ไม่พบผลการค้นหา
การอภิปรายทั่วไป ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ผ่านพ้นไปแล้ว นอกจากเรื่อง ‘ทุนจีนสีเทา’ ที่รัฐบาลถูกฝ่ายค้านชำแหละอย่างหนัก แต่เรื่อง ‘กองทัพ’ ยังคงเป็นเป้านิ่งที่ในทุกการอภิปราย ซึ่งในครั้งนี้ถูกพุ่งไปที่เหตุการณ์ ร.ล.สุโขทัย อับปาง นำโดย ‘พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์’ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่ชี้ถึงความไม่พร้อมใช้งานตัวเรือ ไม่ใช่บกพร่องโดยสุจริต แต่เป็นความจงใจบกพร่อง

ทุจริตในการซ่อม เช่น มอเตอร์ฝั่งขวาขัดข้อง มีอาการหยุดการทำงานในบางจังหวะ , มาตรวัดแรงดันที่ใช้ในเรือก็ใช้การไม่ได้ , เครื่องจักรหลายตัวมีค่าการสั่นสะเทือนที่ผิดปกติ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการติดตั้งที่ไม่ได้มาตรฐาน

รวมถึงเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Power Generator) เสีย ใช้ได้ 3 เครื่องจาก 4 เครื่อง เป็นต้น พร้อมระบุว่ากราบขวาของเรือ ที่เป็นผนังของห้องเครื่องยนต์-ห้องเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และกราบซ้ายก็ไม่ได้ซ่อม หากมีการแตกร้าว ไม่ว่าจะกราบซ้ายหรือขวา น้ำทะเลจะไหลเข้าท่วมในห้องเครื่องยนต์ดีเซล-เครื่องกำเนิดไฟฟ้า จนนำมาสู่การอับปางได้

นอกจากนี้ ‘พิจารณ์’ ตั้งคำถามถึง ‘บริษัทซ่อมเรือ’ ที่เสนอตัวเข้ามาบริษัทหนึ่ง มีศักยภาพเพียงพอหรือไม่ เพราะพบว่ามีทุนจดทะเบียนเพียง 1 ล้านบาท มีพนักงานประจำเพียง 20 คน และมีสายสัมพันธ์โยง ‘พลเรือโท ว.’ ชื่อเล่น ก. ที่เป็นระดับอดีตเจ้ากรม หรือไม่ อีกทั้งขยี้ปมการถอด ‘ครีบกันโคลง’ ออก มีผลต่อเรือหรือไม่ และตั้งคำถาม ‘แผ่นเหล็กใต้ท้องเรือ’ มีการแตกร้าวหรือไม่ จึงทำให้น้ำไหลเข้าใต้ท้องเรือ เข้าเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ทำให้ระบบไฟฟ้าล้มเหลว

ชลธิศ นาวานุเคราะห์ เสธ.ทร. BB-D8AD335C33BE.jpeg

(พล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ เสนาธิการทหารเรือ)

โดย ‘เสธ.โอ๋’ พล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ เสนาธิการทหารเรือ พร้อม พล.ร.ท.ทธิศักดิ์ บุตรนาค เจ้ากรมอู่ทหารเรือ ได้เดินทางเข้ามาสภาฯ ชี้แจงทันทีที่ห้องแถลงข่าวสื่อ โดยยืนยันว่าไม่มีการลดเนื้องานในการซ่อมแซม เช่น แผ่นเหล็กในการซ่อม เป็นต้น โดย ร.ล.สุโขทัย ได้ถูกซ่อมบำรุงใหญ่ช่วงปี 2561- 2563 โดยกรมอู่ทหารเรือรับผิดชอบ จากนั้นได้ส่งมอบเรือกลับมาที่กองเรือ 28 ม.ค. 2564 โดยออกใช้งานมาจนถึงวันเกิดเหตุ 18 ธ.ค.2565 แต่ พล.ร.อ.ชลธิศ ยอมรับว่าเครื่องจักร-เครื่องไฟฟ้ามี 4 เครื่อง แต่มี 1 เครื่องไม่พร้อม ก็ต้องซ่อม

อีกทั้งยอมรับว่ามีการถอด ‘ฟินเรือ’ ออก 2 ข้าง หลังฟินเรือติดตั้งมากับตัวเรือ 36 ปี และพบว่า ‘ฟินกราบซ้าย’ ประสบอุบัติเหตุ และรุ่นนี้ไม่มีการผลิตแล้ว ซึ่งอาจมีผลให้เรือเอียงได้ จึงได้ถอดฟินกราบขวาออกอีกข้าง ย้ำไม่มีผลต่องานด้านยุทธการ ส่วนงานใดที่ยังไม่เรียบร้อยหรือบกพร่อง ทางกรมอู่ทหารเรือได้จัดเจ้าหน้าที่ไปซ่อมทำอย่างต่อเนื่อง โดยตามไปถึงกองเรือที่เรือจอด

ส่วนความคืบหน้าในการหาข้อเท็จจริง ‘บิ๊กจ็อด’พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผบ.ทร. ระบุว่า คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่มี พล.ร.อ.ชลธิศ เสนาธิการทหารเรือ เป็นประธาน ได้มีการสอบปากคำผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งกำลังพลที่รอดชีวิต-หน่วยงานที่เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือกำลังพล 289 ปาก เสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการเรียบเรียง ผลการสอบสวน ในเบื้องต้น ผบ.ทร. ระบุถึงสาเหตุหลักว่า เมื่อน้ำเข้าเรือแล้วไม่สามารถสูบน้ำออกได้ทัน จนกระทั่งเรือเสียอาการ ทำให้เรือเอียง และจมลง

เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ กองทัพเรือ เรือหลวงสุโขทัย EED6832F4.jpegชัยชาญ กองทัพเรือ เรือหลวงสุโขทัย เชิงชาย -95ED-4052-9F5F-9327C5AAA214.jpeg

ทั้งนี้ต้องมาประมวลหาสาเหตุ มีการตั้งสมมุติฐานหลายประเด็น แต่ผลการสอบข้อเท็จจริงจากกำลังพลที่รอดชีวิตประกอบกับ ‘วัตถุพยาน’ ที่ตัว ร.ล.สุโขทัย ว่าเป็นไปตามคำให้การและพุ่งประเด็นไปที่จุดใด ดังนั้นจึงต้องกู้เรือขึ้นมา 

สำหรับ ร.ล.สุโขทัย เรืออยู่ใต้อ่าวไทย ระดับน้ำลึก 40 - 50 เมตร การกู้เรือจึงต้องระมัดระวัง หากมีอุบัติเหตุหรือทำให้เรือเสียหายเพิ่ม จะส่งผลต่อ ‘วัตถุพยาน’ ได้ ซึ่งในขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาการกู้เรือ จากที่บริษัทต่างๆเสนอมา โดย ผบ.ทร. ระบุตัวเลขในการกู้เรือเบื้องต้นอยู่ที่ประมาณ 200 ล้านบาท .

โดยขณะนี้มีเอกชน 12 บริษัท ที่เสนอตัวเข้ามากู้เรือ ทาง ทร. จะดูว่าบริษัทใดใช้งบน้อยที่สุดและคุ้มค่าที่สุด โดยมีจุดสำคัญอยู่ที่ ‘วิธีการกู้เรือ’ แต่ละบริษัทเสนอต่างกัน จึงทำให้ราคาต่างกัน รวมทั้งค่าประกันเรือด้วย ที่บริษัทกู้เรือจะต้องไม่ทำให้เรือเสียหายเพิ่ม รวมถึงกรอบเวลาในการกู้เรือ ถ้าเกินกรอบเวลา จะต้องมีเรื่องค่าปรับตามมา

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ระบุว่า จะต้องใช้ ‘งบกลาง’ มาดูแลในการกู้เรือ เพราะขณะนี้กองทัพถูกตัดงบประมาณไปตั้งเท่าไหร่ ซึ่ง ทร. จะต้องเร่งทำหนังสือของบกลางจากรัฐบาล ก่อนจะมีการ ‘ยุบสภา’ เกิดขึ้น เกรงว่าจะยิ่งทำให้ล่าช้าออกไป เพราะจะต้องทำเนื่องขอ กกต. อนุมัติ

หากดู ‘ระเบียบทางราชการ’ ที่เกี่ยวข้องในการ ‘เอาผิด’ มีข้อบังคับกระทรวงกลาโหม ด้วยความรับผิดทางละเมิด ในกรณีที่ทรัพย์สินทางราชการเสียหาย หรือสรรพาวุธได้รับความเสียหาย ซึ่ง ทร. มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพื่อพิจารณาความผิดทางละเมิด โดยจะต้องเสนอไปที่กองบัญชาการกองทัพไทย , รมว.กลาโหม และ กระทรวงการคลัง ซึ่ง ร.ล.สุโขทัย มีสำคัญสรรพาวุธบางส่วนที่จบไปพร้อมเรือ เช่น ลูกปืน วัตถุระเบิด ทั้งหมดนี้จะต้องมีการสอบสวนมูลค่าทรัพย์สินและยุทโธปกรณ์ต่างๆ เพื่อนำมาสู่การชดใช้ค่าเสียหาย 

หากเป็นการกระทำที่ทำให้สูญเสียทรัพย์สินของทางราชการ ในส่วนของ ทร. มีคณะกรรมการตรวจสอบอุบัติเหตุและความเสียหาย โดยมีเจ้ากรมจเรทหารเรือ เป็นผู้รักษาระเบียบ ก็จะเข้าไปดูในเรื่องของเหตุผลและแนวทางแก้ปัญหา และแนวทางที่เป็นบทเรียน

อย่างไรก็ตามในสัปดาห์นี้ถือว่าเข้าโค้งสุดท้ายในการจัดโผโยกย้าย ‘นายพล’ กลางปี ของกองทัพ เป้านิ่งจึงตกมาที่ ทร. จะมีการ ‘เซ่นสังเวย’ ผู้ที่มีส่วนต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ ร.ล.สุโขทัย อับปาง หรือไม่

อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.กองเรือยุทธการ 8F74-1251CD6495F7.jpeg

(พล.ร.อ.อะดุง พันธ์ุเอี่ยม ผบ.กองเรือยุทธการ)

พล.ร.ท.พิชัย ล้อชูสกุล ผบ.ทัพเรือภาค 1 EB2-E4B1A3EBF793.jpeg

(พล.ร.ท.พิชัย ล้อชูสกุล ผบ.ทัพเรือภาค 1)

หลังมีกระแสข่าวว่าจะเด้ง ‘นายพลเรือ’ 2 นาย ออกจากตำแหน่ง คือ พล.ร.อ.อะดุง พันธ์ุเอี่ยม ผบ.กองเรือยุทธการ และ พล.ร.ท.พิชัย ล้อชูสกุล ผบ.ทัพเรือภาค 1 หากไล่ลงมาอีก คือ พล.ร.ต.โชคชัย เรืองแจ่ม ผู้บัญชาการกองเรือฟริเกตที่ 1 

หากนับผู้บังคับบัญชาโดยตรง 2 ระดับชั้น ของ น.ท.พิชิตชัย เถื่อนนาดี ผู้บังคับการ ร.ล.สุโขทัย ก็คือ พล.ร.ท.พิชัย ผบ.ทัพเรือภาค 1 กับ พล.ร.ต.โชคชัย ผบ.กองเรือฟริเกตที่ 1 

ทั้งนี้มีรายงาน 2 ทางว่า ทร. ยังไม่มีการ ‘ปรับย้าย’ เพราะต้องรอให้ ‘ผลการสอบสวน’ เสร็จสิ้นก่อน ตามระเบียบ แต่ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร เพราะต้องกู้ ร.ล.สุโขทัย ขึ้นมาก่อน ในการตรวจสอบ ‘วัตถุพยาน’ ต่างๆ โดยเฉพาะกับ พล.ร.ท.พิชัย ผบ.ทัพเรือภาค 1 กับ พล.ร.ต.โชคชัย ผบ.กองเรือฟริเกตที่ 1 ที่ถูกจับตา 

แต่ในอีกทางก็มีรายงานข่าวว่า อาจมีการ ‘ย้ายระนาบ’ เข้ากรุ ทร. ไม่ได้คุมกำลังรบต่อไปหรือไม่

สำหรับ พล.ร.ท.พิชัย จะเกษียณฯ ก.ย. 2566 ส่วน พล.ร.ต.โชคชัย ผบ.กองเรือฟริเกตที่ 1 กับ น.ท.พิชิตชัย ผู้บังคับการ ร.ล.สุโขทัย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกระทบการเติบโตในชีวิตราชการ

น.ท.พิชิตชัย เถื่อนนาดี ผู้บังคับการ C-DFFFA3E087FD.jpeg

(น.ท.พิชิตชัย เถื่อนนาดี ผู้บังคับการ ร.ล.สุโขทัย)

แต่งานนี้กระทบชิ่งมาถึง พล.ร.อ.อะดุง ผบ.กองเรือยุทธการ และ พล.ร.อ.ชลธิศ เสธ.ทร. ซึ่งทั้งคู่มีชื่อเป็น ‘แคนดิเดต ผบ.ทร.’ ในอนาคตด้วย จึงต้องตา ‘ความเคลื่อนไหว’ ภายใน ทร. จากนี้ให้ดี เพราะเริ่มมีการก่อ ‘คลื่นใต้น้ำ’ ตามมา หลังมีการจ้องเสียบตำแหน่ง ‘5 เสือ ทร.’ มาตั้งแต่โผโยกย้าย ก.ย. 2565

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้นัด ‘บอร์ด 7 เสือ กลาโหม’ หรือ คณะกรรมการปรับย้ายทหารชั้นนายพล 24 ก.พ.นี้ เพื่อพิจารณาโผนายพล กลางปี 2566 หลังเหล่าทัพส่งให้ ‘กระทรวงกลาโหม’ เรียบร้อยแล้ว จากนั้น นายกฯ จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป ก่อนการ ‘ยุบสภา’ ที่จะเกิดขึ้นในเดือน มี.ค.นี้ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ มีวันยุบสภาฯ ในใจแล้ว

โผทหารนายพล กลางปี 2566 จึงเป็นโผส่งท้าย รบ.ประยุทธ์ ส่วนจะเป็นโผส่งท้าย ‘บิ๊กตู่’ หรือไม่ อยู่ที่ผลการเลือกตั้ง !!