ไม่พบผลการค้นหา
'เยาวราช' ถูกเรียกขานว่า Chinatown ทั้งยังเป็นศูนย์กลางการเงิน-การค้าที่สำคัญของประเทศ แต่ประวัติศาสตร์ของย่านเก่าแก่แห่งนี้มีสีสันที่เกิดจากวิถีชีวิตของผู้คนหลากหลาย และบางอย่างก็ไม่มีให้เห็นอีกแล้วในปัจจุบัน

จุดเริ่มต้นของ 'ถนนเยาวราช' ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริม 'ย่านการค้าใหม่' ในกรุงเทพฯ จึงได้มีการสร้างตึกแถวสมัยใหม่ขึ้นสองข้างถนนเพื่อให้คนเช่าทำการค้า เปลี่ยนโฉมหน้าไปจากเดิมซึ่งเคยเป็นย่านที่อยู่อาศัยของประชากรเชื้อสายจีน

เวลาผ่านไปนานกว่าร้อยปี อาจเรียกได้ว่า 'บรรลุเป้าหมาย' ไปไกลมาก เพราะถนนสายนี้กลายเป็นย่านการเงิน การค้า แหล่งรวมร้านทองที่มีมูลค่าสูงติดอันดับต้นๆ ของประเทศ ทั้งยังเป็นแหล่งรวมประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมชาวจีนโพ้นทะเลในไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน 

ฐานข้อมูลของสำนักข่าวรอยเตอร์สที่ 'วอยซ์ออนไลน์' สืบค้นได้ มีภาพประวัติศาสตร์บางตอนของถนนเยาวราชที่ย้อนกลับไปไกลสุดในปี 2515 ซึ่ง 'รอยเตอร์ส' บันทึกว่าชุมชนสองข้างถนนเยาวราชในยุคนั้นเป็นแหล่งรวมสินค้า 'ลักลอบนำเข้า' จาก 'สาธารณรัฐประชาชนจีน' แต่สามารถวางจำหน่ายได้อย่างเปิดเผย โดยวัดจากบรรยากาศช่วงก่อนเทศกาลตรุษจีนปีนั้นที่ดำเนินไปอย่างคึกคัก มีผู้เดินทางมาจับจ่ายใช้สอยกันอย่างต่อเนื่อง 

REUTERS-บรรยากาศจับจ่ายใช้สอยช่วงตรุษจีนที่เยาวราช ปี 2515.jpg

(ภาพจาก REUTERS)

สาเหตุที่รอยเตอร์สรายงานว่าสินค้าจากจีนต้อง'ลักลอบนำเข้า' ในขณะนั้น เป็นเพราะจีนเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่คอมมิวนิสต์ แต่ยังไม่ได้สานสัมพันธ์กับไทยอย่างเป็นทางการ และรัฐบาลไทยเองก็หวาดระแวง 'ลัทธิคอมมิวนิสต์' อย่างหนัก ทั้งยังมีนโยบายใช้กำลังอาวุธปราบปราม 'ผู้สนับสนุนคอมมิวนิสต์' ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม สินค้าจากสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือที่คนยุคหนึ่งเรียกว่า 'จีนแดง' เป็นสิ่งที่คนจำนวนมากต้องการซื้อหา สินค้าเหล่านี้จึงถูกลำเลียงผ่านทางเรือบรรทุกสินค้ามายังไทย ก่อนจะมาวางจำหน่ายในเยาวราช และสินค้า 'จีนแดง' ก็มีมูลค่าทางการตลาดมากพอที่หอการค้าไทยในขณะนั้นออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเปิดเจรจาการค้ากับรัฐบาลจีนเป็นการเฉพาะ

อีกทั้งความสัมพันธ์ 'ไทย-จีน' ก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็มีประวัติศาสตร์เกี่ยวโยงกันทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง จึงเป็นเรื่องยากที่จะตัดขาดจากกันได้

จนกระทั่งไทยและจีนสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการในปี 2518 การติดต่อค้าขาย-แลกเปลี่ยนความร่วมมือในด้านต่างๆ จึงพัฒนาขึ้นตามลำดับ


วิถี 'จับกัง' และ 'หมองู'

ข้อมูลเกี่ยวกับ 'ถนนเยาวราช' จากศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช วัดไตรมิตรวิทยาราม ระบุว่า ถนนเยาวราช เป็นพื้นที่ระหว่างถนนเจริญกรุงและถนนสำเพ็ง ซึ่งแต่เดิมเป็น 'ชุมชนแออัดของชาวจีน' และกระทรวงโยธาธิการกราบบังคมทูลพระกรุณาต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เพื่อตัดถนน

จากนั้นพระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้ปลูกตึกแถวให้เช่า เปิดโอกาสให้ชาวจีนจำนวนมากได้เริ่มต้นกิจการของตัวเอง จนกลายเป็นพื้นที่เก็บภาษีอากร 'โรงร้าน' ได้มากที่สุดในประเทศ

REUTERS-กุลีขนข้าวสารเยาวราช.jpg

(ภาพจาก REUTERS)

เมื่อย่านเยาวราชเป็นแหล่งการค้าที่สำคัญ จึงมีผู้ประกอบอาชีพที่หลากหลาย และในวิดีโอของรอยเตอร์สซึ่งบันทึกไว้ช่วงปี 2518-2521 พบว่าอาชีพที่พบเห็นได้ทั่วไปในย่านเยาวราช (ไม่รวมเจ้าของกิจการร้านค้า) ก็คือ 'จับกัง' ซึ่งแม้จะมีความหมายที่แท้จริงว่า "ผู้ที่ทำงานได้หลายอย่าง" แต่คนในสังคมไทยจำนวนมากใช้คำนี้เรียกกรรมกร หรือแรงงานรับจ้างแบกหามสินค้า

อีกอาชีพหนึ่งที่มีสีสันและไม่มีให้เห็นอีกแล้วในเยาวราชยุคศตวรรษที่ 21 คือ อาชีพ 'หมองู' ซึ่งรอยเตอร์สบันทึกวิถีชีวิตของ Kua Kwang Chong ชายเชื้อสายจีนรายหนึ่ง ผู้มีอาชีพขับแท็กซี่ในกรุงเทพฯ ช่วงวันจันทร์ถึงศุกร์ และเป็น 'หมองู' ในวันหยุดสุดสัปดาห์ โดยเขาเลือกตั้งโต๊ะเรียกลูกค้าริมถนนในเยาวราช เพื่อจำหน่าย 'ดีงู' 'เลือดงู' และ 'เนื้องู' ให้แก่ผู้ที่ต้องการ 

REUTERS-หมองูเยาวราช 2517.jpg

(ภาพจาก REUTERS)

งูที่เขาเลือกมาขายก็คือ 'งูเห่า' โดยอ้างว่า 'ดีงูเห่า' มีสรรพคุณบำรุงสายตา เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ กระตุ้นเลือดลม อ้างอิงจากความรู้ประจำตระกูลที่สืบทอดกันมา ซึ่งรอยเตอร์สระบุว่า ไม่อาจพิสูจน์คำกล่าวอ้างนี้เป็นจริงหรือไม่

วิธีการ 'เสนอขาย' เริ่มจากการนำงูเห่าเป็นๆ มากรีดลำตัวและใช้แก้วรองเลือดที่หยดออกมา จากนั้นจึงใช้มีดปาดดีงูสดๆ มาให้ 'ลูกค้า' กลืนลงท้องไปพร้อมกับเหล้าขาวดีกรีแรง หลังจากนั้นจะนำเนื้อและหนังงูไปขายให้แก่ร้านอาหารหรือผู้นิยมรับประทานเนื้องู

สนนราคาของดีงูและเลือดงูอยู่ที่ 120 บาท ส่วนหนังงูและเนื้องูที่เหลือ ราคาประมาณ 40 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดของงู

REUTERS-หมองูเยาวราช 2517-ดีงู.jpg

(ภาพจาก REUTERS)

อาชีพนี้เคยมีอยู่ในเยาวราช (และอาจจะที่อื่นๆ ของไทย) แต่ปัจจุบันไม่สามารถทำได้ เพราะการกระทำเช่นนี้จะเข้าข่ายละเมิดกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ซึ่งการซื้อขายงูเห่าจะเข้าข่ายความผิดในข้อหาค้าสัตว์ป่าด้วย 


เยาวราชยุค 'รถไฟฟ้ามาหา (แล้ว) นะเธอ'

สีสันของเยาวราชในปัจจุบันยังเกี่ยวพันกับความเป็นจีน ทั้งวิถีชีวิต ความเชื่อทางศาสนา และวัฒนธรรมต่างๆ รวมถึงการเป็นย่านธุรกิจการค้าและการเงิน ทั้งยังเป็นดัชนีชี้วัดกำลังซื้อของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลต่างๆ เช่น ตรุษจีน กินเจ ในแต่ละปีอีกด้วย

ขณะที่ 5 ปีกว่าที่ผ่านมา ย่านเยาวราชได้รับการส่งเสริมในฐานะสถานที่ท่องเที่ยวและย่านถนนคนเดินซึ่งถูกตั้งเป้าให้เป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจ และเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ร่วมโครงการ 'ชิมช้อปใช้' ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อปีที่แล้ว

ภาครัฐคาดหวังด้วยว่า 'เยาวราช' จะได้รับอานิสงส์จากโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน จากสถานีหัวลำโพง-สถานีบางแค ซึ่งทำให้การเดินทางไปย่านนี้สะดวกง่ายดายขึ้น ไม่ต้องกังวลเรื่องการจราจรหนาแน่น และไม่ต้องพึ่งพารถยนต์ส่วนตัว

เยาวราช

แต่จากการลงพื้นที่สำรวจของ 'ทีมข่าวเศรษฐกิจ วอยซ์ออนไลน์' เมื่อปลายปี 2563 เจ้าของร้านค้าในย่านนี้ระบุว่า คนมาเดินเยอะขึ้น แต่ไม่ได้จับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น เพราะไม่มีเงิน ขณะที่ผู้ค้าบางรายระบุว่า การจัดระเบียบร้านค้าในย่านเยาวราชที่รัฐบาลผลักดันช่วงก่อนหน้านี้ ส่งผลให้ธุรกิจค่อนข้างซบเซาไปกว่าเดิม

นอกจากนี้ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ซึ่งลงพื้นที่สำรวจความเป็นอยู่ของผู้ค้าและประชาชนในย่านเยาวราชช่วงปลายปีที่แล้ว ระบุว่ามีผู้ค้าในเยาวราชร้องเรียนเรื่องชาวต่างชาติเข้ามาแบบผิดกฎหมาย และลักลอบนำสินค้าเข้ามาขายตัดราคาผู้ค้าในย่านเยาวราชและสำเพ็ง โดยสาเหตุที่ขายสินค้าได้ถูกกว่าเพราะลักลอบนำเข้า ไม่ได้เสียภาษี ทั้งยังไม่เสียค่าเช่า จึงเป็นการซ้ำเติมผู้ค้าในพื้นที่อีกระลอกหนึ่ง

ส่วนเทศกาลตรุษจีนปี 2563'เยาวราช' เป็นอีกย่านหนึ่งที่ต้องเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของ 'เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่' ซึ่งมีต้นทางจากเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ยของจีน เพราะองค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนว่า การเดินทางของประชากรชาวจีนไปยังที่ต่างๆ ทั่วโลกในช่วงก่อนและระหว่างเทศกาลตรุษจีน อาจทำให้มีผู้ติดเชื้อนี้เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับการยืนยันว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แล้ว ส่วนที่อื่นๆ ได้แก่ ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ สิงคโปร์ และเวียดนาม

ภาพปก: Waranont (Joe) on Unsplash