ไม่พบผลการค้นหา
’ศิริกัญญา' โอดเสียดาย กมธ. รายงานผลกระทบควบรวมทรู-ดีแทค ไม่ทันสมัยสภาฯ เตรียมใช้กลไกกฎหมายเอาผิด กสทช. ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่หากเคาะให้ควบรวม ด้าน ‘สารี’ หวั่นควบรวมสำเร็จทำโทรคมนาคมไทยถอยหลัง 10 ปี ไม่หวั่นถูก กสทช.ฟ้องเผยผลศึกษาต่างประเทศ

วันที่ 20 ต.ค. 2565 ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคและส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงการขับเคลื่อนด้วยกลไกสภาผู้แทนราษฎรต่อกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคม ทรูและดีแทคกรณีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะมีมติชี้ขาด โดยระบุว่า ก่อนหน้านี้เราได้พยายามทำทุกวิถีทาง แต่น่าเสียดายที่ผลการศึกษาผลกระทบของการควบรวมของคณะกรรมาธิการวิสามัญ ศึกษาผลกระทบของการควบรวมไม่สามารถนำเสนอต่อที่ประชุมสภาได้ทันเวลา 

ศิริกัญญา ระบุว่า ต่อจากนี้ ก็คงใช้กลไกแบบเดิมเช่นการตั้งกระทู้สดถามรัฐมนตรีถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น รวมถึงมาตรการต่างๆ ว่าจะสามารถเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ และจะทำให้บริษัทที่ควบรวมปฏิบัติตามได้อย่างไร ยกตัวอย่างกรณีของการควบรวมกิจการซีพีและโลตัสที่ทำให้เห็นถึงความย่อหย่อนในการบังคับใช้กฎระเบียบที่เคยประกาศไว้ต่อประชาชน

นอกเหนือจากบทบาทของ ส.ส.ในสภา ยังสามารถใช้กลไกทางกฎหมายเอาผิดสำนักงาน กสทช. ซึ่งต้องมีหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของประชาชนและคงสภาพการแข่งขันระหว่างกิจการโทรคมนาคมให้ยังคงอยู่ได้ แต่กลับไม่ใช้อำนาจในส่วนนี้ถือว่ามีความผิดตามมาตรา 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งจะมีการยื่นฟ้องต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต่อไป รวมถึงในมุมของสภาองค์กรของผู้บริโภค ในฐานะผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงตามกฎหมาย สามารถยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้คุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชน 

สำหรับบทบาทของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลกระทบการควบรวมนี้ แม้จะสิ้นสุดบทบาทเมื่อทำรายงานผลกระทบเสร็จแล้ว แต่ยังสามารถยื่นญัตติเพื่อตั้งคณะกรรมาธิการติดตามผลของการควบรวมได้ หาก กสทช. อนุญาตให้มีการควบรวม แต่ยังคงมีความหวังอย่างมาก ว่าวันนี้ กสทช. จะมีมติว่าไม่ให้ควบรวม เพื่อให้งานของพวกเราเบาบางลง และไม่ต้องทำในสิ่งที่กล่าวไปข้างต้น

'สารี' ไม่หวั่นถูกฟ้อง ชี้หากควบรวมทรู-ดีแทค ทำโทรคมนาคมไทยถดถอยไป 10 ปี

ด้าน สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยหลังถูกฟ้องดำเนินคดีจากการนำเอกสารผลการศึกษาที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ไปว่าจ้างหน่วยงานต่างประเทศศึกษาผลกระทบของการควบรวมกิจการโทรคมนาคมต่อสาธารณะ ยืนยันว่าข้อมูลที่ตนเปิดเผยนั้น มีประโยชน์ต่อสาธารณะ เพราะเป็นข้อมูลผลการศึกษาของต่างประเทศที่ระบุชัดเจนว่า ไม่ควรให้เกิดการควบรวมกิจการโทรคมนาคมในประเทศไทยจนเหลือเพียง 2 เจ้า

สารี เผยว่า สิ่งที่ตนอยากเห็นคือการที่ กสทช. สนับสนุนให้ทรูและดีแทค มีศักยภาพเพียงพอที่จะสามารถแข่งขันกับ AIS มากขึ้น โดยไม่ใช้วิธีการควบรวม ดังนั้นข้อมูลต่างๆ ควรจะเปิดเผยให้ประชาชนรับทราบเพื่อให้เกิดประโยชน์สาธารณะสูงสุด โดยเฉพาะในข้อมูลที่เปิดเผยระบุชัดเจนว่าไม่ควรให้ควบรวมและจะทำให้ผู้ที่มีรายได้น้อยเข้าถึงบริการดิจิตอลได้ยาก จะสร้างความถดถอยของธุรกิจโทรคมนาคมไปอีก 10 ปี

หากวันนี้ กสทช. ยังไม่ตัดสินใจ จะถือว่า กสทช. ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ แต่หาก กสทช. ใช้ดุลยพินิจให้ควบรวมหรือไม่ให้ควบรวม ก็จะดูว่าสอดคล้องกับ มาตรา 60 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ที่ กสทช. ต้องรักษาผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน 

จากนั้น สารี อ๋องสมหวัง ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข เลขานุการประจำประธานบอร์ด กสทช. โดยที่ผ่านมา สภาองค์กรของผู้บริโภค แสดงจุดยืนคัดค้านการควบรวมทรู และดีแทค พร้อมเรียกร้องให้ กสทช.รักษาผลประโยชน์สูงสุดให้กับประชาชนซึ่งเป็นหน้าที่ของ กสทช. ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 60 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ด้วยการไม่อนุญาตให้เกิดการควบรวม เนื่องจากเห็นว่าหากวิเคราะห์ตาม มาตรา 21 ในพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ปี 2549 จะพบว่าได้มีการแสดงเจตนารมณ์ทางกฎหมายอย่างชัดเจนว่าไม่ต้องการให้มีการผูกขาด หรือลดการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมในธุรกิจประเภทเดียวกัน