'ไมเคิล ทับส์' นายกเทศมนตรีเมืองสต็อกตัน มลรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ เผยความคืบหน้าโครงการนำร่องแจกเงินรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (Universal Basic Income หรือ UBI) ให้กลุ่มประชากรในสต็อกตันที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน โดยโครงการเริ่มต้นตั้งแต่เดือน ก.พ.2019 เป็นต้นมา เนื่องจากผลสำรวจก่อนจัดทำโครงการบ่งชี้ว่าประชากรในเมือง 'ไม่มีเงินสดสำรอง' เพื่อใช้จ่ายกรณีฉุกเฉิน เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้เงินนอกเหนือจากค่าใช้จ่ายรายเดือน ทำให้หลายคนต้องกู้ยืมเงิน และเข้าสู่วงจรหนี้สิน
โครงการนี้มีชื่อว่า Stockton Economic Empowerment Demonstration หรือ SEED ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากองค์กรไม่แสวงผลกำไรเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ Economic Security Project (ESP) และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแห่งเมืองสต็อกตัน โดยสุ่มตัวอย่างประชากรในเมืองสต็อกตัน 125 คนมาเข้าร่วมโครงการ เพื่อรับเงินรายได้พื้นฐานแบบให้เปล่า ไม่มีเงื่อนไขใดๆ เดือนละ 500 ดอลลาร์ (ราว 15,000 บาท) เป็นเวลา 18 เดือนติดต่อกัน และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และนักวิจัยประจำโครงการจะประเมินผลอยู่เป็นระยะ
การสุ่มคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการจะพิจารณาจากรายได้ต่อครัวเรือนที่ต่ำกว่าเส้นความยากจน และต้องมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งในเมืองสต็อกตัน โดยผู้ดำเนินโครงการใช้วิธีส่งจดหมายเชิญไปยังกลุ่มเป้าหมาย และผู้ที่ตอบรับเข้าร่วมโครงการอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจะต้องทำสัญญาเพื่อรับบัตรเดบิตสำหรับกดเงินสด ซึ่งผู้ดำเนินโครงการจะโอนเงินเข้าบัญชีให้เดือนละ 500 ดอลลาร์ และปรากฏว่าร้อยละ 70 ของผู้ร่วมโครงการเป็น 'ผู้หญิง' ซึ่งต้องรับผิดชอบภาระทางบ้านเป็นหลัก
รายงานความคืบหน้าโครงการฉบับแรกที่เก็บข้อมูลการใช้จ่ายเงินช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา พบว่าร้อยละ 40 ของเงินที่ได้ ถูกนำไปใช้เป็นค่าอาหาร ร้อยละ 24 เป็นค่าของใช้ ร้อยละ 11 ค่าสาธารณูปโภค ร้อยละ 9 เป็นค่าเชื้อเพลิงและซ่อมแซมยานยนต์ ส่วนที่เหลือนำไปใช้จ่ายด้านอื่นๆ เช่น ทันตกรรม เก็บออม และดูแลสมาชิกในครอบครัว
แนวคิดเรื่องการสนับสนุนเงินสดให้แก่กลุ่มคนยากจนไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายประเทศทดลองใช้แนวคิดนี้มาก่อนแล้ว กรณีของ 'ฟินแลนด์' ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องระบบรัฐสวัสดิการ มีโครงการทดลองจ่ายเงินเดือนขั้นต่ำ (basic income) แก่พลเมืองที่ว่างงาน 2,000 คน อายุตั้งแต่ 25-58 ปี เป็นเงิน 560 ยูโรต่อเดือน หรือประมาณ 21,800 บาท โดยไม่จำกัดว่าจะนำเงินไปทำอะไรบ้าง แม้คนนั้นจะได้งานแล้วก็ตาม
นักวิจัยแย้งว่าระยะเวลาที่ใช้ทดลองนั้นสั้นเกินไป เพราะโครงการทดลองเริ่มขึ้นในเดือน ม.ค.2560 และสิ้นสุดลงในเดือน ธ.ค.2561 โดยที่รัฐบาลฟินแลนด์ไม่ได้เปิดเผยผลประเมินโครงการว่าได้ผลอย่างไร แต่ผู้เกี่ยวข้องบางส่วนให้ข่าวว่า โครงการนี้ไม่ได้มีผลช่วยลดอัตราว่างงาน และรัฐบาลฟินแลนด์จะพัฒนาโครงการด้านสวัสดิการอื่นๆ ต่อไป เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมกับประชากรในประเทศให้ได้มากที่สุด
กรณีโครงการ SEED ของชาวเมืองสต็อกตัน ผู้เข้าร่วมโครงการหลายรายสะท้อนความเห็นว่า พวกเขาต้องต่อสู้กับทัศนคติของสื่อและคนในเมืองอื่นๆ ที่ไม่ได้มีฐานะยากจน ซึ่งมักจะมองว่า ผู้ที่รอรับเงินให้เปล่าเป็นพวก 'ไม่ทำงาน' และคงเอาเงินที่ได้ 'ไปซื้อยาเสพติด' ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเมืองสต็อกตันมีสถิติอาชญากรรมสูงเมื่อเทียบกับหลายเมือง และประชากรส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มยากจน-มีรายได้น้อย
อย่างไรก็ตาม ผู้ร่วมโครงการรายหนึ่งเปิดเผยว่า คนจำนวนมากในเมืองสต็อกตันทำงานมากกว่าหนึ่งกะเป็นประจำ แต่รายได้รวมนั้นเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายแบบ 'เดือนชนเดือน' เพราะค่าแรงไม่มีการปรับขึ้นมานานแล้ว สวนทางกับค่าครองชีพและสินค้าอุปโภคบริโภคที่แพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับไม่มีระบบสาธารณูปโภคที่เพียงพอต่อความต้องการของประชากร คนจำนวนหนึ่งจึงต้องซื้อรถเพื่อเดินทางในแต่ละวัน แต่รถที่มีกำลังซื้อ ก็มักจะเป็นรถเก่าที่ต้องซ่อมบำรุง
นอกจากนี้ ผู้ที่ร่วมโครงการร้อยละ 70 ต้องรับภาระดูแลสมาชิกครอบครัว ซึ่งมีตั้งแต่เด็กเล็ก ผู้พิการ และผู้สูงอายุ จึงไม่มีเงินเก็บหรือเงินสำรองสำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งสวนทางกับความเชื่อของคนอีกมากในสังคมอเมริกันที่มักจะมองว่า "คนที่ทำงานหนักจะได้รับผลตอบแทนที่ดี" อย่างไรก็ตาม ผู้จัดทำโครงการยอมรับว่ามีผู้ที่รอรับเงินอย่างเดียวโดยไม่คิดหางานทำรวมอยู่จริง แต่ก็คิดเป็นร้อยละ 2 ของผู้ร่วมโครงการทั้งหมดเท่านั้น
ผู้ร่วมโครงการหลายรายยอมรับว่า เงินให้เปล่า 500 ดอลลาร์ช่วยให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์จากรายได้เฉลี่ยแต่เดิม บางรายจึงหยุดทำงานล่วงเวลา และเลือกที่จะใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้น โดยมีการพาลูกๆ ไปทำกิจกรรมต่างๆ และได้เห็นพัฒนาการของเด็กๆ ในครอบครัว หรือบางคนก็นำเงินที่ได้เป็นค่ารถเดินทางไปเยี่ยมพ่อแม่ที่อาศัยอยู่ต่างเมือง ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ไม่อาจทำได้เมื่อพวกเขาต้องทำงานหนักล่วงเวลาอยู่เป็นประจำ
นอกจากนี้ คุณยายบางคนที่ร่วมโครงการ นำเงินส่วนนี้ไปซื้อรองเท้าและของใช้ต่างๆ ให้กับหลานของตัวเอง ซึ่งอาจมีคนมองว่านี่คือการใช้เงินกับเรื่องที่ไม่จำเป็นหรือฟุ่มเฟือย แต่การสวมใส่รองเท้าที่เหมาะสมกับการเติบโตในแต่ละช่วงวัยของเด็ก ก็คือ 'เรื่องจำเป็น' เช่นกัน ถ้าหากมองในแง่ของการส่งเสริมพัฒนาการ
'นาตาลี ฟอสเตอร์' ผู้ร่วมก่อตั้งองค์กร ESP ซึ่งให้เงินสนับสนุนโครงการ SEED มองว่า ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การทดลองครั้งนี้คุ้มค่าและประสบความสำเร็จมากที่สุด คือ 'การไว้เนื้อเชื่อใจในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์' ของผู้เข้าร่วมโครงการ เพราะสังคมอเมริกันมักจะเลือกเชื่อใจและให้โอกาสคนที่มีเงินมากกว่าคนที่ยากจน เห็นได้จากการที่คนไม่ค่อยตั้งคำถามเวลาได้ยินข่าวคนรวยใช้จ่ายเงินไปกับเรื่องต่างๆ เป็นจำนวนมหาศาล แต่ไม่ค่อยมีใครสงสัยถึงแหล่งที่มาของรายได้ หรือการจ่ายภาษีของคนรวย แต่คนมักจะตั้งคำถามอย่างมากต่อการใช้จ่ายเงินของคนที่ต้องพึ่งพิงระบบแสตมป์ปันส่วนอาหาร หรือผู้อาศัยในอาคารที่ได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐ
ฟอสเตอร์ย้ำว่า กลุ่มเป้าหมายของโครงการส่วนใหญ่อยู่ในสภาวะ 'คนทำงานที่ยากจน' (working poor) โครงการ SEED จึงเริ่มต้นขึ้นด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจ และคาดหวังว่าผู้ที่เผชิญภาวะยากจน หรือมีประสบการณ์เกี่ยวกับความยากจน ย่อมรู้ดีที่สุดว่าพวกเขาต้องการอะไร การช่วยเหลือที่ดีที่สุดและน่าจะได้ผลมากที่สุด คือ การปล่อยให้พวกเขาจัดสรรทรัพยากรที่ได้ด้วยตัวเอง ไม่ตั้งข้อจำกัดหรือเงื่อนไขในการใช้จ่ายเงินให้เปล่าที่ได้รับไป เพราะความจำเป็นในชีวิตของแต่ละคนย่อมแตกต่างกัน
ส่วนกลไกการสนับสนุนเงินให้เปล่าของโครงการ SEED จะยุติลงในระยะเวลา 18 เดือน แต่ต่อจากนั้นจะมีโครงการติดตามผล รวมถึงส่งเสริมพัฒนาการในด้านต่างๆ เบื้องต้นเชื่อว่าการทดลองโครงการนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสในชีวิตแก่ผู้เข้าร่วมโครงการได้บ้าง เพราะผู้ร่วมโครงการหลายรายใช้จ่ายเงินกับสิ่งที่จำเป็นในความเห็นของตัวเอง และเริ่มเก็บออมเงินที่ได้ เมื่อสิ้นสุดวาระโครงการ พวกเขาน่าจะมีสภาพคล่องทางเศรษฐกิจเพิ่มข้ึน
กรณีของไทยก็เคยมีการเสนอแนวคิดเรื่อง 'เงินโอน แก้จน คนขยัน' ซึ่งสนับสนุนการให้เงินสดแก่กลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อย โดย ดร.ปัณณ์ อนันอภิบุตร และคณะ จัดทำข้อมูลเรื่องนี้ตั้งแต่เดือน ส.ค.2557 และเอกสารเกี่ยวกับโครงการถูกเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) โดยมีการกล่าวถึง"ระบบภาษีที่เรียกว่า Negative Income Tax (NIT) ซึ่งเป็นการโอนเงินสดไปยังผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีเงินได้ต่ำกว่าระดับที่กำหนดไว้"
เนื้อหาในเอกสารดังกล่าวระบุข้อดีของ NIT ว่า จะทำให้รัฐสามารถระบุ 'ผู้รับประโยชน์' ได้ตรงตามเป้าหมาย ช่วยให้สามารถบรรลุเป้าหมายในการกระจายรายได้โดยไม่ส่งผลกระทบทางลบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งยังช่วยลดต้นทุนในการบริหารจัดการ และช่วยลดความยากจนในสังคมได้อย่างมีประสิทธิผล
อย่างไรก็ตาม เอกสารทิ้งท้ายไว้ว่า "เพื่อให้การแก้ไขปัญหาความยากจนเป็นไปอย่างยั่งยืน มาตรการ NIT จะต้องไม่สิ้นสุดในตัวของมาตรการเอง แต่จะต้องเชื่อมโยงไปยังมาตรการอื่นๆ ด้วย เช่น เมื่อรัฐบาลสามารถระบุตัวคนจนได้แล้ว รัฐบาลต้องจัดทำฐานข้อมูลคนจน โดยใช้เลขประจำตัวบัตรประชาชน 13 หลัก และออนไลน์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้งานได้ทันที พร้อมทั้งปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันอย่างสม่ำเสมอ
นอกจากนี้ รัฐบาลจะต้องนำฐานข้อมูลคนจนดังกล่าวไปใช้ในการช่วยคนจนอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะช่วยตัวเองได้ ควบคู่กับการช่วยเหลือในรูปแบบอื่น ได้แก่ การส่งเสริมอาชีพ การสนับสนุนเงินทุนประกอบอาชีพ การหาตลาดรองรับสินค้าและบริการ การพัฒนาทักษะและฝีมือแรงงาน การจัดหางานทั้งในภาคเอกชนและภาครัฐบาลให้แก่คนจน รวมตลอดจนการติดตามประเมินผลเพื่อดูผลสัมฤทธิ์ของการช่วยเหลือต่างๆ ซึ่งในระยะยาว มาตรการ NIT อาจเชื่อมโยงกับระบบประกันสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรา 40 (แรงงานนอกระบบ)"
ส่วนกรณี 'บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ' เป็นส่วนหนึ่งของโครงการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย และเงื่อนไขของการให้เงินสนับสนุนกลุ่มผู้ถือบัตร ยังจำกัดให้วงเงินในบัตรใช้ชำระค่าสินค้าและบริการผ่านเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ของ 'หน่วยงาน' หรือ'ร้านค้าที่กำหนด' เท่านั้น ไม่สามารถกดเป็นเงินสดได้ ทำให้โครงการนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนหรือองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการมากกว่าจะเป็นไปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และแก้ปัญหาความยากจนของประชากร
ที่มา: Business Insider/ City Lab/ The Guardian
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: