เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2564 พรรคเพื่อไทย จัดเสวนาผ่านโปรแกรมซูมในหัวข้อ “รับมือโควิดอย่างไร ไม่ให้ประเทศพัง” โดยคณะกรรมการนโยบายและวิชาการพรรคเพื่อไทย โดย นพดล ปัทมะ ประธานคณะกรรมการนโยบายและวิชาการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าภาครัฐต้องเรียนรู้จากการระบาดครั้งแรก โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจ ที่ต้องมีมาตรการเยียวยาออกมาพร้อมกันทันที อีกทั้งรัฐยังต้องลงทุนกับสิ่งที่คาดว่าจะเป็นจุดแข็งของประเทศไทยในอนาคต คือ ลงทุนในมนุษย์ ในด้านการศึกษา ลงทุนในระบบน้ำอย่างครบวงจร เพื่อให้เป็นศูนย์รวมอาหารของโลก และลุงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา
’พิชัย’ แนะเยียวยามากกว่า 1.5 หมื่น ปลุกรถเมล์-รถไฟฟรีคืนมา
สอดคล้องกับ พิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวง (รมว.) พลังงาน กล่าวถึงมาตรการทางการคลังรับมือโควิด-19 ว่ารัฐบาลต้องเยียวยาให้มากกว่า 15,000 บาท หรือนำนโยบายที่เคยดำเนินการในช่วงระบาดครั้งแรกกลับมาอีกครั้ง เช่น น้ำฟรี ไฟฟรี รถเมล์ฟรี ยังชี้ถึงปัญหาที่ต้องแก้ไขที่ระบบศุลกากรที่เคยมีต่างประเทศท้วงติงมา
พิชัยยังแนะนำให้ปรับปรุงระบบภาษีให้ลดความเหลื่อมล้ำ และจัดระเบียบงบประมาณแบบใหม่ลดงบประมาณของทหารและความมั่นคงลงเพื่อนำไปดำเนินการอย่างอื่นที่จำเป็น และต้องการเห็นภาครัฐดำเนินจัดการ "เวิร์กฟอร์มโฮม-เลิร์นฟอร์มโฮม-บายฟอร์มโฮม"
ส่วน กิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง การจัดสรรงบประมาณ มาตรการทางการเงินรับมือโควิด-19 และซอฟต์โลนที่ควรพึงใช้มาตรการในยามที่ไม่เป็นปกติ คือตั้งกองทุนเพื่อดูแลภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในวงเงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดความหายนะผ่านพ้นไปได้ ทั้งปัญหาประชาชนตกงาน ภาคธุรกิจที่ล้ม การจ้างงานที่หยุดชะงัก โดยย้ำว่าไม่ได้ต้องการให้เกิดความอ่อนแอตามมาตรการทางการเงิน ซึ่งเชื่อว่ามาตรการนี้ไม่ได้สร้างความเสียหายต่อระบบการเงินในประเทศ และยังชี้ว่าซอฟต์โลนไม่สามารถผลักดันเศรษฐกิจได้ ด้วยเงื่อนไขที่สูง โดยรัฐต้องผ่อนปรน
แนะรัฐจ่ายเงินนายจ้าง ไม่ให้ลูกจ้างตกงาน ควักจ่ายแรงงานนอกระบบเดือนละ 5 พัน
นอกจากนี้เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายฯพรรคเพื่อไทย กล่าวถึง มาตรการเยียวยาแรงงานในและนอกระบบว่า อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น 2 เท่าจากการล็อกดาวน์ สูงสุดในรอบ 11 ปี โดยท้วงติงว่ามาตรการด้านแรงงานยังแก้ไม่ตรงจุดเปรียบเหมือนทำให้คนตายแล้วมาช่วยค่าทำศพ พรรคเพื่อไทยจึงเสนอมาตราการโครงการจ้างงาน ที่เป็นมาตรการใช้ทั่วโลกแต่ไม่ได้เกิดในประเทศไทย
โดยแรงงานในระบบ การดำเนินการภาครัฐจ่ายเงินไปยังนายจ้าง เพื่อให้ลูกจ้างได้รับเงิน และลูกจ้างไม่ตกงาน โดยจ่ายแบบขั้นบันได้ร้อยละ 50-60 โดยมีข้อตกลงว่าผู้ประกอบการต้องรักษาการจ้างงานร้อยละ 90 ส่วนแรงงานนอกระบบเสนอให้จ่ายเดือนละ 5,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือน โดยจ่าย 6,000 บาทในพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเสนอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ประกอบการที่สามารถจ้างงานเพิ่มในช่วงวิกฤตได้ และให้ภาครัฐสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ขนาดใหญ่ เพื่อให้นายจ้างและลูกจ้างที่ตกงานเจอกันผ่านระบบเอไอ