นายโสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์วิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ ในฐานะประธานเครือข่ายสิ่งแวดล้อมและประชาชนอย่างยั่งยืน เสนอข้อมูลผลสำรวจและแนวทางการแก้ไขปัญหากรณีเหมืองทองคำอัครา จ.พิจิตร ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล
พร้อมข้อเสนอ 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ให้เปิดเหมืองขึ้นใหม่ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนในพื้นที่ 2. ให้ตั้งคณะทำงานดำเนินการตรวจตราให้เคร่งครัดในกรณีที่อาจถูกร้องเรียนต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหามลพิษดังที่มีเสียงเรียกร้องจากประชาชนข้างน้อย และ 3.เพื่อให้ประเทศไทยรวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไม่ต้องเสียค่าปรับ หากแพ้คดีกับเหมืองอัคร รัฐบาลควรขยายระยะเวลาสัมปทานออกไปอีก 2-3 ปี จากกำหนดการเดิม เพื่อชดเชยระยะเวลาที่ขาดหายไปจากคำสั่งปิดเหมือง
โดยคณะวิจัยของเครือข่ายสิ่งแวดล้อมและประชาชนอย่างยั่งยืน ได้ให้คณะนักศึกษาจากวิทยาลัยชุมชนพิจิตร วิทยาเขตทับคล้อ 22 คน เป็นผู้ออกสำรวจทำแบบสอบถาม ประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากนักศึกษาเหล่านี้เป็นคนในพื้นที่รู้จักเส้นทางและสภาพชุมชน โดยได้สำรวจและสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างคิดเป็นร้อยละ 20 ของประชากรในพื้นที่และมีอายุ 20 ปีขึ้นไป
จากผลสำรวจพบว่า ประชาชนร้อยละ 93 เห็นว่าสภาพแวดล้อมมลพิษก่อนปิดเหมืองกับปัจจุบันเหมือนเดิม ไม่ได้แตกต่างกัน การปิดเหมืองไม่ได้ทำให้สภาพมลพิษดีขึ้น และมีเพียงร้อยละ 7 ที่มองว่า มลพิษลดลง สิ่งแวดล้อมดีขึ้น
อีกทั้งประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 89 ต้องการให้ "เปิดเหมืองทองคำขึ้นใหม่" เพราะเหตุผลทางเศรษฐกิจและการปิดเหมืองส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของครอบครัว มีเพียงร้อยละ 11 ที่เห็นด้วยกับการปิดเหมืองทองคำ โดยในกลุ่มประชาชนที่เห็นด้วยกับการปิดเหมืองนี้ มีกลุ่มอาชีพค้าขายอาชีพอิสระสัดส่วนมากที่สุดถึงร้อยละ 17 รองลงมาได้แก่ กลุ่มเกษตรกรรมร้อยละ 14 และกลุ่มรับราชการรัฐวิสาหกิจร้อยละ 9 ว่างงานร้อยละ 6 กลุ่มพนักงานเหมืองร้องละ 5 ว่างงานร้อยละ 5 และเกษียณอายุร้อยละ 2 โดยในจำนวนนี้ร้อยละ 21 ให้เหตุผลที่เห็นด้วยกับการปิดเหมืองเพราะฝุ่นละอองเยอะ
ส่วนเหตุผลที่ต้องการให้เปิดเหมืองขึ้นใหม่ พบว่า เพราะขาดรายได้ร้อยละ 24 เพราะไม่มีงานประจำทำร้อยละ 21 ตกงาน เศรษฐกิจตกต่ำ อย่างละร้อยละ 15 เพราะทำงานไกลบ้าน ร้อยละ 13 ค้าขายซบเซาร้อยละ 3 ครอบครัวแตกแยกร้อยละ 2 ไม่ได้อยู่กับครอบครัวร้อยละ 2 ส่วนที่เหลือให้เหตุผลว่า เพราะไม่มีมลพิษ ไม่มีเงินช่วยเหลือหมู่บ้าน รายได้ลดลง ขาดลูกค้า และภาระเพิ่มขึ้น
"การสำรวจครั้งนี้ มีประชาชนมากถึงร้อยละ 89 ต้องการให้เปิดเหมืองอีกครั้ง หลังจากเมื่อปี 2559 ทีมเคยทำการสำรวจความเห็นประชาชนในพื้นที่มาแล้วครั้งหนึ่งตอนนั้นมีผู้ต้องการให้เปิดเหมืองขึ้นใหม่ร้อยละ 78 ดังนั้น การเสนอให้รัฐบาลเห็นข้อมูลตรงนี้ จึงนับเป็นเรื่องสำคัญและต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้ง และจะไม่ถือเป็นการเสียหน้า เพราะเรื่องนี้เป็นความต้องการของประชาชนในพื้นที่" นายโสภณ กล่าว
ทั้งนี้ การสำรวจดังกล่าวเป็นการทำแบบสอบถามทั้งหมด 572 ชุด เป็นตัวแทนของประชากรในพื้นที่มีจำนวน 7,520 คน แต่มีประชากรที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป ประมาณร้อยละ 72 จึงอนุมานว่า ประชากรกลุ่มเป้าหมายที่ทำแบบสอบถามมีจำนวน 5,398 คน แต่ครึ่งหนึ่งอยู่ห่างไกลเหมืองทองคำ โดยผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 54 เป็นผู้หญิง ร้อยละ 46 เป็นผู้ชาย อีกทั้งผู้ตอบแบบสอบถามกลุ่มใหญ่เป็นคนวัย 46- 60 ปี สัดส่วนร้อยละ 38 รองลงมาร้อยละ 34 อายุเกิน 60 ปี ร้อยละ 20 อายุ 31-45 ปี และร้อยละ 8 อายุไม่เกิน 30 ปี
อีกทั้งผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ร้อยละ 44 อาศัยอยู่ในพื้นที่ตั้งแต่เกิด และสองในสามอยู่ในพื้นที่เป็นเวลาเฉลี่ย 38 ปี มีอาชีพค้าขายร้อยละ 33 เกษตรกรรมร้อยละ 29 รับจ้างร้อยละ 15 ที่เหลือเป็นพนักงานเหมือง เกษียณอายุ ว่างงาน และรับราชการรัฐวิสาหกิจ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :