ไม่พบผลการค้นหา
ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด 'ทรงชัย นกขมิ้น' นายก อบต.ราชาเทวะ และพวกรวม 14 คน ประมูลรถดับเพลิง 33 ล้าน โดยมิชอบ ชง อสส.ส่งศาลเอาผิดทางอาญา

วันที่ 16 ก.ค. 2564 นิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด ทรงชัย นกขมิ้น ตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ กับพวกรวม 14 ราย กรณีจัดซื้อรถยนต์ดับเพลิงกู้ภัย จำนวน 1 คัน ในราคา 33,920,000 บาท ขององค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะ เมื่อปี พ.ศ. 2555

คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติมอบหมายคณะไต่สวนเบื้องต้นดำเนินการไต่สวนเรื่องกล่าวหา ทรงชัย นกขมิ้น ตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ กับพวกรวม 14 ราย กระทำความผิดทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 กรณีจัดซื้อรถยนต์ดับเพลิงกู้ภัยแบบกระเช้าบันไดสูงไม่น้อยกว่า 22 เมตร ขนาด 10 ล้อ จำนวน 1 คัน ในราคา 33,920,000 บาท เมื่อปี พ.ศ. 2555

จากการไต่สวนข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในปี พ.ศ. 2555 องค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะ โดยทรงชัย นกขมิ้น นายกองค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะ ได้ดำเนินการจัดซื้อรถยนต์ดับเพลิงกู้ภัยแบบกระเช้าหอน้ำพร้อมบันไดด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ราคากลาง 33,950,000 บาท โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดคุณลักษณะฯ ประกอบด้วย สุนทร อ่อนแก้ว นิติกร รักษาราชการแทนหัวหน้าสำนักปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะ ณธัชพงษ์ ศรีแก้ว นักพัฒนาชุมชน 5 องค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะ เดชา เพ็ชรไทย เจ้าพนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 4 องค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะ และวันชัย สุวรรณวีรกุล ครูชำนาญการ สังกัดวิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ

ทรงชัย นกขมิ้น

โดยคณะกรรมการกำหนดคุณลักษณะฯ ได้พิจารณากำหนดรายละเอียดของเครื่องสูบน้ำให้เป็น “เครื่องสูบน้ำแบบแรงเหวี่ยงหนีศูนย์ ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ภายในประเทศที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) หรือได้รับการจดทะเบียนผลิตภัณฑ์กับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โดยมีเอกสารมาแสดงในวันยื่นซอง และมีเอกสารการแต่งตั้งเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องสูบน้ำจากบริษัทผู้ผลิตที่มีอำนาจเต็ม ใช้เอกสารการแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายฉบับจริง เพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อทางราชการมาแสดงในวันยื่นซองเสนอราคา

ซึ่งในขณะนั้นเครื่องสูบน้ำแบบแรงเหวี่ยงหนีศูนย์ยังไม่มีประกาศกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม แต่มีผู้ได้รับการจดทะเบียนไว้ที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมแล้ว จำนวน 6 ราย และมีเพียง 2 รายเท่านั้น ที่มีคุณสมบัติตรงตามประกาศขององค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะ คือ บริษัท โชคสมบูรณ์ อิควิปเมนท์ จำกัด และบริษัท พนัสรุ่งเจริญ จำกัด และมีสิทธิเข้าเสนอราคาได้ ซึ่งบริษัท พนัสรุ่งเจริญ จำกัด เป็นบริษัทของพี่ชาย คำนวณ เลาไพบูลย์กิจเจริญ กรรมการผู้จัดการบริษัท โชคสมบูรณ์ อิควิปเมนท์ จำกัด

ดังนั้น การกำหนดคุณลักษณะเครื่องสูบน้ำแบบแรงเหวี่ยงหนีศูนย์ของคณะกรรมการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะฯ ดังกล่าว จึงเป็นการมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และมีลักษณะกีดกันผู้ผลิตรายอื่นๆ ที่มีคุณสมบัติตรงตามประกาศฯ แต่ไม่ได้จดทะเบียนผลิตภัณฑ์เครื่องสูบน้ำแบบแรงเหวี่ยงหนีศูนย์ไว้กับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม

ป.ป.ช..jpg

สำหรับในการดำเนินการประมูลซื้อด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์รถยนต์ดับเพลิงกู้ภัยฯ นั้น ปรากฏว่า มีผู้มาซื้อซองเอกสารประมูลฯ จำนวน 8 ราย แต่มีผู้มายื่นซองเอกสารการประมูลฯ จำนวน 5 ราย โดยมีผู้ผ่านการคัดเลือกให้เข้าเสนอราคา จำนวน 3 ราย ได้แก่ บริษัท โชคสมบูรณ์ อิควิปเมนท์ จำกัด บริษัท วี พี ไฟร์ อิควิปเมนท์ จำกัด และบริษัท เจริญสุขถาวร จำกัด ซึ่งผู้เสนอราคาทั้ง 3 ราย ได้เสนออุปกรณ์ปรับแรงดันสูงอัตราการไหลสูง (Regulator) เป็นรุ่นเดียวกันคือ Pressure Regulator U 47 ผลิตจากประเทศเยอรมณี แต่ปรากฏว่าบริษัท วี พี ไฟร์ อิควิปเมนท์ จำกัด และบริษัท เจริญสุขถาวร จำกัด ได้ใช้หนังสือแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ปรับแรงดันสูงอัตราการไหลสูง (Regulator) ซึ่งเป็นเอกสารปลอมมาแสดงต่อคณะกรรมการดำเนินการประมูลฯ ในวันยื่นซอง

รวมทั้งผู้เสนอราคาทั้ง 3 ราย มิได้มีการทดลองและสาธิตอุปกรณ์ดังกล่าวในวันยื่นซอง ซึ่งไม่เป็นไปตามเอกสารประมูลซื้อฯ และรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะฯ แต่คณะกรรมการดำเนินการประมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบด้วย อรุณี มหัทธนะสิน รองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะ หทัยพัชร ช่วงชู หัวหน้าฝ่ายบริหารทั่วไป องค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะ และณธัชพงษ์ ศรีแก้ว ไม่ได้ตรวจสอบรายละเอียดหนังสือแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายของบริษัท วี พี ไฟร์ อิควิปเมนท์ จำกัด และบริษัท เจริญสุขถาวร จำกัด กลับพิจารณาให้ผู้เสนอราคาทั้ง 3 ราย เป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วน ทั้งที่ผู้ยื่นเอกสารการประมูลทั้ง 3 รายดังกล่าวขาดคุณสมบัติ และในวันที่ 3 ก.พ. 2555 บริษัท บีส ไดแมนชั่น จำกัด ผู้ให้บริการตลาดกลางได้จัดการประมูลอิเล็กทรอนิกส์โครงการจัดซื้อรถยนต์ดับเพลิงกู้ภัยแบบกระเช้าพร้อมบันได

ผลปรากฏว่าบริษัท โชคสมบูรณ์ อิควิปเมนท์ จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดในราคา 39,920,000 บาท และคณะกรรมการดำเนินการประมูลฯ ได้รายงานผลการประมูลฯ และเสนอให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะทำสัญญากับบริษัท โชคสมบูรณ์ อิควิปเมนท์ จำกัด

หมู่อาร์มร้อง ป.ป.ช. ทุจริต ปปช

นอกจากนี้ ยังปรากฏหลักฐานว่าทั้งสามบริษัทที่เสนอราคา มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน โดยบริษัท เจริญสุขถาวร จำกัด มีที่ตั้งอยู่ภายในรั้วเดียวกับบริษัท โชคสมบูรณ์ อิควิปเมนท์ จำกัด และตั้งขึ้นมาเพื่อเอื้อประโยชน์ในทางธุรกิจของบริษัท โชคสมบูรณ์ อิควิปเมนท์ จำกัด

สำหรับบริษัท วี พี ไฟร์ อิควิปเมนท์ จำกัด นั้น ได้รับการว่าจ้างจากบริษัท โชคสมบูรณ์ อิควิปเมนท์ จำกัด ให้ยื่นซองเอกสารการประมูล โดยมี ฐิดาพรรณ์ พัฒน์วีรภรกุล อดีตภรรยาของคำนวณ เลาไพบูลย์กิจเจริญ เจ้าของบริษัท โชคสมบูรณ์ อิควิปเมนท์ จำกัด เป็นผู้ดำเนินการ ให้ธนาคารออกหนังสือค้ำประกัน (หลักประกันซอง) ให้แก่บริษัท เจริญสุขถาวร จำกัด และบริษัท วี พี ไฟร์ อิควิปเมนท์ จำกัด เพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบในการยื่นเอกสารประมูลจัดซื้อรถยนต์ดับเพลิงฯ ในโครงการดังกล่าว

คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาแล้วมีมติ ดังนี้

1. การกระทำของทรงชัย นกขมิ้น มีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 123/1 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 มาตรา 11 และมาตรา 12 และมีมูลความผิดฐานจงใจทอดทิ้งหรือละเลยไม่ปฏิบัติการตามอำนาจและหน้าที่อันจะเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง หรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยหน้าที่หรือประพฤติตนฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อย ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 90/1

2. การกระทำของสุนทร อ่อนแก้ว , ณธัชพงษ์ ศรีแก้ว , เดชา เพ็ชรไทย และวันชัย สุวรรณวีรกุล มีมูลความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 123/1 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 11 และมาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง (นายสุนทร อ่อนแก้ว ได้ถึงแก่ความตายแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39/1)

3. การกระทำของอรุณี  มหัทธนะสิน , หทัยพัชร ช่วงชู และณธัชพงษ์ ศรีแก้ว ไม่มีมูลความผิดทางอาญา แต่การกระทำดังกล่าวมีมูลเป็นความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง

4. การกระทำของบริษัท โชคสมบูรณ์ อิควิปเมนท์ จำกัด คำนวณ เลาไพบูลย์กิจเจริญ (กรรมการผู้จัดการบริษัท โชคสมบูรณ์ อิควิปเมนท์ จำกัด) บริษัท วี พี ไฟร์ อิควิปเมนท์ จำกัด ศุภัทรา วงค์แดง (กรรมการผู้จัดการบริษัท วี พี ไฟร์ อิควิปเมนท์ จำกัด) บริษัท เจริญสุขถาวร จำกัด และสมโภช จงจิตต์เวชกุล (กรรมการผู้จัดการบริษัท เจริญสุขถาวร จำกัด) มีมูลความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 123/1 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 และมาตรา 11 และมาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86

นอกจากนี้การกระทำของบริษัท วี พี ไฟร์ อิควิปเมนท์ จำกัด ศุภัทรา วงค์แดง (กรรมการผู้จัดการบริษัท วี พี ไฟร์ อิควิปเมนท์ จำกัด) บริษัท เจริญสุขถาวร จำกัด และนายสมโภช จงจิตต์เวชกุล (กรรมการผู้จัดการบริษัท เจริญสุขถาวร จำกัด) มีมูลความผิดทางอาญาฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 มาตรา 268 ประกอบมาตรา 83 (บริษัท เจริญสุขถาวร จำกัด จดะเบียนเลิกบริษัทและจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2556 จึงสิ้นสภาพนิติบุคคลไม่อาจถูกฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลได้ จึงให้ยุติการดำเนินคดีกับบริษัทดังกล่าว)

5. การกระทำของฐิดาพรรณ์ พัฒน์วีรภรกุล มีมูลความผิดทางอาญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86

นิวัติไชย กล่าวว่า จากนี้จะส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ และให้แจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งทราบ