ไม่พบผลการค้นหา
กรมแพทย์แผนไทย สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วม "แสงชัย" วิจัย ตำรับยาหมอแสง"สูตรสมุนไพร" ที่แจกฟรีที่ปราจีนบุรี คาดระยะแรกเวลา3 เดือนรู้ผลช่วยรักษาผู้ป่วยมะเร็งได้จริงหรือไม่

จากปรากฏการณ์การแสงชัย แหเลิศตระกูล แจกแคปซูลสมุนไพรเพื่อช่วยผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ จ.ปราจีนบุรี ทุกๆ ต้นเดือนมาตลอดระยะเวลา 12 ปี โดยมีผู้ป่วยมะเร็งจำนวนมากไปเข้าคิวรอรับยา

โดยที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีการตรวจสอบถึงความปลอดภัยเบื้องต้นยังไม่พบอันตราย แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าสมุนไพรดังกล่าวรักษามะเร็งได้จริงหรือไม่

วันนี้ (29 พ.ย.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พร้อมด้วยนายแสงชัย แหเลิศตระกูล เจ้าของตำรับแคปซูลสมุนไพรช่วยผู้ป่วยโรคมะเร็ง จึงร่วมกันแถลงถึงความร่วมมือในการศึกษาวิจัยเพื่อค้นหาประสิทธิผลของตำรับยาว่ารักษามะเร็งได้จริงหรือไม่

 นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า การแจกสมุนไพรดังกล่าวแก่ผู้ป่วยมะเร็งที่สิ้นหวังในระยะสุดท้ายของคุณแสงชัย ทำให้ผู้ป่วยเหล่านี้มีความหวังและกำลังใจในการต่อสู้กับโรคมะเร็ง กรมแพทย์แผนไทยฯ ในฐานะกรมวิชาการ เห็นว่าอาจเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ต่อสังคม กรมฯ จึงร่วมกับสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี และคุณแสงชัย ในการร่วมมือทำวิจัยตำรับสมุนไพรดังกล่าวเพื่อให้เกิดความชัดเจน


หมอแสง.jpg


ส่วนการทดลองจะคำตอบใน 2ประเด็น คือ 1. ศึกษาประสิทธิผลเบื้องต้นต่อเซลลืมะเร๋ง ในหลอดทดลอง โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติจะเป็นผู้รับผิดชอบ 2. จะศึกษาลักษระประชาชนประเมินกลุ่มเสี่ยงของผู้ป่วยจัดแบ่งประเภทของชนิดมะเร็งที่มารับยาเพื่อบริหารจัดการให้ได้มาตรฐานต่อไป และหากผลการทดลองแล้วพบว่ามีประสิทธิผลในการพัฒนาเป็นยา ก็จะดำเนินการในขั้นต่อ

 “ ผู้ป่วยมะเร็งจะต้องตรวจวินิจฉัยจากแพทย์แผนปัจจุบันก่อน การรักษาก็ยังต้องอิงตามแพทย์แผนปัจจุบัน ส่วนแพทย์แผนไทยจะเป็นทางเลือกคู่ขนาน ซึ่งการรักษาโรคต่างๆ สามารถรักษาร่วมกันระหว่างแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนปัจจุบัน”

นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ กล่าวว่า การวิจัยจะมีทั้งหมด 2 ระยะ โดยระยะแรกใช้เวลาประมาณ 3 เดือน เสร็จสิ้นในเดือนมีนาคม

 ระยะที่ 1กรมการแพทย์แผนไทยฯ จะวิจัยในกลุ่มผู้รับยา ซึ่งมีประมาณ 5-6 พันคนต่อเดือน โดยมีความร่วมมือกับ สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมือง (สภ.อ.) ปราจีนบุรี ในการอำนวยความสะดวก เพื่อเก็บข้อมูลผู้มารับยา

โดยการศึกษาขั้นต่ำจะศึกษากับผู้ป่วยจำนวน 2 พันคน โดยพิจารณาว่าเป็นมะเร็งชนิดไหน ระยะเท่าไร และมีการตรวจสอบข้อมูลกับสถาบันมะเร็งแห่งชาติ และดูว่ารับยามานานเท่าไร ให้ผลเป็นอย่างไร ก็จะมาศึกษาตรงนี้ ส่วนกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะตรวจสอบความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ เช่น สเตียรอยด์ การปนเปื้อนของแบคทีเรีย และตรวจหาสารสำคัญของสมุนไพร

ขณะที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ จะดำเนินการวิจัยสมุนไพรว่ามีผลต่อเซลล์มะเร็งในหลอดทดลองอย่างไร มีผลต่อเซลล์มะเร็งประเภทไหน ระยะเท่าไร ส่วนการวิจัยในระยะที่สองคือ หากผลการทดลองออกมาดี ก็จะมาวิจัยต่อถึงขนาดของสมุนไพรที่ควรได้รับ และวิธีในการกินต่างๆ เพื่อให้มีความปลอดภัย คือนำไปสู่การพัฒนามาตรฐานวัตถุดิบและยาสำเร็จของตำรับต่อไป คาดว่าหากถึงขั้นนี้จะใช้เวลาประมาณ 1 ปี

สำหรับการไปเก็บข้อมูลคงไม่ไปรบกวนกระบวนการในการแจกจ่ายสมุนไพรดังกล่าว แต่จะเพิ่มการให้ความรู้ประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มารับยาที่ไม่ไปรักษากับแพทย์แผนปัจจุบัน ทั้งที่ยังคงรักษาได้ เป็นต้น

นายแสงชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาตลอด 12 ปีที่แจกยาไม่ได้มีความรู้เรื่องของการขึ้นตำรับยา แต่ต้องขอบคุณกรมการแพทย์แผนไทยฯ ที่ให้โอกาสนำตำรับสมุนไพรนี้มาวิจัยร่วม เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมามีบริษัทยาต่างประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น มาติดต่อเพื่อให้พัฒนาขาย แต่ไม่ขายให้ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายบริษัทมาจ้างผลิตแต่ไม่ทำเพราะอยากให้เป็นสมบัติของชาติในการดูแลคนไทยมากกว่า

ทั้งนี้ หากผลการทดลองใน3 เดือนแล้วปรากฏว่าไม่ได้ผลรักษาโรคมะเร็ง นายแสง กล่าวว่า ก็ยังยืนยันที่จะแจกยาสมุนไพรต่อไปเพราะทำมานานกว่า 12 ปีเชื่อว่าได้ผล แม้ที่ผ่านมาจะมีคนหายและเสียชีวิตไป ถือว่าเป็นความหวังของผู้ป่วยระยะสุดท้าย

อย่างไรก็ตามยังอยากให้รักษากับแพทย์แผนปัจจุบันก่อน เพราะในระยะแรกก็สามารถรักษาหายได้ด้วยแพทย์แผนปัจจุบัน ส่วนวันที่ 3 ธ.ค.นี้ที่จะมีการแจกสมุนไพรอาจมีคนมากถึงประมาณ 10,000 คน ซึ่งจะมีการปรับกระบวนการในการแจกสมุนไพร จากเดิมสแกนบัตรประชาชนในเวลา 02.00 น. แล้วให้คูปองมารับสมุนไพรในเวลา 10.00 น. แต่จะเปลี่ยนเป็นสแกนบัตรรับคูปองและสมุนไพรเลย ซึ่งจะมีการประเมินว่าแบบไหนจะสะดวกต่อประชาชนที่สุด

ส่วนที่ผ่านมามีผู้ป่วยมะเร็งที่รับยาไปแล้วรักษาหายนั้น นายแสงชัย ระบุว่า ไม่ได้เก็บข้อมูล แต่พบว่ามีผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งทั้งมดลูก รังไข่ และเต้านม ได้ผลดี สำหรับตัวผลิตภัณฑ์สมุนไพร มีส่วนประกอบจากน้ำมันรำข้าวที่ได้จากการสีครั้งแรก ข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ และพิลังกาสา โดยใช้ทุนของตัวเองร่วมกับการได้รับสมุนไพรมาฟรีๆ จากชาวบ้าน ส่วนกระบวนการผลิตนั้นมีห้องผลิตอยู่แล้ว

 ส่วนการขึ้นทะเบียนขึ้นทะเบียนเป็นยา นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ปัจจุบันกฎหมายมีเพียง อาหารและยา ซึ่งอาหารหรืออาหารเสริมไม่สามารถบอกสรรพคุณ แต่ยาต้องมีสรรพคุณ มีสารสำคัญ การออกฤทธิ์ ผ่านการวิจัยทดลองทั้งในหนู ในคน จนกว่าจะเป็นยา แต่สมุนไพรเป็นสารกึ่งยา ไม่ใช่ทั้งอาหารและยา จึงต้องมีกฎหมายเฉพาะในการขึ้นทะเบียน ขณะนี้กรมฯ ได้ผลักดัน พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. ... ซึ่งจะครอบคลุมเรื่องของการผลิตก รขึ้นทะเบียน ซึ่งคงไม่ต้องมีการทดลองถึงขั้นยา แต่สามารถบอกสรรพคุณได้มากกว่าอาหาร ส่วนการโฆษณาก็ต้องมีการคุ้มครองผู้บริโภค โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา

ส่วนการขึ้นทะเบียนเป็นหมอพื้นบ้านให้นายแสงชัยได้ส่งเรื่องเข้ามาขอขึ้นทะเบียนเช่นกัน โดยกรมฯ อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดและเกณฑ์ต่างๆ ซึ่งการจะเป็นหมอพื้นบ้านต้องได้รับหนังสือรับรองหมอพื้นบ้าน หรือเป็นผู้ที่มีบทบาทในการดูแลชาวบ้านในชุมชน ซึ่งอาจไม่มีใบประกอบโรคศิลปะแต่ต้องผ่านการรับรองจากกรมฯ ก่อนทั้งนี้หลักเกณฑ์คัดกรองหมอพื้นบ้าน คือ

1.มีผู้มารับบริการสม่ำเสมอต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 10 ปี พิจารณาตามความชำนาญเฉพาะของหมอพื้นบ้าน เช่น หมองู หมอกวาดยาเด็ก หมอกระดูก ซึ่งความรู้จะไม่ได้ครอบคลุมแบบแพทย์แผนไทยที่ดูแลได้ทุกส่วนของร่างกาย

2.สืบทอดความรู้จากบรรพบุรุษหรือท้องถิ่น

3.มีความสามารถในการบำบัดรักษาโรค

4.ไม่หวงวิชา

5.มีการถ่ายทอดความรู้

6.ไม่เรียกร้องค่ารักษามากเกินควร

7.เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับจากคนในชุมชน

8.มีคุณธรรม