนนครไชยศรี)

กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ จากพรรคพลังประชารัฐ ชนะเลือกตั้ง 23,246 คะแนน

เป็นการเอาชนะคู่แข่งที่ชิงแต้มกันหลายพรรคการเมือง โดย ครั้งนั้น อันดับ 2 คือ นพมาศ การุญ ผู้สมัครจาก พรรคอนาคตใหม่ 18,091 คะแนน 

3.ลีลาวดี วัชโรบล พรรคเพื่อไทย 15,904 คะแนน 

ส่วน แชมป์เก่า อย่าง เจิมมาศ จึงเลิศศิริ พรรคประชาธิปัตย์ อดีต ส.ส. 3 สมัย ได้อันดับ 4 เพียง 14,348 คะแนน เพราะกระแสคนกรุงเทพฯ ไม่เอา 'ประชาธิปัตย์'

ศึกเลือกตั้ง ส.ส.กรุงเทพฯ เมื่อปี 2562 จึงมีบทสรุปที่คนกรุงเทพฯ เลือกเพียง 3 พรรคการเมือง จากทั้งหมด 30 เขต คือ พรรคอนาคตใหม่ พรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชารัฐ แต่เป็น พรรคพลังประชารัฐ ที่กวาด ส.ส.ไปได้มากที่สุด 12 เขต ส่วนพรรคอนาคตใหม่ และพรรคเพื่อไทย ได้พรรคละ 9 เขต

เลือกความสงบจบที่ลุงตู่ ประยุทธ์ พลังประชารัฐ สงบ ป้ายหาเสียง

อะไรคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ 'กานต์กนิษฐ์' ต้องเลือกทิ้งพรรคลุง แม้เธอจะออกตัวหลังเปิดตัวกับพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2566 ว่า "พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้ทราบเรื่องนี้ดี คุ้นเคยกัน และท่านก็ไม่ได้ว่าอะไร"

กานต์กนิษฐ์ บอกถึงเหตุผลที่เลือกพรรคเพื่อไทย เพราะหากได้ทำงานแล้วรู้สึกสบายใจ รวมถึงในพื้นที่ กทม.เขต 1 เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ ตนมองว่านโยบายของพรรคเพื่อไทยนั้นตอบโจทย์และเชื่อว่าจะสามารถช่วยประชาชนในพื้นที่ได้ดี 

ด้วยแคมเปญ 'คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน' ทำให้ 'กานต์กนิษฐ์' จึงต้องเลือก 'เพื่อไทย' เพราะถ้าเลือกอยู่ที่พรรคพลังประชารัฐ ที่คนกรุงเทพฯ ไม่เอากระแส 3 ป. หรือ 2 ลุง

ผนวกกับ อดีตคู่สมรส คือ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ยังคงอยู่พรรคพลังประชารัฐ และมีใจให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 'กานต์กนิษฐ์' คงไม่ต้องการที่จะอยู่กับสามีเก่าในพรรคเดิมด้วย

นั่นหมายความว่า หาก 'กานต์กนิษฐ์' ไม่ออกจากพรรคพลังประชารัฐ ก็มีโอกาสสอบตกสูง

สอบตกได้สูงเพราะผลการเลือกตั้ง สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เมื่อปี 2565 สะท้อนชัดว่า เขตพระนคร เขตสัมพันธวงศ์ เขตป้อมปราบฯ เขตดุสิต ไม่เอา พรรคพลังประชารัฐ และน่าจะลามไปถึงไม่เอากระแส 'พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา' นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันที่ไปเปิดตัวกับพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ด้วย

และถ้าจะให้เลือก 'ก้าวไกล' ก็คงเป็นไปได้ยาก เพราะจุดยืนและอุดมการณ์ของ 'ก้าวไกล' คงไม่ใช่ทางของ 'กานต์กนิษฐ์' อีกทั้ง ก้าวไกล ก็เป็นคู่แข่งเบอร์ต้นๆของ 'กานต์กนิษฐ์'

กานต์กนิษฐ์ เพื่อไทย -0291-44FF-B305-F7A67975B2EB.jpegกานต์กนิษฐ์ พวงเพ็ชร ภูมิธรรม เพื่อไทย -4A4C-4745-B0AD-3BCC4B4857EB.jpeg

พลิกไปดู ผลการเลือกตั้ง ส.ก.ใน 4 เขตที่สำคัญของ 'กานต์กนิษฐ์' ที่เป็นเจ้าของพื้นที่ในฐานะ ส.ส.กทม.

เขตพระนคร ศศิธร ประสิทธิ์พรอุดม พรรคก้าวไกล ชนะเลือกตั้ง 5,703 คะแนน รองมาเป็น ธีรกร ไหวดี พรรคประชาธิปัตย์ 2,708 คะแนน บดินทร์ วัชโรบล พรรคเพื่อไทย 2,672 คะแนน และ พิชิตชัย แซ่จึง พรรคพลังประชารัฐ 2,554 คะแนน

ส่วนอีก 3 เขต ผู้ชนะไร้ชื่อ 'พรรคพลังประชารัฐ' เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย นิภาพรรณ จึงเลิศศิริ พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเลือกตั้ง 5,690 คะแนน 

เขตสัมพันธวงศ์ พินิจ กาญจนชูศักดิ์ พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเลือกตั้ง 4,613 คะแนน

เขตดุสิต ศิริพงษ์ ลิมปิชัย พรรคเพื่อไทย ได้รับเลือกตั้ง 9,416 คะแนน

สัญญาณเหล่านี้บ่งชี้ชัดคนกรุงเทพฯ 50 เขต เลือก พรรคก้าวไกล 14 เขต พรรคเพื่อไทย มากที่สุด 20 เขต พรรคประชาธิปัตย์ 9 เขต ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ได้เพียง 1 เขต ในเขตหนองจอก

สัญญาณเหล่านี้บ่งบอกให้ 'กานต์กนิษฐ์' ต้องเลือกพรรคใหม่สังกัด

เพราะเขต 1 เป็นเขตที่กระแสความเบื่อหน่ายของคนกรุงเทพฯ มีสูง

แม้ก่อนหน้านี้จะเป็นเขตที่พรรคประชาธิปัตย์ เคยได้เป็น ส.ส.มาถึง 3 สมัยซ้อน แต่ย้อนไปไกลกว่านั้น พรรคไทยรักไทย ก็เคยเอาชนะมาแล้วในอดีต

กานต์กนิษฐ์ -3011-4BF3-BD52-6ACB17D44963.jpeg

'กานต์กนิษฐ์' ได้รับมรดกทางการเมืองจาก 'พ่อแก้ว แห้วสันตติ' อดีต ส.ก.เขตพระนคร พรรคประชาธิปัตย์ ทำให้ 'กานต์กนิษฐ์' ได้เป็น ส.ก.เขตพระนคร 2 สมัย

แม้ในอดีต 'กานต์กนิษฐ์' จะเคยร่วมเป่านกหวีด กับ กปปส. ออกมาร่วมชุมนุมชัตดาวน์กรุงเทพฯ ขับไล่ 'ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร' พ้นนายกรัฐมนตรี

แต่เมื่อวันและเวลาเปลี่ยนไป การกลับใจใหม่ในทางการเมืองจึงมีให้เห็นอยู่เสมอในแวดวงสนามการเมือง

เปรียบเป็นมวยต้องบอกว่า 'กานต์กนิษฐ์' คือ ส.ส.เกรดเอ คนหนึ่งที่ไหลเข้าพรรคเพื่อไทย เธอต้องมาอยู่กับทีมกรุงเทพฯ ที่นำโดย พวงเพ็ชร ชุนละเอียด เจ้าของฉายามาดามนครบาลที่ทำผลงานกวาด ส.ก.เข้าเพื่อไทยได้ถึง 20 เขต 

ถ้าจะวัดแบบปอนด์ต่อปอนด์ในพื้นที่ เขตเลือกตั้งที่ 1 แน่นอนว่า 'กานต์กนิษฐ์' ต้องชนกับ 'เจิมมาศ จึงเลิศศิริ' จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ครั้งก่อน อดีต ส.ส.3 สมัยสอบตกได้อันดับ 4

ยิ่งพลิกไปดูคู่แข่งที่สำคัญในพื้นที่ เขตพระนคร เขตป้อมปราบฯ เขตสัมพันธวงศ์ และเขตดุสิต ในตอนนี้ บรรดาคู่แข่งก็เริ่มขยับตัวเรียกคะแนนเสียงไปบ้างแล้วเพราะหมายมั่นอยากโค่นแชมป์เก่าให้ได้

พวงเพ็ชร ธีรรัตน์ กานต์กนิษฐ์ ธีรรัตน์ เพื่อไทย -FD4B-4322-A166-17B1F1541AF7.jpeg

คู่ต่อสู้ของ 'กานต์กนิษฐ์' ประกอบด้วย ปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ พรรคก้าวไกล พลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์ พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่เดิมทีเคยเสนอตัวของสมัคร ส.ส.ในนามพรรคเพื่อไทย แต่ต้องออกจากพรรคเพื่อไทยเพราะการมาของ 'กานต์กนิษฐ์' 

สุวดี พันธุ์พานิช พรรคไทยสร้างไทย สายตรง โภคิน พลกุล แกนนำพรรคไทยสร้างไทย ก็ขยันลงทำพื้นที่มาตลอดตั้งแต่พรรคไทยสร้างไทยเปิดตัว และน่าจะลงในเขตนี้ภายใต้ชื่อใหม่เมื่อ 'ไทยสร้างไทย' ควบรวมกับ 'สร้างอนาคตไทย' ก่อนการเลือกตั้ง

ส่วนคู่แข่งคนที่มีฐานเสียงแน่นหนาจาก 'ประชาธิปัตย์' คือ 'เจิมมาศ' ก็อยากจะกู้ศรัทธาคืนมาให้อีกครั้ง

ศึกเลือกตั้งหนนี้ ในเขต 1 น่าจะเป็นเขตที่สู้กันดุเดือดเบอร์ต้นๆ ในเมืองหลวง และน่าจะตัดคะแนน ตัดแต้มกันเป็นว่าเล่น แต่อยู่ที่ว่าใครจะมีโอกาสเข้าวินเป็นเบอร์ 1 ในโค้งสุดท้าย

ถ้า 'กานต์กนิษฐ์' ยังป้องกันแชมป์ไว้ได้ ย่อมหมายความว่า กระแสแลนด์สไลด์ 'เพื่อไทย' มีผลต่อคนกรุงเทพฯ ไม่น้อยทีเดียว เพราะเป็นการส่งสัญญาณชัดว่า คนกรุงฯ ไม่เอานายกฯ คนหน้าเดิมหรือเครือข่าย 3 ป.อีกแล้ว

กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ กราฟฟิก ปากกาในมือสั่น  -92C9-40C5-9367-89CC2D1D9A59.jpeg

ข่าวที่เกี่ยวข้อง