ไม่พบผลการค้นหา
จูน ชฎาทิพย์ อดีตแอร์โฮสเตสสาวพลิกโฉมร่างกายและทัศนคติครั้งสำคัญ เปลี่ยนตัวเองจากสาวร่างบางสู่ 'นักเพาะกายหญิง' ทีมชาติไทย

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2017 จูน ชฎาทิพย์ จันทรัตน์ ผู้หญิงร่างบาง หน้าหวาน รอยยิ้มกว้างๆ ในชุดแอร์โฮสเตส ยังเป็นพวกขี้เกียจออกกำลังกาย วันๆ เอาแต่ทำงาน กิน และนอน กระทั่งเจอภาวะซึมเศร้าและเครียดสะสมคุกคามนั่นแหละ ถึงกลายเป็นจุดเปลี่ยนพาเธอไปคว้าเหรียญทอง กีฬาเพาะกายและฟิตเนส ชิงแชมป์เอเชีย ครั้งที่ 53 ที่ประเทศอินโดนีเซีย 

“วันนี้ออกกำลังกายกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปแล้ว” จูน ชฎาทิพย์ ยิ้มร่า เมื่อช่วงบ่ายวันหนึ่ง ที่ยิมย่านพระโขนง 

ต่อไปนี้คือเรื่องราวของผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่ไม่คิดว่าชีวิตนี้จะมีกล้าม ในฐานะแชมป์เอเชียและรองแชมป์โลก กีฬาเพาะกาย รุ่นบิกินี่โมเดล

จูน

เปลี่ยนความเครียดเป็นพลัง 

จูน ชฎาทิพย์ เป็นศิษย์เก่าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มต้นทำงานเป็นแอร์โฮสเตสให้กับสายการบินแห่งหนึ่ง ก่อนลาออกมารับบทบาทเลขานุการดูแลธุรกิจฟิตเนส ความเครียดสะสมรุมเร้ากลายเป็นทั้งปัญหาและจุดเริ่มต้นของการออกกำลังกาย 

“ตำแหน่งเรามีความกดดันค่อนข้างเยอะ เราเลยคิดถึงการออกกำลังกาย เออ....มันน่าจะช่วยให้รู้สึกดีขึ้นมั้ง” 

แม้เหงื่อและเอ็นโดรฟินจะหลั่งจนพอเอาชนะความเครียดได้ แต่ร่างกายเธอกลับยิ่งผอมหนัก น้ำหนักเหลือเพียงแค่ 39 กิโลกรัม 

“ตัวกะเปี๊ยกเดียวเลยอ่ะ” จูนอธิบายร่างกายตัวเองที่สะดุดตาให้เทรนเนอร์เข้ามาแนะนำและเสนอให้ 'เวทเทรนนิ่ง' เพื่อเพิ่มกล้ามเนื้อ 

“เมื่อก่อนเราเคยคิดว่าเล่นกล้ามแล้วตัวจะใหญ่ น่ากลัวไม่เหมือนผู้หญิง จนได้คลุกคลี เรียนรู้ แล้วพบว่าเรายังสวยในแบบที่ผู้หญิงทุกคนคุ้นเคยได้ และที่สำคัญคือสุขภาพดีขึ้นกว่าเดิม” 

จากแอร์โฮสเตส สู่แชมส์เพาะกายเอเชีย

หลังพัฒนาเรื่องอาหารการกิน การหลับนอน และเล่นเวทไปไม่กี่เดือน จูนถูกชักชวนให้ลงแข่งขันเพื่อท้าทายศักยภาพของตัวเอง เปิดมุมมองและโลกใหม่ๆ ที่ไม่เคยเรียนรู้ โดยใช้แรงกระตุ้นที่อยากจะเป็นคนที่ดีกว่าเป็นกุญแจสำคัญ 

“แรกๆ เราก็กลัว ดูเป็นเรื่องยากแบบไม่น่าจะทำได้ แต่อีกใจเราเองก็อยากรู้ว่า ฉันจะทำได้ไหม” 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสภาพแวดล้อมและสังคมเป็นส่วนสำคัญให้คนเรายึดโยงอยู่กับสิ่งที่ทำอย่างมีวินัย

“เจอเพื่อนฝูง เริ่มเล่นกันเป็นกลุ่ม เล่นเสร็จแล้วเราก็มีกิจกรรมอื่นๆ ไปทำด้วยกันต่อ กินข้าว ดูหนัง มีสังคมที่เปลี่ยนไป และสนุกกับสิ่งที่เป็น” จูนเล่า “ตอนแรกไปคนเดียวค่อนข้างวุ่นวาย พอเล่นเสร็จแล้ว เราไม่รู้จะทำอะไรต่อ แต่ตอนหลังมีแรงจูงใจ วันไหนไม่มา เพื่อนก็ไลน์ตามแล้ว เฮ้ย...ทำไมวันนี้ไม่มา กลายเป็นแรงจูงใจให้เรามายิมง่ายขึ้น”


ติด ‘ธงชาติ’ บนอกซ้าย 

แม้จะพลาดตำแหน่งในเวทีแข่งขันรายการแรกๆ แต่ประสบการณ์ก็ทำให้เธอเห็นจุดอ่อนของตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ จนเมื่อปลายปี 2018 เธอสามารถคว้าแชมป์รายการ ‘หนุ่มกายงาม สาวกล้ามสวย’ ของสมาคมเพาะกาย รุ่นความสูงไม่เกิน 162 เซนติเมตร นำไปสู่การเป็น “นักกีฬาเพาะกายทีมชาติไทย” 

“ตอนได้แชมป์แรก เล่นไม่ถึงปี คือดีใจมาก มันเกินคาด มันมาจากความพยายามของเรา มาจากสิ่งที่เราตั้งใจ มันเลยรู้สึกภาคภูมิใจที่สามารถเอาชนะตัวเองได้

“ทุกการแข่งคุณจะได้เห็นข้อบกพร่องของตัวเอง เพื่อนำไปพัฒนา มันไม่ใช่การเข้าไปบอกว่าฉันดีที่สุดแล้ว แต่มันเป็นสิ่งที่ทำให้เราคิดได้ว่า แมตช์ต่อไปเราต้องดีกว่านี้ ต้องแก้ตรงไหน ต้องทำอะไร”  

จูน

ในฐานะทีมชาติจูนคว้าแชมป์รายการเพาะกายและฟิตเนส เซาท์อีสต์เอเชีย ปี 2019 และคว้าเหรียญทองรุ่นโมเดลฟิสิกส์ ประเภทความสูงไม่เกิน 155 เซนติเมตร ในการแข่งขันเพาะกายฯ ชิงแชมป์เอเชีย ครั้งที่ 53 ที่เมืองบาตัม ประเทศอินโดนีเซีย และล่าสุดเมื่อช่วงต้นเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมานี้ เธอคว้าเหรียญเงิน ในรุ่นบิกินี่โมเดล รายการ “เพาะกายชิงแชมป์โลก” ที่เมืองเชจู ประเทศเกาหลีใต้ 

“กรรมการดูความสมส่วน ส่วนใดส่วนหนึ่งไม่มากหรือน้อยเกินไป ใหญ่ไม่ได้แปลว่าชนะ ผู้ชนะคือความสมส่วน ดูแล้วสบายตาในชุดบิกินี และยังคงความเป็นผู้หญิง รวมถึงประเมินจากวิธีการพรีเซนต์ เทคนิคการ posing ออกมาให้กรรมการเห็นด้วย” จูนวัย 28 ปีบอกเป้าหมายต่อไปคือการเป็นแชมป์โลก 

71490306_412386353030988_5598640000917831680_n.jpg

เคล็ดลับเอาชนะตัวเอง  

ความยากในการออกกำลังกายคือ วินัยและความสม่ำเสมอที่คนทั่วไปรักษาไว้ไม่ได้ บางวันงานหนัก รถติด ทะเลาะกับแฟน หัวหน้าด่า เหตุผลเหล่านี้ล้วนกลายเป็นตัวฉุดรั้งไม่ให้เราไปยิมได้เสมอ 

“แรกๆ มันเหนื่อยจริงๆ แหละ แต่จูนผ่านมันมาได้แล้ว เราคิดว่า เออ มาให้มันจบๆ ทำให้มันจบๆ ไป เดี๋ยวมันก็ผ่านไปแล้ว สุดท้ายมันจะกลายเป็นความเคยชิน กลายเป็นหนึ่งในหน้าที่ เหมือนไปทำงาน เหมือนกินข้าว สักพักการออกกำลังกายมันจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในตารางชีวิตของเรา”  

“ก็ยังมีนะ วันที่มานั่งอยู่นานกว่าจะเริ่มเล่นได้ แต่สุดท้ายมันอยู่ที่ใจเราแหละว่าจะเอาชนะมันได้ไหม เออไม่เอาละ ขี้เกียจเลิกดีกว่า ความคิดนั้นมักจะใหญ่กว่าเสมออยู่แล้ว แค่ต้องแข็งใจ ต้องเริ่มก่อนให้ได้ พอเริ่มแล้วเราก็จะเล่นจบในที่สุด” 

60181672_314497642819860_3421293037286850560_o.jpg

ชีวิตดี๊ดี 

ออกกำลังกาย นอกจากจะให้โอกาสและประสบการณ์ใหม่ๆ กับชีวิตแล้ว ยังเปลี่ยนแปลงวิธีคิดและทัศนคติในหลายๆ ด้านด้วย 

“เมื่อก่อนเราคิดว่ามันเป็นสิ่งไกลตัวไม่จำเป็น แต่พอสัมผัสแล้วมันเปลี่ยนชีวิตเราไปเลย จากหน้าเป็นหลัง จากตอนแรกเราเป็นคนเครียดเนอะ จดจ่อกับด้านลบตลอดเวลา แต่ตอนนี้เรามองทุกอย่างดีขึ้น เอาชนะใจตัวเองได้มากขึ้น  

“เรื่องอื่นๆ ในชีวิตเราก็สามารถแบ่งเวลาได้ดีขึ้น เมื่อก่อนเลิกงานเสร็จเราบ่นว่าฉันไม่มีเวลาแล้ว แต่สุดท้ายมันสามารถมีเวลากับทุกเรื่องได้เสมอ” 

รูปร่างที่แตกต่างจากผู้หญิงทั่วไปซึ่งเธอเคยกลัวและฝังอยู่ในทัศนะของคนไทย ไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวลอีกแล้ว 

“เรามองย้อนกลับไปเราเปลี่ยนไปเยอะนะ หลายคนเจอก็บอกว่าเราเปลี่ยนไปเยอะ แต่ถ้าเราใส่เสื้อผ้าปกติธรรมดา เราก็เหมือนเดิม เรายังใส่ไซส์เดิม โชคดีที่เราเป็นคนตัวเล็ก คนดูไม่ออกว่ามีกล้าม” รองแชมป์โลกฉีกยิ้มสวย

“ตอนแรกคนที่บ้านก็ไม่ค่อยโอเค เพื่อน ครอบครัว เขาจะรู้สึกว่าทำไมต้องเปลี่ยนตัวเอง ตัวเล็กก็ดีอยู่แล้ว ไปทำอะไรของเธอ หรืออย่างที่บ้าน ผู้ใหญ่เขาเห็นใส่บิกินี่ เขาไม่โอเค ดูโป๊ไป แต่สุดท้ายเราก็ทำให้เขาเข้าใจว่า การแข่งขันนั้นคนละเรื่องกับความโป๊” 

ทุกวันนี้ จูน ชฎาทิพย์ มีชีวิต 'ดี๊ดี' กว่าเดิม รู้จักตัวเองทั้งร่างกายและจิตใจ โดยมีอาชีพเป็นเทรนเนอร์คอยพัฒนาสุขภาพให้กับผู้คน 

“เมื่อก่อนเราป่วยทุกเดือน แต่เดี๋ยวนี้คือน้อยมาก เรารู้จักตัวเองและดูแลตัวเองเป็น กินอะไร เพื่ออะไร ตอนนี้ออกกำลงกายกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปแล้ว เราเป็นคนที่ดีขึ้นกว่าเดิม” 

จูนจากแอร์โฮสเตส สู่แชมส์เพาะกายเอเชียจากแอร์โฮสเตส สู่แชมส์เพาะกายเอเชียจากแอร์โฮสเตส สู่แชมส์เพาะกายเอเชีย

ภาพโดย ฐานันด์​ อิ่มแก้ว และเฟซบุ๊ก June Chadathip

วรรณโชค ไชยสะอาด
ผู้สื่อข่าวสังคม Voice Online
118Article
0Video
0Blog