ไม่พบผลการค้นหา
ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุ เซ็นสัญญาสัมปทาน รถไฟฟ้าสายสีเขียว สคร.อยู่ระหว่างพิจารณา ชี้ ให้ฝ่ายนโยบายตัดสินใจ ด้าน ‘ศรีสุวรรณ’ ร้อง สคร. รื้อทีโออาร์รถไฟฟ้าสายสีส้ม ขัดกฎหมาย หวั่นรัฐเสียค่าโง่

จากกรณีที่ กรุงเทพมหานครในฐานะคู่สัญญากับบริษัท ขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี ต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ – คูคต 38 ปี ในเงื่อนไขแลกหนี้ 1 แสนล้านบาท กับค่าโดยสาร 65 บาทตลอดสาย แต่ล่าช้า เพราะติดขัดในขั้นตอน รอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ เห็นชอบ ก่อนเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ล่าสุด กฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เพิ่งได้ยินเรื่องการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว แต่เรื่องนี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) น่าจะกำลังดูอยู่ ทุกอย่างมีขั้นตอน พิจารณาเสร็จเมื่อไหร่ ต้องขึ้นอยู่กับฝ่ายนโยบายที่จะต้องพิจารณาให้รอบคอบ

ขณะเดียวกัน วันนี้ (19 ต.ค. 2563) ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมาที่ สคร. เพื่อร้องเรียน ตามที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยคณะกรรมการคัดเลือกตาม ม.36 แห่ง พรบ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ได้มีมติเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2563 เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเอกสารประกวดราคาใหม่ (TOR) หลังจากที่มีการขายซองประกวดราคาไปแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดปกติและส่อไปในทางที่มิชอบด้วยกฎหมาย

122110909_2321176874673778_6671147124548562495_n.jpg

โดยการเปลี่ยนแปลงทีโออาร์ภายหลังการขายซองประกวดราคาไปแล้ว ถือว่าเป็นสาระสำคัญ และไม่เคยมีการดำเนินการลักษณะเช่นนี้กับโครงการขนาดใหญ่ที่เป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนมาก่อน ซึ่งปกติทั่วไปจะใช้วิธีการพิจารณาจะแยกซองเทคนิค หากผ่านตามเกณฑ์ จึงจะเปิดซองราคา โดยผู้ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดจะได้รับการคัดเลือก

แต่คราวนี้กลับคัดเลือกโดยใช้ข้อเสนอทางเทคนิคร่วมกับซองการเงิน ซึ่งจะเป็นช่องทางที่ส่อไปในทางไม่สุจริต ไม่เป็นธรรม หรืออาจเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มบริษัทใดบริษัทหนึ่งหนึ่งเป็นการเฉพาะหรือไม่ เพราะจะเป็นการเปิดโอกาสการใช้ดุลยพินิจของคณะกรรมการคัดเลือกได้มากกว่าแบบเดิม ซึ่งจะทำให้ได้ผู้ชนะการประมูลไม่ใช่ผู้ที่ให้ผลตอบแทนต่อรัฐสูงสุดก็ได้

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงทีโออาร์ใหม่หลังจากที่มีการขายซองประกวดราคาไปแล้วนั้น ถือได้ว่าเป็นการขัดต่อมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อ 28 ม.ค. 2563 และยังขัดต่อการรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐ ตาม ม.6(3) และ ม.32 ของ พรบ.ร่วมทุนฯ 2562 ประกอบกับข้อ 8(4) ของคณะกรรมการนโยบายร่วมทุนฯ อีกด้วย ดังนั้นเมื่อ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ใช้อำนาจเปลี่ยนแปลง TOR ซึ่งจะยังผลให้ไม่เป็นไปตามมติ ครม.และกฎหมายดังกล่าวแล้ว เมื่อเกิดการฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาล หากแพ้คดีขึ้นมาเสียค่าโง่ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ



ข่าวที่เกี่ยวข้อง :