ไม่พบผลการค้นหา
'ธงชัย วนิจจะกูล' ชี้เปลี่ยนโลกได้เพราะอ่านหนังสือ 'ปิยบุตร'เผยหนังสือมีพลานุภาพทำลายล้างความคิดความเชื่อของอดีต ฟากคณะก้าวหน้าเปิดโครงการ จัด 21 หนังสือดีให้ยืมอ่าน พร้อมเปิดวงถกทุก 2 สัปดาห์

คณะก้าวหน้า เปิดตัวโครงการ 'Reading Revolution : อ่านเปลี่ยนโลก' ที่อาคารไทยซัมมิท ทาวเวอร์ โดยปิยบุตร แสงกนกกุล กล่าวเปิดงานว่า หนังสือมีนัย 2 มิติ คือในแง่เป็นวัตถุ ที่เป็นของสะสมได้ กับแง่ของเนื้อหา ที่ผู้อ่านนำไปตีความอ้างอิงหรือเกิดแรงบันดาลใจในชีวิตได้

ขณะที่สถานการณ์การเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปแต่ละยุค ทำให้คนกลับไปอ่านหนังสือเก่าได้ด้วย ถือว่าหนังสือได้เกิดใหม่อีกครั้ง หลังจากจัดพิมพ์ครั้งแรกไม่ได้รับความสมใจเท่าที่ควร อย่างผลงานของ 'จิตร ภูมิศักดิ์' ปัญญาชนนักปฏิวัติ รวมถึงผลงานของ 'สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล' นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ และหนังสือบางเล่ม ได้รับการยอมรับแพร่หลายในการตีพิมพ์ครั้งแรก หากสอดรับสถานการณ์สังคมช่วงนั้น 

ปิยบุตร ยืนยันว่า หนังสือมีพลานุภาพที่ทำลายล้างความคิดความเชื่อในอดีต เกิดเป็นความคิดใหม่หรือที่เรียกว่า 'ตาสว่าง' ได้ บางเล่มกระตุ้นให้ผู้อ่านปฏิบัติการทางสังคมเพื่อเปลี่ยนแปลงด้วย ดังนั้น การอ่านเป็นกุญแจดอกแรกที่จะเปิดเข้าไปสู่ความรู้ได้และนำปฏิบัติการทางสังคม ซึ่งคือ 'นิยามของการเปลี่ยนโลก' โดยโครงการมุ่งเน้น 3 เรื่องคือ อ่านหนังสืออะไร?, เข้าถึงการอ่านได้อย่างไรและอ่านกับใคร จึงได้คัดเลือกหนังสือจากหลากหลายสาขาทั้งของไทยและต่างประเทศทั้งสิ้น 21 เรื่องหรือปกๆ ละ 20 เล่ม จาก 12 สำนักพิมพ์ 

สำหรับโครงการนี้ใช้ระบบแบ่งปันกันอ่าน โดยยืมหนังสือได้ที่คณะก้าวหน้า อาคารไทยซัมมิท ทาวเวอร์ หากผู้ที่อยู่ต่างจังหวัดสามารถลงทะเบียนรอรับทางไปรษณีย์ ให้เวลา 1 เดือนในการอ่านแล้วคืนหนังสือ โดยโครงการมุ่งหมายเพื่อการแลกเปลี่ยนกันทั้งกับผู้อ่านด้วยกันและกับผู้เขียนด้วย ซึ่งทุกๆ 2 สัปดาห์จะมีเวทีคุยเกี่ยวกับหนังสือแต่ละเล่มด้วย 

ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บรรยาย 'อ่านเพื่ออนาคต' ผ่านระบบ Video Conference ว่า การอ่านที่สามารถเปลี่ยนโลก ต้องเริ่มจากการสร้างวัฒนธรรมการอ่านหรือทำให้การอ่านเป็นนิสัย แต่ไม่ใช่อ่านอะไรก็ได้ เพราะหนังสือบางเล่มบางประเภท อาจดีกว่าเล่มอื่นๆ ซึ่งอ่านอย่างวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ใช่การจับผิด แต่คือการคิดตามและต่อยอดหรือตั้งคำถามที่เกิดจากเนื้อหาที่อ่าน 

โดยเห็นว่า วัฒนธรรมการอ่านเป็นพื้นฐานการสร้างสังคมอุดมปัญญา เป็นการเข้าถึงความรู้และพัฒนาวุฒิภาวะทางความคิด ยกระดับวิจารณา หล่อหลอมคุณธรรมทางสังคมแบบโลกวิสัย ซึ่งวุฒิภาวะของสังคมจะเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่เพราะความปราดเปรื่องของผู้นำหรือปัญญาชนจำนวนน้อย แต่หมายถึงสังคมที่ประชาชนทั่วไปมีโอกาสและวัฒนธรรมทางปัญญาในชีวิตประจำวัน มีความสามารถในการใช้หลักฐานข้อมูลอย่างมีวิจารณญาณและมีความสามารถในการใช้อำนาจอย่างมีความรู้และปัญญาด้วย พร้อมยืนยันด้วยว่า "จินตนาการและความคิดใหม่เกิดขึ้นได้ มักมาจากหนังสือที่เราอ่าน เราเปลี่ยนโลกได้เพราะเราอ่านหนังสือ"

ธงชัย ย้ำว่า ประสบการณ์การอ่านและความสามารถในการยกระดับของแต่ละคนแตกต่างกัน ตามศักยภาพ พร้อมเสนอการ 'การอ่านด้วยสมองและหัวใจ เพื่อหัวใจและสมองของเราหรือของแต่ละคน' หรือ 'ความคิดและความชอบ' เมื่ออ่านและทำความเข้าใจได้แล้ว พยายามแสดงออก นับแต่การเขียนโน้ต, การติว การแลกเปลี่ยนหรือเล่าให้คนอื่นฟัง ซึ่งต้องผ่านการประมวลและสื่อสารด้วยภาษาของตัวเอง 

ส่วนการอ่านงานด้านประวัติศาสตร์ มีความสำคัญเพราะอดีตส่งผลต่อปัจจุบัน ขณะที่ประวัติศาสตร์กระแสหลักของไทยมีอำนาจมากว่ากระแสรอง โดยประวัติศาสตร์ไทยที่งอกกลายเป็นลัทธิชาตินิยม ที่ทำให้คนสามารถฆ่าผู้อื่นได้ สะท้อนถึงอำนาจของประวัติศาสตร์ และยืนยันว่า ประวัติศาสตร์มีหลายด้าน ขึ้นอยู่กับจุดยืนและมุมมอง