ไม่พบผลการค้นหา
ทำความเข้าใจผ่านกรณีตัวอย่างการอยู่ร่วมกันระหว่างศาสนาพุทธ กับผี ในอุษาคเนย์

อยู่ดีๆ พี่ไทยเราก็มี ‘ของขลัง’ ระดับนวัตกรรมเพิ่มขึ้นมานะครับ แถมยังไม่ใช่ของขลังธรรมดา เพราะว่าเป็นความขลังที่ทำมาจาก ‘กะโหลก’ ส่วนหน้าผาก (Frontal bone) ของหญิงสาวอายุ 23 ปี ซึ่งถูก ‘ควายเผือก’ ขวิดตายในขณะที่เธอตั้งครรภ์ได้ราว 7 เดือนเศษ เรียกได้ว่าเธอ ‘ตายท้องกลม’

และเธอผู้เคราะห์ร้ายคนนั้น รู้จักกันในวงการของขลังว่า ‘พี่นวล’

เมื่อพี่นวลตายท้องกลม แถมยังไม่ได้ตายแบบปกติ แต่ตายในลักษณะที่มีความเป็นไปได้ยากเสียยิ่งกว่าการงมเข็มในมหาสมุทรแปซิฟิกขนาดนี้ จึงชวนให้เชื่อกันไปได้ง่ายๆ ว่า วิญญาณของพี่นวลจะต้องเฮี้ยนในระดับ ‘โคตรเฮี้ยน’ แถมใครคนที่อ้างว่า ได้การเอากะโหลกส่วนหน้าผากของพี่นวลมาจัดทำเป็นของขลัง (หลังจากที่มีพระสงฆ์ที่มีดีกรีความขลังยิ่งกว่าไปปราบพี่นวลลงได้ ตามสูตรสำเร็จเรื่องผีแบบไทยๆ) เขาก็อ้างเอาไว้อย่างนั้นเสียด้วย

ยิ่งเมื่อคนที่เอาเรื่องของขลังที่เอาชิ้นส่วนกะโหลกของพี่นวล มายัดไว้ในล็อคเก็ต จนกลายเป็นของขลังที่มีทั้งหน้าตาและชื่อเรียกน่าเอ็นดูว่า ‘ล็อคเก็ตพี่นวล’ เป็นคนดังระดับเซเล็บ ก็ยิ่งเพิ่มมูลค่าให้ของขลังในบรรจุภัณฑ์กิ๊บเก๋ สวมใส่ง่าย แถมดูคูลๆ ชิ้นนี้มีมูลค่ามากกว่าชิ้นละ 60,000 บาท กันเลยทีเดียว

แต่ทำไมใครหลายคนยังเชื่อว่า กะโหลกของพี่นวลเป็นของขลัง ทั้งๆ ที่ท้ายสุดเธอก็ไม่ได้ขลังไปกว่าพระสงฆ์องค์ที่ไปปราบเธอ? เรื่องนี้คงต้องทำความเข้าใจผ่านกรณีตัวอย่างเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันระหว่างศาสนาพุทธ กับผี บางกรณีในอุษาคเนย์นี่แหละ

ตัวอย่างที่นาสนใจมีอยู่ในนิทานเกี่ยวกับพระธาตุอินทร์แขวน ในประเทศพม่า ซึ่งมีเรื่องเล่าค่อนข้างยืดยาว และซับซ้อน แต่พอจะสรุปความได้ว่า เมื่อ 2,000 ปีมาแล้ว มีวิทยาธร (พม่าเรียก ซอว์จี) ตนหนึ่งเป็นลูกศิษย์ของฤาษีอาคมกล้าที่อาศัยอยู่ในป่าลึก วิทยาธรตนนี้พบรักกับนางนาคตนหนึ่ง จนมีลูกด้วยกันหนึ่งคน (น่าแปลกที่ทำไมไม่เป็นหนึ่งตน?) ฤาษีช่วยเลี้ยงลูกของคู่รักคู่นี้จนเติบใหญ่เป็นเจ้าผู้ครองเมืองชื่อ พระเจ้าติสสะ

อยู่มาวันหนึ่งฤาษีรู้ตนว่าถึงแก่กาลละสังขาร จึงมอบพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าที่ประทานแก่ฤาษีไว้ เมื่อคราวที่พระพุทธองค์โปรดสัตว์ในถ้ำพระฤาษี พระฤาษีซ่อนพระเกศาธาตุไว้ในมุ่นมวยผมของตนเองเป็นเวลานาน แต่ฤาษีมีข้อแม้ว่า พระเจ้าติสสะจะต้องหาก้อนหินที่มีรูปร่างคล้ายศีรษะของพระฤาษี แล้วสร้างพระเจดีย์ครอบทับพระเกศาธาตุอยู่บนหินก้อนนั้น จึงจะยอมยกพระเกศาธาตุให้

นิทานย่อมมีหลายสำนวน บางสำนวนเล่าว่า พระอินทร์ บางสำนวนก็ว่า นัต (คือผีที่ตายร้าย ตายโหง แล้วกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตามศาสนาพื้นเมืองดั้งเดิมของพม่า ซึ่งจะถูกผนวกเข้าไว้ในศาสนาพุทธในเวลาต่อมา) ตามมาช่วยพระเจ้าติสสะหาก้อนหินมาจากพื้นมหาสมุทร มา ‘แขวน’ ไว้บนหน้าผา และในขณะที่กำลังก่อสร้างเจดีย์อยู่นั้น พระเจ้าติสสะได้พบรักกับธิดาสาวของหัวหน้าชาวกะเหรี่ยงที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณนั้น เธอชื่อ ‘ชเวนันจิน’

ต่อมาเธอตั้งครรภ์แล้วป่วยกระเสาะกระแสะ เชื่อกันว่าเธอป่วยเพราะไม่ได้ไหว้ผีบรรพบุรุษก่อนแต่งงาน พระเจ้าติสสะจึงตรัสอนุญาตให้เธอกลับไปประกอบพิธี โดยมีพ่อและพี่ชายเดินทางไปเป็นเพื่อน ระหว่างทางกลางป่าเขา นัตตนหนึ่งแปลงเป็นเสือร้ายกระโดดเข้าขวางทาง พ่อและพี่ชายหนีเตลิดหายไปหมด เหลือแต่เธอที่ท้องแก่วิ่งหนีไม่ไหว ได้แต่นั่งทำสมาธิสวดมนต์ภาวนา ตาจ้องไปที่พระธาตุอินทร์แขวนที่พระสวามีสร้าง สุดท้ายเสือร้ายจึงจากไปโดยไม่ทำร้ายเธอเลย

ชเวนันจินกระเสือกกระสนปีนไปจนถึงฐานของพระธาตุอินทร์แขวน ตั้งจิตอธิษฐานขอให้ได้อยู่ใกล้พระธาตุตลอดไป จากนั้นเธอก็สิ้นลมลงอย่างสงบ พระเจ้าติสสะเมื่อติดตามมาถึงร่างเธอก็กลายเป็นหินไปเสียแล้ว นับแต่บัดนั้นมาวิญญาณของ ชเวนันจิน ก็ได้กลายเป็น ‘นัต’ ผู้พิทักษ์พระธาตุอินทร์แขวนไปในที่สุด

แน่นอนว่าหากคิดตามหลักวิทยาศาสตร์แล้ว คงไม่มีพระอินทร์ที่ไหนมาแขวนหินไว้บนหน้าผาแห่งนี้ ยิ่งคงจะไม่มีกษัตริย์ที่เกิดขึ้นมาจากพ่อแม่ที่เป็นวิทยาธรกับนางนาค หรือคนที่ตายลงแล้วกลายเป็นซากฟอสซิลได้ในทันที

แต่นี่ก็ไม่ใช่นิทานที่เหลวไหลไร้สาระเสียทีเดียว ถ้าคิดถึงร่องรอยที่แฝงอยู่ในนิทานเรื่องนี้ว่า ว่า พื้นที่บริเวณโดยรอบของพระธาตุอินทร์แขวน เป็นพื้นที่ของกะเหรี่ยงมาแต่เดิม และชาวกะเหรี่ยง แต่เดิมก็ไม่นับถือในพุทธศาสนา (ยิ่งไม่ต้องพูดถึงในสมัยที่สร้างพระธาตุอินทร์แขวน) แต่นับถือศาสนาผีดั้งเดิมของอุษาคเนย์ ที่มีร่องรอยของการนับถือหินก้อนใหญ่ หรือจัดการกับหินให้เกิดรูปทรง ซึ่งมีศัพท์วิชาการเรียกว่า ‘megalithic culture’

การเข้ามาของพระเจ้าติสสะ พร้อมวัฒนธรรมและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพุทธศาสนา อย่างพระเกศาธาตุ ได้จับบวชเอาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาผีของพวกกะเหรี่ยงอย่าง ‘หิน’ ที่นัตเอามาแขวนก้อนนี้ กลายเป็น ‘เจดีย์’ ที่พระอินทร์เอาหินมาแขวนไว้เป็นฐาน

ดังนั้น ถึงแม้ว่าพระพุทธศาสนาจะศักดิ์สิทธิ์จนพอที่จะมีอำนาจเหนือกว่าศาสนาผีดั้งเดิม แถมยังสามารถนำผีนัตมากลายเป็นผู้พิทักษ์พระศาสนาของตนเองได้ แต่ก็ศักดิ์สิทธิ์ไม่พอที่จะทำให้ผีพวกนี้ล้มหายตายจากไปเสียทีเดียวหรอกนะครับ อย่างน้อยที่สุด ชเวนันจินเธอก็เฮี้ยนพอที่จะเป็นผีผู้พิทักษ์พระธาตุสำคัญ อย่างพระธาตุอินทร์แขวนเลยก็แล้วกัน

และก็จึงไม่แปลกอะไรถ้าชิ้นส่วนกะโหลกของพี่นวลจะยังขลังอยู่ เพราะเอาเข้าจริงแล้วพระท่านก็ไม่มาปราบพี่นวลให้ตายจากไปเสียเลยทีเดียว ท่านมาเกี่ยเซี้ยให้พี่นวลไปอยู่ในที่เหมาะที่ควรของตน ในสังคมที่พระพุทธศาสนาเป็นใหญ่ต่างหาก

ด้วยเหตุผลทำนองนี้แหละครับ ที่ทำให้เรายังคงได้ยินถึงเสียงลือเสียงเล่าอ้างถึงสารพัดผีร้าย โดยเฉพาะความเฮี้ยนของผีตายท้องกลมอยู่เนืองๆ แม้ว่าพุทธศาสนาจะปักหลักอยู่ในภูมิภาคแห่งนี้มาอย่างเนิ่นนานเต็มทนแล้วก็ตาม

แต่สำหรับคนไทยแล้ว ผีตายท้องกลมที่โด่งดังที่สุดก็ยังไม่ใช่ทั้ง ชเวนันจิน และก็พี่นวล ที่เฮี้ยนและโด่งดังยิ่งกว่าก็คือ ‘นางนาก พระโขนง’ ซึ่งก็มีหลักฐานความเป็นมาน่าสงสัยอยู่พอดู เพราะหลักฐานชิ้นหนึ่งของนักหนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้าในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ทำให้เราไม่อาจจะแน่ใจได้ว่า เธอคนนี้ตายแล้วเฮี้ยนจริงๆ หรือเปล่าเช่นกัน?

เรื่องของเรื่องก็คือ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้ตอบจดหมายของแฟนหนังสือ สยามประเภท (ซึ่งก็คือหนังสือพิมพ์ของท่านเอง) ฉบับเดือนมีนาคม พ.ศ. 2442 ที่เขียนมาถามเกี่ยวกับเรื่องผีนางนาก เอาไว้ว่า เมื่อครั้งยังมีชีวิต แม่นาก หรืออำแดงนาก เป็นลูกของขุนศรีนายอำเภอ บ้านอยู่ปากคลองพระโขนง และเป็นเมียนายชุ่ม

ต่อมาอำแดงนากตาย เพราะคลอดลูก นายชุ่มจึงเอาศพไปฝังไว้ที่วัดมหาบุศย์ จากนั้นก็มีเหตุผีนางนากออกอาละวาด คอยปาก้อนหินใส่เรือของผู้คนที่สัญจรไปมาในยามค่ำคืน แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า ผีนางนากที่เที่ยวหลอกหลอนผู้คนกลับเป็นลูกชายของนางนาก กับนายชุ่มเองนั่นแหละ ที่แกล้งปลอมเป็นผีแม่นาก เพราะไม่อยากให้พ่อของตนมีเมียใหม่

ส่วนที่ลูกนายชุ่มไม่อยากให้พ่อของตนไปมีเมียใหม่ ไม่ใช่เพราะความรักแม่อะไรหรอกนะครับ แต่เป็นเพราะนางนากทิ้งสมบัติเอาไว้มาก ส่วนนายชุ่มเองก็ไม่ใช่คนตัวเปล่าเล่าเปลือย แต่เป็นถึงนักแสดงโขน ตัวทศกัณฐ์ ในพระเจ้าบรมเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี เปรียบไปแล้วก็คล้ายกับดาราชื่อดังในยุคนี้แหละครับ ซึ่งว่ากันว่าเป็นคาสโนว่าหนุ่มคนหนึ่ง ลูกชายจึงกลัวว่า พ่อจะไปมีเมียใหม่แล้วเอาสมบัติของแม่ไปให้ลูกเมียใหม่เสียหมด

ถ้า ก.ศ.ร. กุหลาบ ไม่ 'กุ' เรื่องนี้ขึ้นมาเอง ข้อมูลนี้ก็น่าเชื่อถือพอสมควร ​เพราะความตอนนี้เป็น ก.ศ.ร. กุหลาบ อ้างว่า เป็นความที่พระศรีสมโภช (บุด) ผู้สร้างวัดมหาบุศย์ (วัดที่ทุกวันนี้มีศาลสักการะแม่นากนั่นแหละ) ได้เล่าถวาย สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส เลยทีเดียว

ดังนั้นจึงไม่มีหรอกนะครับ ทั้งผัวที่ชื่อ ‘พ่อมาก’ เพราะเป็นชื่อที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ตั้งขึ้นเอาตามพระทัยชอบเพื่อใช้ในบทละครร้องเรื่องอีนากพระโขนง เมื่อปี พ.ศ.​ 2454, ลูกที่ชื่อไอ้แดง, การยืดมือไปเก็บมะนาวที่ใต้ถุนนี่ก็มาจากละครเวที ภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ และอีกสารพัด จึงทำให้มีการผลิตซ้ำ และเล่าขานเรื่องราวของแม่นากต่อกันมาทุกยุคสมัย ซึ่งก็รวมถึงเรื่องที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต ไปปราบนางนาก พร้อมกับเอากะโหลกส่วนหน้าผากของนางนาก มาทำเป็น ‘ปั้นเหน่ง’ คือ ‘หัวเข็มขัด’ ด้วย

และก็จึงไม่แปลกอะไรเลยสักนิดถ้าทั้งชเวนันจิน ทั้งพี่นวล จะไม่ได้มีตัวตนอยู่จริง แต่อาจจะเป็นเพียงนิทาน นิยาย หรือเรื่องเล่าที่ถูกแต่งขึ้นมาอธิบายเหตุอะไรเฉยๆ ไปจนกระทั่งเรื่องที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อขายของมันลุ่นๆ เลยก็ได้

ก็ขนาดเซเล็บคนที่มาขยายความเรื่องล็อคเก็ตพี่นวลเสียจนโด่งดัง และเซ็งลี้ฮ้อ เขายังเข้าใจผิดว่า ‘ปั้นเหน่ง’ หมายถึง ‘กะโหลกหน้าผาก’ เลยนี่ครับ แล้วจะไปเอาอะไรกับความเข้าใจในเรื่องอื่นๆ?






Siripoj Laomanacharoen
0Article
0Video
0Blog